“สุริยะ” เผยครม.อนุมัติแก้กฎหมายรฟม. ดึงเงินสะสมอุดหนุนรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย เตรียมผลักดันกองทุนค่าธรรมเนียมรถติด เพื่อนำเงินส่วนนี้มาซื้อคืนรถไฟฟ้า ด้านคลังติงเรื่องความคุ้มค่าและประโยชน์ที่ได้รับ
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ที่ประชุมครม.เห็นชอบการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ซึ่งการแก้ไขครั้งนี้มีเป้าหมายหลักเพื่อให้ รฟม.สามารถสนับสนุนการดำเนินการเรื่องค่าโดยสาร 20 บาทให้ทันตามเป้าหมายในเดือน ก.ย.นี้
โดยหลังจากนี้ พ.ร.บ. ดังกล่าวจะเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในวาระ 1, 2, และ 3 ตามลำดับ สอดคล้องไปกับการดำเนินการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ตั๋วร่วม ที่จะครอบคลุมเรื่องการจัดตั้งกองทุนตั๋วร่วม และนำเงินมาชดเชยส่วนต่างค่าโดยสารรถไฟฟ้า ซึ่งปัจจุบันการจัดตั้งกองทุนภายใต้ พ.ร.บ.ตั๋วร่วม มีข้อกำหนดเพียงสามารถรับบริจาคได้เท่านั้น แต่ไม่สามารถให้กู้ยืมได้ ด้วยเหตุนี้ จึงมีความจำเป็นต้องแก้ไข พ.ร.บ. ตั๋วร่วมเพื่อให้กองทุนสามารถให้กู้ยืมได้ ซึ่งเรื่องนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาวาระ 2
“การนำเงินสะสมของ รฟม. มาใช้ เดิมที รฟม. เคยสะสมเงินกำไรรถไฟฟ้าไว้ใช้เอง และจะนำเงินส่วนนี้ไปอุดหนุนนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาท โดยเรื่องนี้กระทรวงการคลังไม่อนุมัติ ซึ่งเป็นไปตามระเบียบเดิมที่กำหนดให้รายได้ของ รฟม. ต้องส่งเข้ากระทรวงการคลังทั้งหมด ดังนั้นเรื่องการใช้เงินสะสมของ รฟม. ที่มีอยู่ประมาณ 15,000 – 16,000 ล้านบาท รายได้นี้ก็ต้องถูกส่งเข้าคลังและกลายเป็นรายได้แผ่นดิน ก่อนจะนำเงินมาใช้ เรื่องนี้ต้องเป็นไปตามกระบวนการจัดสรรงบประมาณ”
โดยกลไกการใช้เงินเบื้องต้น เมื่อ รฟม.นำเงินส่งกระทรวงการคลังแล้ว กระทรวงการคลังจะนำเงินที่ รฟม. ส่งเข้าไปปล่อยกู้ให้กับกองทุนภายใต้ พ.ร.บ. ตั๋วร่วม ซึ่งกองทุนนี้จะทำหน้าที่เป็นผู้กู้ อย่างไรก็ดี กระทรวงฯ ยืนยันว่ากลไกการกู้เงินเพื่อเข้ากองทุนตั๋วร่วมนี้ จะไม่ถูกระบุเป็นหนี้ในบัญชีการเงินของ รฟม. อีกทั้งกระทรวงฯ จะเร่งผลักดันกองทุนค่าธรรมเนียมรถติด หรือ Congestion Charge เพื่อนำเงินส่วนนี้มาซื้อคืนรถไฟฟ้า และหลังจากนั้นก็ไม่จำเป็นต้องใช้เงินจาก รฟม.มาอุดหนุน
รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลแจ้งว่า กระทรวงการคลังได้ทำหนังสือประกอบการพิจารณาเรื่องร่าง พรบ. รฟม. โดยมีความเห็นในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการตาม พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังฯ ว่า ร่างพระราชบัญญัติฯ มีบทบัญญัติที่ก่อให้เกิดผลผูกผูกพัน หรือภาระทางการเงินการคลังแก่รัฐ ดังนั้น ในการพิจารณาเรื่องดังกล่าวควรคำนึงถึงประเด็นความคุ้มค่าและผลประโยชน์ เสถียรภาพและความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนความยั่งยืนทางการคลังของรัฐ เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของบทบัญญัติมาตรา 7 แห่ง พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังฯ และมีความเห็นเพิ่มเติม ดังนี้
1. ร่างพ.ร.บ. มาตรา 8 ให้ยกเลิกความในมาตรา 65 แห่ง พ.ร.บ. รฟม.และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน โดยมาตรา 65 กำหนดให้รายได้ที่ รฟม. ได้รับจากการดำเนินการในปีหนึ่งๆ ให้ตกเป็นของ รฟม. สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานและเมื่อได้หักรายจ่ายสำหรับการดำเนินงานทั้งปวง ค่าภาระต่างๆ ที่เหมาะสม ค่าบำรุงรักษา ค่าเสื่อมราคา เงินสำรองตามมาตรา 11 เงินสมทบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เงินสมทบกองทุนสงเคราะห์หรือการสงเคราะห์อื่น และเงินลงทุนตามที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเหลือเท่าใดให้นำส่งเป็นรายได้ของรัฐ
ตามระเบียบที่กระทรวงการคลังกำหนด และกำหนดให้รายจ่ายสำหรับการดำเนินงานให้รวมถึงเงินที่ รฟม. จ่ายเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินการในกรณีที่มีการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วมในบริการขนส่งสาธารณะที่เกี่ยวข้องกับการรถไฟฟ้า
ทั้งนี้ หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจ่ายและส่งเงินคืนให้เป็นไปตามที่รัฐมนตรีกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี เป็นการปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ. รฟม. เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ปัจจุบัน ลดปัญหาอุปสรรค ในการดำเนินงาน และให้ รฟม. สามารถดำเนินกิจการรถไฟฟ้าได้อย่างครบถ้วน และดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลได้
แต่อย่างไรก็ดีการกำหนดเพิ่มรายจ่ายเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินงานในกรณีที่มีการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วมในบริการขนส่งสาธารณะที่เกี่ยวข้องกับกิจการรถไฟฟ้า อาจส่งผลให้เงินรายได้ที่รัฐจะจัดเก็บรายได้ เพื่อนำมาจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีลดลง
ขณะที่รัฐมีความจำเป็นต้องใช้จ่ายเงินในการพัฒนาประเทศจำนวนมาก ส่งผลกระทบต่อฐานะทางการเงินการคลังของประเทศในอนาคต จึงจ้องพิจารณาถึงประโยชน์ที่รัฐหรือประชาชนจะได้รับ ความคุ้มค้า รวมถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นแก้การเงินการคลังของรัฐ ตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐอย่างรอบคอบ
2.ร่าง พ.ร.บ. มาตรา 7 ให้ยกเลิกความในมาตรา 18 แห่ง พ.ร.บ. รฟม.ซึ่งเป็นการเพิ่มอำนาจคณะกรรมการ รฟม. ในการออกข้อบังคับตามมาตรา 18 (6) เรื่อง การบริหารงานบุคคลการบรรจุ การแต่งตั้ง การเลื่อนขั้นเงินเดือน หรือค่าจ้าง การออกจากตำแหน่ง ถูกถอน วินัย การลงโทษของพนักงานและลูกจ้าง
รวมทั้งการกำหนดเงินเดือนและเงินอื่นๆ และมาตรา 18 (7) เรื่อง การจ่ายค่าพาหนะ เบี้ยเลี้ยงเดินทาง ค่าเช่าที่พัก ค่าล่วงเวลา เบี้ยประชุม ค่าตอบแทน และการจ่ายเงินอื่นๆ เข้าข่ายเป็นสภาพการจ้าง ที่สามารถคำนวณเป็นเงินได้เอง โดยไม่ต้องได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงการคลัง โดยการปรับปรุงดังกล่าว ยังไม่ปรากฏข้อมูลเหตุผลและความจำเป็นที่ชัดเจน รวมทั้ง ผลกระทบต่อค่าใช้จ่ายรวมของ รฟม. อย่างไร
ขณะที่ปัจจุบันรายได้ของ รฟม. ยังคงไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายและยังต้องได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาล ดังนั้น เห็นสมควรให้มีการพิจารณาความเหมาะสมของการให้อำนาจแก่คณะกรรมการ รฟม. ในเรื่องดังกล่าว ในขั้นตอนการพิจารณาร่างพ.ร.บ. ลำดับถัดไปด้วย และหากกรณีที่ให้อำนาจแก่คณะกรรมการ รฟม. ในเรื่องดังกล่าว
คณะกรรมการ รฟม. พึงต้องพิจารณาโดยนำหลักการและแนวทางการนำเสนอข้อมูล ประกอบการพิจารณาเรื่อง สภาพการจ้างที่เกี่ยวกับการเงินของรัฐวิสาหกิจตามหลักเกณฑ์เพื่อใช้ในการพิจารณา กำหนดค่าตอบแทน ระบบแรงจูงใจ และสวัสดิการต่างๆ ของรัฐวิสาหกิจในภาพรวมของคณะกรรมการแรงงาน รัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (ครรส.)
หลักการในการกำหนดสิทธิประโยชน์ขั้นพื้นฐานของพนักงานรัฐวิสาหกิจเท่าที่จำเป็น ตามมติครม. เมื่อวันที่ 3 พ.ย. 2558 เรื่อง การปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ และประกาศ ครรส. ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องที่เป็นมาตรฐานชั้นต่ำของสภาพการจ้างของพนักงานรัฐวิสาหกิจ รวมถึงสถานะทางการเงิน และผลการดำเนินงานของ รฟม. มาเป็นข้อมูลเทียบเคียงเพื่อประกอบการพิจารณา
รวมทั้งให้คำนึงถึงหลักการ ในการกำหนดสิทธิประโยชน์ของพนักงานของรัฐวิสาหกิจเท่าที่จำเป็น เพื่อให้ภาระค่าใช้จ่ายด้านบุคลากร ของ รฟม. มีความเหมาะสมสอดคล้องกับสถานะทางการเงินไม่เป็นภาระงบประมาณแผ่นดินในระยะยาว และเทียบเคียงได้กับรัฐวิสาหกิจที่ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจอื่นที่มีลักษณะการดำเนินงาน ใกล้เคียงกันในสังกัดกระทรวงคมนาคมด้วย
3.ร่าง พ.ร.บ. มาตรา 9 ให้ยกเลิกความใน (3)(4)(5)(6) และ (10) ของมาตรา 75 แห่ง พ.ร.บ. รฟม. และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
(3) กู้ยืมเงินเกินกว่าห้าร้อยล้านบาท
(4) ออกพันธบัตรหรือตราสารอื่นใดเพื่อใช้ในการลงทุน หรือเพื่อประโยชน์แก่กิจการรถไฟฟ้า หรือเพื่อการดำเนินงานอื่นใดของ รฟม.
(5) จำหน่ายอสังหาริมทรัพย์อันมีมูลค่าเกินกว่าห้าร้อยล้านบาท
(6) ให้เช่าหรือให้สิทธิใดๆ ในอสังหาริมทรัพย์ซึ่งมีมูลค่าเกินกว่าห้าร้อยล้านบาท
(10) จัดหาประโยชน์ในทรัพย์สินของ รฟม. เพื่อสนับสนุน พัฒนา กิจการรถไฟฟ้า หรือเพื่อประโยชน์ในการดำเนินงานของ รฟม. ซึ่งมีมูลค่าเกินกว่าห้าร้อยล้านบาท
โดยในกรณี รับเพิ่มหรือกำหนดวงเงินในกิจกรรมที่ รฟม. ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีในเรื่องการกู้ยืมเงิน จำหน่ายอสังหาริมทรัพย์ การให้เช่าหรือให้สิทธิใด ๆ ในอสังหาริมทรัพย์ และจัดหาประโยชน์ในอสังหาริมทรัพย์ของ รฟม. ดังกล่าว ยังไม่ปรากฏข้อมูลเหตุผลและความย ความจำเป็นที่ชัดเจน ซึ่งควรมีการพิจารณาวงเงินดังกล่าว ให้เหมาะสมสำหรับแต่ละกิจกรรมและให้สอดคล้องกับลักษณะการดำเนินงานของ รฟม. โดยควรเทียบเคียงกับรัฐวิสาหกิจอื่นที่มีการดำเนินงานใกล้เคียงกันด้วย เพื่อให้เกิดความเหมาะสมกับการดำเนินงานของ รฟม. และสอดคล้องกับรัฐวิสาหกิจอื่นๆ ต่อไป