สปส.แจงการช่วยเหลือเยียวยานายจ้างและลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19
จากที่มีการนำเสนอข่าวกรณีนายกสมาคมโรงแรมไทยภาคใต้แจงธุรกิจท่องเที่ยวกว่าร้อยละ 90 ไม่สามารถเปิดกิจการได้ คาดว่าจะมีแรงงานภาคบริการที่ต้องตกงานประมาณ 50,000 – 60,000 คน บางคนรับเงินจากประกันสังคม หรือบางคนยังไม่ได้รับ หากยังไม่มีมาตรการช่วยเหลือในช่วง 1-2 เดือน เชื่อว่าจะเกิด คดีฟ้องร้อง ระหว่างลูกจ้าง กับนายจ้าง เป็นจำนวนมาก พร้อมประเมินว่าหากรัฐไม่เข้ามาช่วยเหลือผู้ประกอบการจะส่งผลต่อการเลิกจ้างงานเพิ่มขึ้น
นายทศพล กฤตวงศ์วิมาน เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ( สปส.) ชี้แจงว่า กรณียังมีผู้ที่ไม่ได้รับเงินว่างงาน ซึ่งข้อมูลการขอรับเงินว่างงาน ณ วันที่ 8 ก.ย. 2563 มีผู้ประกันตนได้รับสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานจากเหตุสุดวิสัยโควิด -19 เป็นจำนวน 938,893 คน เป็นจำนวนเงิน 14,882.718 ล้านบาท แต่ยังคงมีผู้ค้างรับอีกเป็นจำนวนกว่า 4,700 ราย อันเกิดจาก หลายสาเหตุ เช่น อยู่ระหว่างติดตามหนังสือรับรองนายจ้าง บางรายพบการใช้สิทธิตาม ม.75 ของ พรบ.คุ้มครองแรงงาน และบางรายนายจ้างมีการนำส่งเงินสมทบในเดือนที่ลูกจ้างขอรับเงินว่างงาน, กรณีขอให้เพิ่มการช่วยเหลือเยียวยานายจ้าง และลูกจ้าง ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19
สำนักงานประกันสังคมได้มีมาตรการในการให้ความช่วยเหลือเยียวยาลูกจ้าง ผู้ประกันตน ที่ถูกเลิกจ้าง ลาออก หรือสิ้นสุดสัญญาจ้าง โดยได้เพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานให้ตามกฎกระทรวงฯ 2 ฉบับ ซึ่งมีผลบังคับใช้ เมื่อวันที่ 17 เม.ย. 2563 ดังนี้
– กรณีเลิกจ้าง จากเดิมจ่ายสิทธิประโยชน์ 50% เป็น 70% ภายในระยะเวลา 180 วัน เพิ่มเป็น 200 วัน
– กรณีลาออก/สิ้นสุดสัญญาจ้าง จากเดิมจ่ายสิทธิประโยชน์ 30% เป็น 45% ภายในระยะเวลา 90 วัน
– กรณีว่างงานอันเนื่องจากเหตุสุดวิสัยอันเกิดจากการระบาดของไวรัสโคโรนา (Covid-19) จากเดิมจ่ายสิทธิประโยชน์ 50% เพิ่มเป็น 62% ภายในระยะเวลา 90 วัน
ผู้ประกันตนที่ได้ใช้สิทธิกรณีว่างงานด้วยเหตุสุดวิสัยฯ แต่ในเวลาต่อมามีการลาออก หรือเลิกจ้าง ยังสามารถยื่นขอใช้สิทธิรับเงินกรณีว่างงานได้อย่างต่อเนื่อง ตามสิทธิที่กำหนดไว้ตามกฎกระทรวง
ทั้งนี้ กรณีลูกจ้าง ผู้ประกันตน ไม่ได้รับความเป็นธรรมในการจ้างงาน สามารถร้องทุกข์ได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/จังหวัด ได้ทุกแห่ง ในวัน เวลาราชการและศูนย์บริการข้อมูล 1506 ตลอด 24 ชั่วโมง