ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2568 โตเพียง 2.4% หลังเศรษฐกิจโลกเผชิญความไม่แน่นอนสูง ผสมโรงเหตุการณ์แผ่นดินไหวฉุดการบริโภค-ท่องเที่ยวซบ คาดกนง.มีมติลดดอกเบี้ยนโยบายในการประชุม 30 เม.ย.นี้
ดร.ทิม ลีฬหะพันธุ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายเศรษฐศาสตร์ ประจำประเทศไทยและเวียดนาม ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) เปิดเผยว่า ธนาคารฯ ได้ปรับลดประมาณการการเติบโตของเศรษฐกิจไทย โดยคาดว่าในปี 2568 เศรษฐกิจไทยจะเติบโต 2.4% จากเดิมที่คาดไว้ 2.8% คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโต 2.6% ในครึ่งปีแรก และเติบโต 2.2% ในครึ่งปีหลังของปีนี้
“ความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นเรื่องที่ท้าทายสำหรับธนาคารกลางทุกแห่ง เราได้ปรับลดประมาณการการเติบโตของเศรษฐกิจไทย เนื่องจากปัจจัยเรื่องความไม่แน่นอนของการค้าโลกที่เพิ่มขึ้น และผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาคการบริโภค การท่องเที่ยว และตลาดอสังหาริมทรัพย์”
ทั้งนี้ได้มีมุมมองระมัดระวังต่อภาพรวมเศรษฐกิจไทยไปจนถึงเดือนกันยายน โดยเราคาดว่าสถานการณ์จะดีขึ้นหลังจากนั้นเนื่องจากเข้าสู่ช่วงเริ่มฤดูกาลท่องเที่ยวในเดือนตุลาคม นอกจากนี้ ธนาคารได้ปรับลดคาดการณ์เงินเฟ้อทั่วไปมาอยู่ที่ 0.8% จากเดิมที่คาดไว้ที่ 1.3% โดยสาเหตุที่เงินเฟ้อจะอยู่ต่ำกว่ากรอบเป้าหมายของธปท. ที่ตั้งไว้ 1-3% ไปจนถึงไตรมาสที่ 3 ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากฐานเดิมที่อยู่ในระดับสูง ประกอบกับการฟื้นตัวอย่างช้าๆ ในภาคการบริโภค โดยเราคงคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานไว้ 0.9%
นอกจากนี้คาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% ในการประชุม 30 เมษายนนี้ หลังจากนั้นจะคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมิถุนายน และลดดอกเบี้ยอีกครั้งในไตรมาส 3 ทำให้ทั้งปีอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะอยู่ที่ 1.5% ในสิ้นปี 2568 สอดคล้องกับการปรับประมาณการเศรษฐกิจของธนาคาร อย่างไรก็ตาม กนง.อาจจะลดดอกเบี้ยน้อยกว่าที่คาด เนื่องจาก ธปท. ไม่ได้ส่งสัญญาณทิศทางดอกเบี้ยขาลงอย่างชัดเจน
“ส่วนค่าเงินบาทนั้นแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว จาก 35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ มาอยู่ที่ 33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ตามค่าเงินดอลลาร์ที่อ่อนลงทั่วโลก ประกอบกับราคาทองคำที่ยังคงทำระดับสูงอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ยังคงมองว่าค่าเงินบาทอาจจะกลับไปผันผวนอีกและอ่อนค่าลงในช่วงกลางปี เนื่องจากไตรมาส 2 เป็นช่วงนอกฤดูกาลท่องเที่ยว ประกอบกับยังมีควาไม่แน่นอนเรื่องสงครามการค้า”ดร.ทิม กล่าว