“วรภพ” โพสต์เดือด แฉ 20 ข้อพิรุธ “ขบวนการค่าไฟแพง” จี้รัฐบาล “แพทองธาร” ทบทวน สั่งชะลอลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าใหม่ หวั่นประชาชนแบกภาระยาว 25 ปี!
เมื่อวันที่ 22 เม.ย. 68 นายวรภพ วิริยะโรจน์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน โพสต์ข้อความระบุว่า…“[ เอาให้ครบ มหากาพย์ขบวนการค่าไฟแพง ที่รัฐบาลแพรทองธารเพิ่งสานต่อ ลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเพิ่มไปแล้ว เมื่อ 18 เม.ย. 69 จะทำค่าไฟแพง 25 ปี คืออะไรบ้าง ]
ถ้าให้สรุปให้สั้น
พูดให้หมด โดยย่อแต่ครบถ้วนว่า มหากาพย์ขบวนการค่าไฟแพง มีอะไรบ้าง และ ที่รองโฆษกรัฐบาล ชี้แจง เบี่ยงประเด็นอะไรไปบ้าง ก็ต้องขอไล่ตามนี้ว่า
1.โครงการรับซื้อไฟฟ้าหมุนเวียนเฟสแรก รอบ 5,200 MW ริเริ่มในรัฐบาลประยุทธ์ ปี 2565 จริง แต่มีการล็อกในระดับนโยบายว่าจะรับซื้อไฟฟ้าโดยไม่เปิดประมูล ซื้อเพิ่มอีกทั้งๆ ที่ โรงไฟฟ้าในไทยมีล้นอยู่แล้ว โรงไฟฟ้าไม่ได้เดินเครื่องเกือบครึ่งหนึ่งด้วยซ้ำ แต่ก็ยังจะซื้อไฟฟ้าเพิ่มอีก
2.และโครงการนี้ ประกาศเอกชนผู้โชคดีที่ได้รับคัดเลือก 4,852 MW ในเดือน เม.ย. 66 (จะต้องเซ็นสัญญากับเอกชน โดย กฟผ. 4,346 MW 83 ราย และ กฟภ. 506 MW) แต่โครงการเหล่านี้เพิ่งจะมาถึงเวลาที่รัฐบาล (กฟผ. / กฟภ.) ต้องลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ในสมัยรัฐบาลเพื่อไทย คือ ตั้งแต่ ต.ค. 66 เป็นต้นมา (รัฐบาลเศรษฐา) จนถึงสิ้นปี 67 กฟผ. ลงนามไปแล้ว 63 ราย คงเหลือ 20 ราย ที่ยังไม่ได้เซ็นสัญญา รอให้รัฐบาลแพรทองธารตัดสินใจ
3.ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ 25 มี.ค. 68 นายกฯ แพรทองธาร ยืนยันว่า ในสมัยรัฐบาลของนายกฯ แพรทองธาร ยังไม่มีการเซ็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเพิ่มเลยแม้แต่โครงการเดียว! แต่ไม่ได้บอกว่ากำลังจะไปเซ็นสัญญาซื้อขายไฟเพิ่ม!
4.ซึ่งวันที่ 20 เม.ย. 68 รองโฆษกยืนยันว่า นับจากสิ้นปี 67 ถึง 20 เม.ย. 68 รัฐบาล (กฟผ.) มีการลงนามสัญญาเพิ่มเติม 7 โครงการ เท่ากับว่าที่รัฐได้ลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับเอกชนไปแล้ว คือ 70 โครงการ จากทั้งหมด 83 โครงการ และข้อมูลจาก อนุกมธ. พัฒนาเศรษฐกิจ กฟภ. ยืนยันว่า หลังจากวาระไม่ไว้วางใจ กฟภ. ก็ได้เซ็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 506 MW ไปครบหมดแล้ว)
5.ข้ออ้างที่ว่าเป็นโครงการจากรัฐบาลประยุทธ์ แก้ไขอะไรไม่ได้ และรัฐบาลสั่งการ กกพ. ไม่ได้ ล้วนไม่เป็นความจริง! เพราะตามระเบียบ กกพ. ที่ประกาศรับซื้อกับเอกชน มีข้อกำหนดเงื่อนไข ข้อที่ 39 ระบุชัดเจนว่า กกพ. สงวนสิทธิยกเลิกโครงการได้ ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงนโยบาย โดยคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่นายกฯ เป็นประธาน
6.หมายความว่า อีก 13 โครงการพลังงานลมที่เหลือ ที่รัฐบาลยังไม่เซ็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้า รัฐบาล นายกรัฐมนตรี ยังคงมีอำนาจเต็มที่จะยกเลิกได้ ก่อนการลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า
7.ข้ออ้างที่ว่า ในสัญญาระบุไว้แล้วว่า ถ้าพบว่าผิดกฎหมาย รัฐสามารถยกเลิกได้ทันที ล้วนเป็นข้ออ้างที่ฟังไม่ขึ้น ในเมื่อความผิดปกติ ที่จะทำให้ค่าไฟแพง ล้วนเกิดจากการนโยบายที่ทำตามกฎระเบียบ แต่มีความผิดปกติที่จะทำให้ค่าไฟแพงขึ้น ทำไมรัฐบาล นายกฯ และ รมว.พลังงาน ถึงไม่สั่งแก้ไข ชะลอ ก่อนลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าที่จะทำให้ค่าไฟแพงขึ้น และการแก้ไขสัญญากับเอกชนจะยิ่งยากขึ้น หลังลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า
8.ที่จะทำให้ค่าไฟประชาชนแพงขึ้น เพราะราคาที่รัฐประกาศจะรับซื้อก็เป็นราคาที่กำไรดีสำหรับเอกชน แต่จะเป็นค่าไฟแพงสำหรับประชาชน (แสงอาทิตย์ 2.2 บาท/หน่วย, ลม 3.1 บาท/หน่วย) จนเอกชนสนใจและยื่นโครงการมามากกว่า 3.3 เท่าของที่รัฐบาลประกาศรับซื้อ
9.ราคาค่าไฟที่จะแพงขึ้น เพราะราคาไฟฟ้าที่รัฐประกาศรับซื้อจากเอกชนนั้นแพงเกินจริง เป็นการรับซื้อไฟฟ้าโดยไม่เปิดประมูล รับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน (Solar, Wind) ที่ราคาลดลงทุกปี แต่ในระดับนโยบายกลับกำหนดให้ราคาที่รัฐจะรับซื้อ ในช่วง 5 ปีข้างหน้า ปี 2567 – 2573 เป็นราคาเท่าเดิมตลอด คือ 2.2 บาท/หน่วย (Solar) 3.1 บาท/หน่วย (Wind) และเป็นราคาค่าไฟคงที่ตลอดอายุสัญญา 25 ปี
10.ซึ่งส่วนต่างราคาค่าไฟที่รัฐรับซื้อ เทียบกับราคาค่าไฟที่ถูกลดลงทุกปี จะทำให้ค่าไฟประชาชนแพงขึ้นปีละ 3,600 ล้านบาท หรือ 90,000 ล้านบาท! ตลอดอายุสัญญา 25 ปี โดยคำนวณเฉพาะ โครงการ Solar, Wind จำนวน 3,868 MW (ไม่รวมโครงการ Solar + Battery) ที่มีประมาณการต้นทุนที่ลดลงทุกปีชัดเจน
11.และก็มีข้อพิรุธในกระบวนการคัดเลือก ที่ต้องการจะล็อก จิ้มเลือกเอกชนผู้โชคดีได้ชัดๆ ตั้งแต่ที่กำหนดในนโยบายว่าจะไม่เปิดประมูล ดังนั้นเมื่อเอกชนสนใจขายไฟฟ้าให้จำนวนมาก เอกชนที่ได้คะแนนเทคนิคสูงที่สุดจะได้รับคัดเลือก แต่ในระเบียบรับซื้อไฟฟ้ากลับ ไม่มีประกาศหลักเกณฑ์น้ำหนักการให้คะแนนเทคนิคออกมาด้วย ทำให้สามารถใช้ดุลพินิจ จิ้มเลือกกลุ่มทุนพลังงานใดก็ได้
12.และการจิ้มเลือกก็ชัดเจนมาก เมื่อประกาศรายชื่อเอกชนผู้โชคดีที่ได้รับคัดเลือก เมื่อกลุ่มทุนพลังงานลำดับแรกที่ได้รับคัดเลือก เป็นเจ้าสัวไฟฟ้า ยื่นโครงการมา 35 โครงการ ได้รับคัดเลือกทั้ง 35 โครงการ หรือได้รับคัดเลือก 100% ของโครงการที่ยื่น ได้รับคัดเลือกไปทั้งหมด 1,980 MW หรือ 41% ของที่จะรับซื้อ ในขณะที่โดยเฉลี่ยแล้ว โครงการที่ยื่นจะได้รับคัดเลือกเพียง 45% เท่านั้น
13.การประกาศเอกชนผู้โชคดี เกิดขึ้นเดือน เม.ย. 66 ก่อนเลือกตั้งใหญ่ 1 เดือนเท่านั้น! เป็นทุนเลือกตั้งให้พรรคการเมืองไหนหรือไม่นั้น ยังไม่มีใบเสร็จที่จะยืนยันได้
14.และก่อนประกาศรายชื่อเอกชนผู้โชคดี 1 เดือน หรือ มี.ค. 66 รัฐบาลประยุทธ์ ประกาศว่าจะรับซื้อไฟฟ้าหมุนเวียนเพิ่มเติม เฟสสอง อีก 3,600 MW และกำหนดให้มีเงื่อนไขพิสดาร 2 อย่าง คือ เอกชนที่ยื่นโครงการในเฟสแรก จะได้ล็อกโควต้าให้ได้รับคัดเลือกในเฟสสองก่อนเพื่อนเลย แต่จะต้องเป็นเอกชนที่ไม่มีคดีความข้อพิพาทกับหน่วยงานรัฐอยู่ – เสมือนการขู่ปิดปากเอกชนว่า แม้ไม่ได้รับคัดเลือกในเฟสแรก ก็อย่าเพิ่งมาฟ้องรัฐ เพราะจะไม่ได้ถูกล็อกโควต้าให้ในเฟสสอง
15.แต่ก็มีเอกชนที่ยื่นพลังงานลม กล้าฟ้องศาลปกครอง จนศาลปกครองสองศาล มีคำสั่งทุเลาชั่วคราวเดือน ก.ย. 66 ระบุว่า “กระบวนการคัดเลือก ไม่โปร่งใส ไม่ยุติธรรม และจะเป็นเหตุให้ประเทศชาติเสียประโยชน์ได้”
แต่ต่อให้มีคำสั่งศาลปกครองสำหรับพลังงานลม และเปลี่ยนรัฐบาลหลังเลือกตั้ง มาเป็นพรรคเพื่อไทย รัฐบาลเศรษฐา กลับปล่อยให้ กฟผ. รัฐวิสาหกิจ เดินหน้าลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าแสงอาทิตย์ ตั้งแต่เดือน ต.ค. 66 ประมาณ 3,000 MW ทั้งๆ ที่มีกระบวนการคัดเลือกแบบเดียวกันไปเลย โดยไม่มีการสั่งให้ชะลอ หรือทบทวนอะไรทั้งนั้น จนน่าพิรุธว่า นี่คือส่วนหนึ่งของ “ดีลจัดตั้งรัฐบาลข้ามขั้ว” หรือไม่
16.และปัจจุบัน เอกชนที่ฟ้องศาลปกครองสำหรับพลังงานลม จะขอถอนฟ้องทุกคดีความแล้ว (คาดว่าเพราะสาเหตุจาก เอกชนนั้น มีคดีความค้างใน ก.ล.ต. คดีความอื่น) จนในที่สุด ก็ถึงกำหนดการที่ รัฐบาลจะต้องไปลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าที่เหลืออยู่ทั้งหมด ที่ยังไม่ได้ลงนามสัญญา (พลังงานลม รัฐบาลสามารถลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าได้ก่อน ก.ย. 69 คือ จะลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าก่อนหน้าก็ได้)

17.รัฐบาลปัจจุบัน นายกรัฐมนตรี แพรทองธาร ชินวัตร ในฐานะ ประธาน คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เป็นเพียงคนเดียวที่จะสามารถหยุดยั้ง ชะลอ หรือยกเลิก การลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าได้ เพราะเงื่อนไขในระเบียบรับซื้อไฟฟ้าระบุชัดเจนว่า มติ กพช. สามารถยกเลิกโครงการได้ ก่อนลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับเอกชน – ยืนยันว่า เมื่อเปลี่ยนรัฐบาลใหม่แล้ว รัฐบาลใหม่ย่อมสามารถ ชะลอ หรือยกเลิกโครงการได้ แต่กลับไม่ทำ ปล่อยให้การลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเกิดขึ้นไปแล้วถึง 3,000 ++ MW
18.อายุสัญญาซื้อขายไฟฟ้า คือ 25 ปี ทุกสัญญาที่รัฐลงนามซื้อขายไฟฟ้าจะผูกพันค่าไฟประชาชนไปอีก 25 ปี และจนถึงวันนี้ แม้ค่าไฟยังคงราคาเดิมที่ 4.15 บาท/หน่วย แต่ไส้ในกลับซ่อน ส่วนที่เป็นสาเหตุของค่าไฟแพงไว้ เช่น ต้นทุนพลังงานหมุนเวียนที่รัฐรับซื้อราคาแพงไว้ เช่น Adder 6 – 8 บาท/หน่วย ในอดีต จนทำให้ค่าไฟเฉลี่ยแพงขึ้น 0.17 บาท/หน่วย (หรือ 32,490 ล้านบาท/ปี) หรือ ต้นทุนโรงไฟฟ้าที่ไม่ได้เดินเครื่อง แต่ได้เงินจากเรา เพราะรัฐทำสัญญาค่าความพร้อมจ่ายให้เอกชนไปแล้ว ที่ทำให้ค่าไฟเฉลี่ยแพงขึ้น 0.34 บาท/หน่วย (หรือ 55,042 ล้านบาท/ปี)
19.จนทุกวันนี้ ประเทศไทย มีเจ้าสัวโรงไฟฟ้า ที่ขายไฟฟ้าให้คนไทย ร่ำรวยและมั่งคั่งกว่า เจ้าสัวซัมซุง ของเกาหลีใต้ ที่ขายมือถือไปทั่วโลก ไปแล้ว จากการเอื้อประโยชน์เชิงนโยบายของรัฐ มาหลายรัฐบาล และกำลังจะถูกสานต่อโดยรัฐบาลแพรทองธาร ถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลง มติ กพช. ก่อนลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า สำหรับโครงการพลังงานลมที่เหลืออยู่
20.และโครงการรับซื้อไฟฟ้าหมุนเวียน เฟสสอง รอบ 3,600 MW ก็ยังรอให้รัฐบาลแพรทองธาร ตัดสินใจว่าจะเป็นเพียงการ ชะลอโครงการ เพื่อรอให้ข่าวเงียบ แล้วถึงสานต่อเดินหน้า ซ้ำเติมค่าไฟประชาชนแพงขึ้น หรือจะยกเลิกโครงการนี้ไปเลย
จากข้อสรุป 20 ข้อนี้ มีข้อไหนที่คิดว่าเป็นเรื่องปกติบ้างไหม ทำไมเรื่องราวแปลกๆ ถึงเกิดขึ้น สานต่อกันเป็น ขบวนการค่าไฟแพงแบบนี้ ถ้าคิดว่าไม่ปกติ ขอชวนประชาชนและสื่อมวลชนช่วยกันแชร์ประเด็นนี้กัน เพื่อให้เรื่องค่าไฟกลับมาเป็นประเด็นที่สังคมสนใจ และยกเลิกการลงก่อนการลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจะเกิดขึ้น ซึ่งจะทำให้ค่าไฟประชาชนในอนาคตแพงขึ้นไปอีก และแก้ไขไม่ได้”