“ปิยสวัสดิ์” เผยการบินไทยยื่นต่อศาลล้มละลายกลางของออกจากแผนฟื้นฟู ศาลฯนัดไต่สวนคำร้อง 4 มิ.ย.นี้ ชี้กระแสเงินสดในมือ 1.24 แสนล้านบาท ตั้งเป้ารายได้ปีนี้ 1.8 แสนล้านบาท
นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟู บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยความคืบหน้าในการออกจากกระบวนการฟื้นฟูกิจการว่า บริษัทฯ ได้ยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายกลางเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจการ เมื่อวันที่ 28 เม.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งปัจจุบันคำร้องดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล โดยศาลล้มละลายกลางได้กำหนดนัดไต่สวนคำร้องในวันที่ 4 มิ.ย. นี้
ทั้งนี้หากศาลฯ ตัดสินช่วงครึ่งหลังของ มิ.ย.นี้ คณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูก็จะสิ้นสุดการทำงาน และเข้าสู่กระบวนการคืนอำนาจให้คณะกรรมการชุดใหม่ หลังจากนั้นคาดว่าจะมีการนำหุ้นเข้ากับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ในช่วงเดือน ก.ค.นี้ และกลับมาทำการซื้อขายหุ้นได้ช่วงครึ่งเดือนหลัง ก.ค.นี้ หรือต้นเดือน ส.ค.68
นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เตรียมออกจากแผนฟื้นฟู กลับมาเติบโตอย่างยั่งยืนและสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้โดยสาร นักลงทุน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน โดยฐานะทางการเงินของการบินไทยขณะนี้แข็งแกร่ง ณ สิ้นเดือน มี.ค.2568 มีกระแสเงินสดในมือรวมกว่า 1.24 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงก่อนฟื้นฟูกิจการที่มีอยู่ประมาณ 3 หมื่นล้านบาท
ขณะเดียวกัน การบินไทยและบริษัทย่อยมีสินทรัพย์รวม จำนวน 297,753 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.8% จากสิ้นปี 2567 โดยมีเงินสดรวม ตั๋วเงินฝาก เงินฝากประจำ และหุ้นกู้ ที่มีระยะเวลาครบกำหนดชำระมากกว่า 3 เดือน แต่ไม่เกิน 12 เดือน จำนวน 124,847 ล้านบาท เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญถึง 9,858 ล้านบาท ในขณะที่หนี้สินรวม ลดลง 1.9% มาอยู่ที่ 242,314 ล้านบาท ส่งผลให้ส่วนของผู้ถือหุ้น เพิ่มขึ้นถึง 21.6% มาอยู่ที่ 55,439 ล้านบาท โดยปีนี้คงเป้าหมายรายได้ถึง 1.8 แสนล้านบาท และมีจำนวนผู้โดยสารรวม 15 ล้านคน
สำหรับภาพรวมผลการดำเนินงานของการบินไทยและบริษัทย่อย ในไตรมาสที่ 1 ปี 2568 มีรายได้รวม (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) ทั้งสิ้น 51,625 ล้านบาท เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญถึง 12.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้รวม 45,955 ล้านบาท โดยมีปริมาณการผลิต (Available Seat Kilometers – ASK) เพิ่มขึ้นถึง 21.1% และปริมาณการขนส่งผู้โดยสาร (Revenue Seat Kilometers – RPK) เติบโต 20.8% โดยมีจำนวนผู้โดยสารรวม ทั้งสิ้น 4.33 ล้านคน เพิ่มขึ้น 11.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
ในด้านประสิทธิภาพการดำเนินงาน การบินไทยยังคงรักษาอัตราการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) ได้ในระดับสูงที่ 83.3% ซึ่งใกล้เคียงกับปีก่อน สะท้อนให้เห็นถึงความสามารถในการบริหารจัดการที่นั่งได้อย่างมีประสิทธิภาพ ถึงแม้ว่าบริษัทฯ และบริษัทย่อยจะมีค่าใช้จ่ายรวม (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) จำนวน 37,964 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.8%หรือ 3,084 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นผลมาจากค่าใช้จ่ายที่ผันแปรตามปริมาณการผลิตและการให้บริการที่เพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม มีการบริหารจัดการต้นทุนที่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่ต้นทุนน้ำมันเชื้อเพลิงลดลงประมาณ 1.7% จากปีก่อน ส่งผลให้บริษัทฯ ยังคงสามารถสร้างผลกำไรจากการดำเนินงานก่อนต้นทุนทางการเงิน (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) สูงถึง 13,661 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2,586 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตรากำไร (EBIT Margin) ที่น่าพอใจที่ 26.5%
สำหรับรายการด้านการเงิน บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีการรับรู้ต้นทุนทางการเงิน ตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 9 (TFRS 9) จำนวน 3,481 ล้านบาท และมีรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียวสุทธิเป็นค่าใช้จ่าย จำนวน 339 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการขาดทุนจากการด้อยค่าของสินทรัพย์และรายการที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานการรายงานทางการเงิน
อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ยังมีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ส่งผลให้ผลประกอบการโดยรวมออกมาเป็นที่น่าพอใจ โดยมีกำไรสุทธิ สำหรับไตรมาสที่ 1 ปี 2568 จำนวน 9,839 ล้านบาท และมี EBITDA หลักหักเงินสดจ่ายหนี้สินตามเงื่อนไขสัญญาเช่าเครื่องบินรวมค่าเช่าเครื่องบินจากการใช้เครื่องบินที่เกิดขึ้นจริง (Power by the Hours) จำนวน 12,728 ล้านบาท
สำหรับฝูงบินของการบินไทย ณ สิ้นไตรมาสที่ 1 ปี 2568 การบินไทยมีจำนวนเครื่องบินที่ใช้ทำการบิน ทั้งสิ้น 78 ลำ เพิ่มขึ้น 5 ลำจากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีอัตราการใช้เครื่องบินเฉลี่ย ที่ 13.7 ชั่วโมงต่อวัน โดยบริษัทฯ ยังมีแผนที่จะทยอยรับมอบเครื่องบินรุ่นใหม่ Airbus A321 Neo ภายในปีนี้ เพื่อเสริมศักยภาพฝูงบินให้มีความทันสมัยยิ่งขึ้น โดยเครื่องบินรุ่นใหม่นี้จะมาพร้อมกับระบบความบันเทิงส่วนตัวในทุกที่นั่ง และบริการ Wi-Fi ฟรีสำหรับสมาชิก Royal Orchid Plus