รมว.ยุติธรรม ย้ำชัด! ราชทัณฑ์ทำตามกฎหมาย ปมแพทย์ถูกลงโทษรักษา “ทักษิณ” ชี้ป่วยไม่วิกฤตแต่รักษาในคุกไม่ได้ก็ต้องส่งตัว! ปัดแพทยสภาบอกไม่มีหลักฐานป่วยวิกฤต!
เมื่อวันที่ 13 พ.ค.พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้กล่าวถึงกรณีที่แพทยสภามีมติลงโทษแพทย์ 3 คน ในประเด็นการรักษาตัวของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่โรงพยาบาลตำรวจ ว่า ขณะนี้ยังไม่ได้รับรายงานมติจากแพทยสภา แต่คาดว่าแพทย์ที่ถูกว่ากล่าวตักเตือนนั้นเป็นแพทย์จากโรงพยาบาลราชทัณฑ์ อย่างไรก็ตาม จะขอพิจารณารายละเอียดก่อน
ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พ.ต.อ.ทวี ชี้แจงว่า ระเบียบกรมราชทัณฑ์เป็นกฎหมายที่เพิ่งประกาศใช้ใหม่ การพิจารณากฎหมายใหม่จึงต้องพิจารณากฎหมายเก่าประกอบด้วย และยืนยันว่ากระทรวงยุติธรรมได้ดำเนินการตามกฎหมายมาโดยตลอด โดยหลักการกรณีผู้ต้องขังป่วยด้วยโรคเฉพาะทาง หากสถานพยาบาลของกรมราชทัณฑ์ไม่มีศักยภาพในการรักษา จะต้องส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลภายนอก ซึ่งโรงพยาบาลดังกล่าวจะถือเป็นสถานที่ควบคุมตัวอีกแห่งหนึ่ง เพื่อป้องกันการหลบหนีหรือการยุ่งเกี่ยวกับพยานหลักฐาน เมื่อถามว่าจะมีหน่วยงานใดรับผิดชอบหลังจากแพทยสภามีมติออกมา พ.ต.อ.ทวี ตอบว่า จะขอพิจารณารายละเอียดก่อน
เมื่อถามว่า แม้จะไม่ป่วยวิกฤต แต่หากเป็นโรคที่สถานพยาบาลราชทัณฑ์ไม่สามารถรักษาได้ ก็มีสิทธิส่งตัวไปรักษาภายนอกใช่หรือไม่ พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด มาตรา 53 บัญญัติให้รัฐต้องปฏิบัติตามและบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ซึ่งกระทรวงยุติธรรมได้ปฏิบัติตามลายลักษณ์อักษรในรัฐธรรมนูญ
เมื่อถามว่า แพทยสภาระบุว่าไม่มีหลักฐานชี้ชัดว่านายทักษิณป่วยวิกฤตจริง พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า ตนยังไม่ทราบเรื่องนี้ และแพทยสภาไม่ได้กล่าวเช่นนั้น
ต่อข้อถามว่าจะยื่นอุทธรณ์มติแพทยสภาหรือไม่ พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า กระทรวงยุติธรรมจะปฏิบัติตามกฎหมาย แต่หากใครเห็นว่ามีสิ่งที่ไม่ถูกต้องและชอบธรรม ก็มีช่องทางร้องเรียนไปยังคณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือองค์กรอิสระอื่น ๆ ทั้งนี้ พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการกฤษฎีกาคณะที่ 11 ซึ่งได้นำมาตรา 246 มาเทียบกับมาตรา 55 และเห็นว่าไม่ขัดกัน
เมื่อถามถึงกรณีที่นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ร้อง ป.ป.ช. ให้เอาผิดฐานฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ มาตรา 234 พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า นายเรืองไกรมีสิทธิยื่นร้อง แต่กระทรวงยุติธรรมได้ปฏิบัติตามกฎหมาย และ พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 ซึ่งบังคับใช้ในขณะที่ตนยังไม่ได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม บางครั้งการเคารพสิทธิเสรีภาพ หรือการเจ็บป่วย รัฐธรรมนูญให้ความคุ้มครองผู้ต้องราชทัณฑ์ เพราะถือเป็นประชาชนคนหนึ่ง