ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ที่ระดับ 33.57 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง” จับตาตัวเลขส่งออก-นำเข้าไทยวันนี้ -รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น -ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 33.57 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง”จากระดับปิดวันที่ผ่านมา ณ ระดับ 33.39 บาทต่อดอลลาร์ โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนวันที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) พลิกกลับมาอ่อนค่าลงต่อเนื่องทะลุโซนแนวต้าน 33.50 บาทต่อดอลลาร์ อีกครั้ง (แกว่งตัวในกรอบ 33.33-33.60 บาทต่อดอลลาร์) กดดันโดยการทยอยแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ซึ่งได้แรงหนุนจากความเชื่อมั่นในสินทรัพย์สหรัฐฯ ที่ทยอยฟื้นตัวดีขึ้น ตามความหวังว่าความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนอาจคลี่คลายลงได้บ้าง
รวมถึงความกังวลต่อประเด็นการแทรกแซงเฟดโดยฝั่งการเมืองสหรัฐฯ ที่เริ่มคลี่คลายลง ส่งผลให้บรรดาผู้เล่นในตลาดต่างเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น กดดันให้สินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven) ที่ปรับตัวขึ้นได้ดีในช่วงที่ผ่านมา เผชิญแรงขายพอสมควร ทั้ง ทองคำและเงินเยนญี่ปุ่น (JPY)
โดยเงินเยนญี่ปุ่น ได้เผชิญแรงกดดันเพิ่มเติม จนล่าสุดได้อ่อนค่าทะลุโซน 143 เยนต่อดอลลาร์ หลังรัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ ระบุว่า ทางการสหรัฐฯ ไม่ได้ต้องการพูดคุยในประเด็นเป้าหมายค่าเงินในการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับญี่ปุ่น ทำให้ผู้เล่นในตลาดคลายกังวลในประเด็นที่สหรัฐฯ อาจต้องการเห็นค่าเงินเยนญี่ปุ่นแข็งค่าขึ้น เพื่อกดดันให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลง คล้ายกับที่เคยเกิดขึ้นใน Plaza Accord 1985 ทั้งนี้ การอ่อนค่าของเงินบาทก็ถูกชะลอลงบ้าง หลังราคาทองคำสามารถทยอยรีบาวด์สูงขึ้น เนื่องจากผู้เล่นในตลาดบางส่วนต่างก็รอทยอยเข้าซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว และผู้เล่นในตลาดบางส่วนอาจมีการขายทำกำไรสถานะ Short ทองคำ
บรรยากาศในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง ท่ามกลางความหวังว่า ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนจะทยอยคลี่คลายลงได้บ้าง นอกจากนี้ แม้ว่ารายงานดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการ เดือนเมษายน จะออกมาผสมผสาน แต่โดยรวมยังคงสะท้อนภาวะขยายตัวของกิจกรรมเศรษฐกิจสหรัฐฯ อยู่ หนุนให้บรรดาหุ้นเทคฯ ใหญ่ ต่างปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง อาทิ Amazon +4.3%, Nvidia +3.9% ส่งให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาด +1.67%
ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 พุ่งขึ้น +1.78% หนุนโดยรายงานผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนที่ออกมาดีกว่าคาด อาทิ SAP +10.6% นอกจากนี้ บรรยากาศเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินโดยรวม จากความหวังว่า สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนอาจคลี่คลายลงบ้าง ก็มีส่วนหนุนตลาดหุ้นยุโรป
ในส่วนตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ โดยรวมเคลื่อนไหวในกรอบ Sideways โดยบรรยากาศเปิดรับความเสี่ยงในตลาดการเงินสหรัฐฯ ได้ช่วยหนุนให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ มีจังหวะทยอยปรับตัวสูงขึ้น เข้าใกล้โซน 4.40% อีกครั้ง ก่อนที่จะย่อตัวลงเล็กน้อยสู่ระดับ 4.36% ทั้งนี้ เราคงมุมมองเดิมว่า บอนด์ระยะยาวสหรัฐฯ นั้นมีความน่าสนใจอยู่ ในแง่ของ Risk-Reward ของผลตอบแทนรวม (Total Return) ทำให้ เราคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรใช้จังหวะที่บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้น ในการทยอยเข้าซื้อ เน้นกลยุทธ์ Buy on Dip เท่านั้น
ทางด้านตลาดค่าเงินนั้น เงินดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้น ตามภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินสหรัฐฯ และความเชื่อมั่นต่อสินทรัพย์สหรัฐฯ ที่ฟื้นตัวขึ้น นอกจากนี้ การอ่อนค่าลงต่อเนื่องของเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) จนทะลุโซน 143 เยนต่อดอลลาร์ หลังทางการสหรัฐฯ ปฏิเสธพูดคุยประเด็นเป้าหมายค่าเงินในการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับญี่ปุ่น ก็มีส่วนหนุนการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ทำให้โดยรวมเงินดอลลาร์ปรับตัวขึ้นสู่โซน 99.7 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 99.0-99.9 จุด)
ส่วนของราคาทองคำ บรรยากาศเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินโดยรวม ที่มาพร้อมกับการปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังคงกดดันให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน มิ.ย. 2025) ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง ทว่า แรงซื้อ Buy on Dip และแรงขายทำกำไรสถานะ Short ทองคำของผู้เล่นในตลาดบางส่วน ก็พอช่วยหนุนให้ราคาทองคำรีบาวด์ขึ้นบ้าง สู่ระดับแถวโซน 3,320-3,330 ดอลลาร์ต่อออนซ์
สำหรับในช่วง 24 ชั่วโมงหลังจากนี้ บรรดาผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ จากรายงานยอดคำสั่งซื้อสินค้าคงทน (Core Durable Goods Orders) เดือนมีนาคม รวมถึง รายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) พร้อมทั้งรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด เพื่อประกอบการประเมินแนวโน้มนโยบายการเงิน
ส่วนในฝั่งยุโรป ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจของเยอรมนี (IFO Business Climate) เดือนเมษายน พร้อมทั้งรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ขณะที่ในฝั่งเอเชีย ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มการค้าระหว่างประเทศของไทย จากรายงานยอดการส่งออกและนำเข้า (Exports & Imports) เดือนมีนาคม ซึ่งอาจขยายตัวได้ดีอยู่ ท่ามกลางการเร่งนำเข้าสินค้าจากประเทศคู่ค้า ก่อนเผชิญมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ
ทั้งนี้ ควรจับตาประเด็นอื่นๆ ในการแถลงข่าวดังกล่าว เนื่องจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์จะเป็นผู้แถลงในครั้งนี้ ส่วนในช่วงราว 6.30 น. ของเช้าวันศุกร์นี้ ตามเวลาประเทศไทย ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น และผู้เล่นในตลาดจะลุ้นรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน ซึ่งอาจกระทบต่อบรรยากาศในตลาดการเงินได้
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท ยังคงเคลื่อนไหวในกรอบ Sideways เพื่อรอรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม โดยเรายังคงมองว่า การอ่อนค่าของเงินบาทก็อาจถูกจำกัดแถวโซนแนวต้าน 33.70-33.80 บาทต่อดอลลาร์ ท่ามกลางแรงขายเงินดอลลาร์จากฝั่งผู้ส่งออกบางส่วน อีกทั้ง ราคาทองคำก็อาจมีจังหวะรีบาวด์สูงขึ้นบ้าง หลังจากปรับตัวลดลงต่อเนื่องในช่วงก่อนหน้า
นอกจากนี้มองว่า การรีบาวด์แข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ก็อาจเป็นไปอย่างจำกัด เนื่องจากผู้เล่นในตลาดบางส่วนก็อาจรอทยอยขายทำกำไรการรีบาวด์ขึ้นของเงินดอลลาร์บ้าง ซึ่งหากประเมินจากดัชนีเงินดอลลาร์ DXY โซน 100 จุด ก็อาจเป็นโซนแนวต้านระยะสั้น ที่ดัชนี DXY ยังผ่านไปได้ยาก ยกเว้นจะเห็นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สดใสชัดเจน (ล่าสุด รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงออกมาผสมผสาน) หรือตลาดเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงต่อเนื่อง ทำให้เงินดอลลาร์อาจพอได้รับอานิสงส์จากการอ่อนค่าลงบ้างของเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ซึ่งอาจมีโซนแนวต้านแถว 145 เยนต่อดอลลาร์ ในช่วงนี้ ขณะเดียวกัน บรรยากาศเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินโดยรวม อาจพอช่วยหนุนให้บรรดาสินทรัพย์ในฝั่งเอเชียปรับตัวขึ้นต่อได้ บรรดานักลงทุนต่างชาติก็อาจทยอยเข้าซื้อสินทรัพย์ไทยเพิ่มเติมในระยะนี้
ทั้งนี้เงินบาทก็อาจเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าบ้าง ตามโฟลว์ธุรกรรมจ่ายเงินปันผลให้กับบรรดานักลงทุนต่างชาติ รวมถึงโฟลว์ธุรกรรมซื้อเงินดอลลาร์ในช่วงเข้าใกล้ปลายเดือน ที่อาจทำให้บรรดาผู้นำเข้าบางส่วนต่างรอทยอยเข้าซื้อเงินดอลลาร์ หากเงินบาทสามารถแข็งค่าขึ้นเข้าใกล้โซนแนวรับ 33.30-33.40 บาทต่อดอลลาร์ และที่สำคัญ เรามองว่า การรีบาวด์ขึ้นของราคาทองคำล่าสุด อาจไม่ได้ยั่งยืนนัก หากตลาดการเงินเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงต่อเนื่อง ซึ่งอาจกดดันให้ ราคาทองคำยังเสี่ยงที่จะมีจังหวะย่อตัวลงอีกครั้ง และทำให้ราคาทองคำโดยรวมเข้าสู่ช่วงของการพักฐาน (Correction Phase) เพื่อรอรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม
ท่ามกลางความผันผวนในตลาดการเงินที่ยังอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะในช่วงปีหน้าที่จะเผชิญกับ Trump’s Uncertainty ทำให้เรายังคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้ มองกรอบเงินบาทในช่วง 24 ชั่วโมง คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.40-33.70 บาทต่อดอลลาร์