วันอังคาร, พฤษภาคม 20, 2025
หน้าแรกHighlight“เงินบาทพลิกอ่อนค่า”หลังดอลล่าร์แข็งค่า แรงหนุน“เฟด”ย้ำจุดยืนไม่เร่งลดดอกเบี้ย
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“เงินบาทพลิกอ่อนค่า”หลังดอลล่าร์แข็งค่า แรงหนุน“เฟด”ย้ำจุดยืนไม่เร่งลดดอกเบี้ย

เงินบาทเปิดเช้านี้ที่ระดับ 33.19 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง” หลังเงินดอลลาร์แข็งค่า แรงหนุนจากถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดงต่างย้ำจุดยืนไม่เร่งรีบลดดอกเบี้ยของเฟด จับตาธนาคารกลางจีนประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยลูกหนี้ชั้นดี

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 33.19 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง” จากระดับปิดวันที่ผ่านมา ณ ระดับ 33.05 บาทต่อดอลลาร์ โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) ทยอยอ่อนค่าลงบ้าง (แกว่งตัวในกรอบ 33.03-33.20 บาทต่อดอลลาร์) แม้จะมีจังหวะแข็งค่าขึ้นเข้าใกล้โซนแนวรับ 33.00 บาทต่อดอลลาร์ แต่เงินบาทก็พลิกกลับมาอ่อนค่าลง ตามการรีบาวด์ขึ้นของเงินดอลลาร์ ที่มาพร้อมกับการย่อตัวลงบ้างของราคาทองคำ หลังผู้เล่นในตลาดเริ่มทยอยคลายกังวลประเด็นสหรัฐฯ ถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ

ขณะเดียวกัน บรรดาเจ้าหน้าที่เฟดต่างก็ย้ำจุดยืนสนับสนุนท่าทีไม่เร่งรีบลดดอกเบี้ยของเฟด โดยเฉพาะ Raphael Bostic (Atlanta Fed) ที่ให้ความเห็นว่า เฟดควรปรับลดดอกเบี้ยลงเพียง 1 ครั้ง ในปีนี้ จนกว่าเฟดจะมั่นใจว่าสามารถคุมเงินเฟ้อได้สำเร็จ ท่ามกลางแรงกดดันด้านสูงต่อแนวโน้มเงินเฟ้อจากนโยบายการค้าของรัฐบาล Trump 2.0

บรรดาผู้เล่นในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ เริ่มทยอยกลับมาเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น หลังผู้เล่นในตลาดเริ่มคลายกังวลต่อประเด็นสหรัฐฯ ถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ ทว่า ความไม่แน่นอนของการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับบรรดาประเทศคู่ค้า ได้กลับมาเป็นประเด็นที่กดดันการปรับตัวขึ้นของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ทำให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.09%

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวขึ้นราว +0.13% โดยตลาดหุ้นยุโรปยังพอได้แรงหนุนจากรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่ที่ออกมาสดใส รวมถึงการบรรลุข้อตกลงทางการค้า การทหารและประเด็นอื่นๆ ระหว่างสหภาพยุโรป (EU) กับอังกฤษ ซึ่งเป็นการทยอยฟื้นความสัมพันธ์หลัง Brexit ทั้งนี้ ตลาดหุ้นยุโรปก็ถูกกดดันบ้าง จากประเด็นความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าของสหรัฐฯ และการปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของสหรัฐฯ โดย Moody’s

ในส่วนตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทยอยย่อตัวลงสู่ระดับ 4.46% หลังจากปรับตัวขึ้นทะลุโซน 4.50% ท่ามกลางความกังวลประเด็นสหรัฐฯ ถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือโดย Moody’s โดยแรงซื้อ Buy on Dip บอนด์ระยะยาวสหรัฐฯ ได้เป็นปัจจัยที่ช่วยชะลอการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปีสหรัฐฯ อีกทั้งผู้เล่นในตลาดต่างมองว่า ประเด็นความเสี่ยงต่อเสถียรภาพการคลังของสหรัฐฯ นั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ ทำให้ผู้เล่นในตลาดทยอยคลายกังวลต่อประเด็นสหรัฐฯ ถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือลง อนึ่ง เราคงคำแนะนำเดิมว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปีสหรัฐฯในระดับปัจจุบันถือว่ามีความน่าสนใจอยู่ และคงแนะนำว่า ควรรอจังหวะทยอยเข้าซื้อสะสมบอนด์ระยะยาวสหรัฐฯได้ (เน้น Buy on Dip) โดยเฉพาะในช่วงโซนสูงกว่า 4.50% หากบอนด์ยีลด์ 10 ปีสหรัฐฯมีจังหวะปรับตัวขึ้นทดสอบโซนดังกล่าวอีกครั้ง

ทางด้านตลาดค่าเงินนั้น เงินดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้น หลังผู้เล่นในตลาดทยอยคลายกังวลต่อประเด็นสหรัฐฯ ถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังพอได้แรงหนุนจากถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดซึ่งต่างย้ำจุดยืนไม่เร่งรีบลดดอกเบี้ยของเฟด ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) รีบาวด์ขึ้นสู่โซน 100.5 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 100.0-100.6 จุด)

ส่วนของราคาทองคำ ความเห็นของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดซึ่งต่างสนับสนุนการไม่เร่งรีบลดดอกเบี้ย กอปรกับบรรยากาศในตลาดการเงินที่เริ่มทยอยกลับมาเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น หลังผู้เล่นในตลาดทยอยคลายกังวลประเด็นสหรัฐฯ ถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ รวมถึงแรงขายทำกำไรทองคำ ได้กดดันให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน มิ.ย. 2025) ทยอยปรับตัวลง สู่ระดับ 3,222 ดอลลาร์ต่อออนซ์ โดยผู้เล่นในตลาดบางส่วนต่างก็รอทยอยเข้าซื้อทองคำ (Buy on Dip) ในจังหวะย่อตัว ทำให้การปรับตัวลงของราคาทองคำเป็นไปอย่างจำกัด

สำหรับในช่วง 24 ชั่วโมงหลังจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มนโยบายการเงินของเฟด ผ่านถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด โดยล่าสุดผู้เล่นในตลาดต่างมองว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ย 2 ครั้ง ในปี 2025 และเฟดอาจลดดอกเบี้ยเพิ่มเติมอีก 2 ครั้ง ในปี 2026

ส่วนในฝั่งเอเชีย ผู้เล่นในตลาดต่างรอลุ้นว่า ธนาคารกลางจีน (PBOC) อาจมีการประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยลูกหนี้ชั้นดี (Loan Prime Rate: LPR) ประเภท 1 ปี และ 5 ปี เพื่อช่วยประคองการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน ท่ามกลางแรงกดดันจากนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ส่วนทางฝั่งออสเตรเลีย บรรดานักวิเคราะห์ ต่างประเมินว่า ธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA) อาจปรับลดดอกเบี้ย 25bps สู่ระดับ 3.85% ตามแนวโน้มการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อ

ขณะเดียวกัน เศรษฐกิจก็เผชิญแรงกดดันด้านต่ำจากผลกระทบของนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ส่วนในช่วงราว 6.50 น. ของเช้าวันพุธที่ 21 พฤษภาคม ตามเวลาประเทศไทย ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานข้อมูลการค้า (Exports & Imports) ของญี่ปุ่น ในเดือนเมษายน ที่อาจเริ่มสะท้อนผลกระทบจากนโยบายการค้าของสหรัฐฯ และนอกเหนือจากปัจจัยข้างต้น ผู้เล่นในตลาดจะติดตามการเจรจาสันติภาพระหว่างรัสเซีย-ยูเครน รวมถึงพัฒนาการของนโยบายการค้าของสหรัฐฯ โดยเฉพาะความคืบหน้าของการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับบรรดาประเทศคู่ค้า

สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาท แกว่งตัวในกรอบ Sideways หลังผู้เล่นในตลาดต่างรอรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม อย่างไรก็ดี เรามองว่า แรงกดดันฝั่งอ่อนค่าต่อเงินบาทยังคงมีอยู่ โดยเฉพาะโฟลว์ธุรกรรมจ่ายเงินปันผลให้กับบรรดานักลงทุนต่างชาติ ขณะเดียวกัน เรายังคงเห็นแรงทยอยขายสินทรัพย์ไทยจากบรรดานักลงทุนต่างชาติ แม้ว่าแรงขายอาจมีแนวโน้มลดลงจากช่วงก่อนหน้าพอสมควร

นอกจากนี้ ในส่วนของเงินดอลลาร์นั้น ก็อาจยังพอได้แรงหนุนอยู่บ้าง หลังผู้เล่นในตลาดคลายกังวลประเด็นสหรัฐฯ ถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ ทว่า ผู้เล่นในตลาดยังคงไม่รีบร้อนปรับสถานะถือครองเงินดอลลาร์ จนกว่าจะเห็นความชัดเจนของการผลักดันร่าง Fiscal Bill จากบรรดาสมาชิกสภาผู้แทนฯ จากพรรครีพับลิกัน โดยประเด็นดังกล่าวอาจมีความชัดเจนมากขึ้น ก่อนถึงวันหยุด Memorial Day ในวันที่ 26 พฤษภาคม นอกจากนี้ เงินดอลลาร์อาจยังพอได้แรงหนุนบ้าง จากท่าทีของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดซึ่งต่างย้ำจุดยืนไม่เร่งรีบลดดอกเบี้ย

อย่างไรก็ตาม เราคงมุมมองเดิมว่า เงินบาทยังเสี่ยงเผชิญ Two-Way Volatility ขึ้นกับการเคลื่อนไหวของราคาทองคำ โดยหากราคาทองคำสามารถทยอยรีบาวด์สูงขึ้นบ้าง ก็จะช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาทในช่วงนี้ได้ (ในทางกลับกัน หากราคาทองคำปรับตัวลดลงต่อ ก็อาจยิ่งกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลง) โดยราคาทองคำอาจยังได้แรงหนุนบ้าง จากความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าของสหรัฐฯ และความไม่แน่นอนของการเจรจาสันติภาพรัสเซีย-ยูเครน รวมถึงประเด็นเสถียรภาพการคลังของสหรัฐฯ ที่อาจกลับมากดดันตลาดได้อีกครั้ง หลังรับรู้ความชัดเจนของ Fiscal Bill ล่าสุด

โดยรวมเราประเมินว่า การแข็งค่าขึ้นของเงินบาทอาจติดอยู่แถวโซนแนวรับหลัก 33.00 บาทต่อดอลลาร์ ขณะเดียวกัน เงินบาทก็ยังไม่สามารถอ่อนค่าลงชัดเจน จนทะลุโซนแนวต้านสำคัญ 33.50 บาทต่อดอลลาร์ ไปได้ง่าย โดยอาจมีโซนแนวต้านแรกแถว 33.30 บาทต่อดอลลาร์ ก่อน จนกว่าจะเห็นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาดีกว่าคาดชัดเจน รวมถึงตลาดไร้ปัจจัยเสี่ยง พร้อมเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงเพิ่มเติม ซึ่งภาพดังกล่าวควรจะเห็นการปรับตัวลดลงต่อของราคาทองคำด้วยเช่นกัน

ท่ามกลางความผันผวนในตลาดการเงินที่ยังอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะในช่วงปีหน้าที่จะเผชิญกับ Trump’s Uncertainty ทำให้เรายังคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้ มองกรอบเงินบาทในช่วง 24 ชั่วโมง คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.00-33.30 บาทต่อดอลลาร์

- Advertisment -spot_imgspot_img
- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img