“พิชัย” สั่งแบงกรัฐลดกำไรจากการดำเนินธุรกิจ หวังนำม็ดเงินงบประมาณที่ได้ไปจัดทำโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจและมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่รับผลกระทบภาษีทรัมปื 2.0 ออมสินนำร่องปล่อยซอฟท์โลน 1 แสนล้าน
นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและคลัง เปิดเผยความคืบหน้าการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและให้ความช่วยเหลือภาคธุรกิจไทยเป็นการเร่งด่วน เพื่อรับมือกับผลกระทบนโยบาย “ทรัมป์ 2.0 ” ว่า จากการหารือสถาบันการเงิน 7 แห่ง ประกอบด้วย ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME D Bank) ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM Bank) ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ให้ทบทวนและปรับลดเป้าหมายกำไรจากการดำเนินธุรกิจลง เพื่อนำเม็ดเงินงบประมาณที่ได้ไปจัดทำโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจและมาตรการช่วยเหลือบรรเทาผลกระทบต่างๆ แก่ผู้ประกอบการ
สำหรับมาตรการสำคัญที่จะเร่งเสนอครม. พิจารณาอนุมัติ ได้แก่ โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) วงเงินรวม 100,000 ล้านบาท ซึ่งดำเนินการโดยธนาคารออมสิน โดยโครงการนี้จะมีการกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่แตกต่างจากโครงการซอฟท์โลนอื่นๆ ที่ผ่านมา เนื่องจากมีการกำหนดกลุ่มเป้าหมายผู้ประกอบการที่จะได้รับความช่วยเหลืออย่างชัดเจน 3 กลุ่มหลัก ประกอบด้วย 1. ผู้ประกอบการธุรกิจส่งออกสินค้าไปยังตลาดประเทศสหรัฐอเมริกา2. ผู้ประกอบการในธุรกิจ Supply Chain ที่เกี่ยวข้องกับภาคการส่งออก3. ผู้ประกอบการที่เป็นผู้ผลิตสินค้าที่มีการแข่งขันสูงกับสินค้านำเข้าราคาถูกจากต่างประเทศ และครอบคลุมผู้ประกอบการ SMEs ในภาพรวมด้วย
ขณะที่สถาบันการเงินของรัฐแห่งอื่นๆ ก็กำลังเตรียมออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในภาคส่วนที่ตนรับผิดชอบ เช่น ภาคเกษตรกรรม และภาคอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงการออกมาตรการลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ เพื่อให้ความช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบจากนโยบายภาษีของสหรัฐฯ ที่ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อผู้ส่งออก ธุรกิจ SMEs และธุรกิจที่อยู่ใน Supply Chain โดยมาตรการเหล่านี้ทั้งหมดอยู่ระหว่างขั้นตอนการเตรียมการนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุม ครม. เพื่อพิจารณาอนุมัติต่อไป
สำหรับภาคธุรกิจไทยต้องเผชิญกับความผันผวนและความไม่แน่นอนจากปัจจัยภายนอกที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ กลไกของสถาบันการเงินของรัฐภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง ถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยสนับสนุนนโยบายของรัฐบาล ในการขับเคลื่อนมาตรการต่างๆ เพื่อประคับประคองธุรกิจให้อยู่รอดและผ่านพ้นวิกฤติไปได้ ซึ่งจะนำไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยอย่างเข้มแข็งและยั่งยืนในระยะยาว