“กรุงศรี” คาดเงินบาทซื้อขายในกรอบ 31.00-31.35 จับตาทิศทางการเมืองในประเทศ มีผลต่อตลาดการเงินระยะสั้น ท่ามกลางการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวและส่งออกมีความไม่แน่นอนสูง
กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) มีมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่า มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 31.00-31.35 บาทต่อดอลลาร์ เทียบกับระดับปิดอ่อนค่าที่ 31.18 บาทต่อดอลลาร์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิในตลาดหุ้นไทย 4.1 พันล้านบาท แต่ซื้อพันธบัตรสุทธิ 2.5 พันล้านบาท ขณะที่เงินดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินสำคัญ หลังมีแรงซื้อสินทรัพย์ปลอดภัย ท่ามกลางสัญญาณเศรษฐกิจโลกชะลอการฟื้นตัว และความไม่แน่นอนว่าสหรัฐฯ จะสามารถออกมาตรการกระตุ้นทางการคลังชุดใหม่ก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีในวันที่ 3 พ.ย. ได้หรือไม่
กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรี มองว่า นักลงทุนจะให้ความสนใจกับการโต้วาทีครั้งสุดท้ายในวันที่ 22 ต.ค. ระหว่างประธานาธิบดีทรัมป์และนายโจ ไบเดน ผู้สมัครชิงตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯ จากพรรคเดโมแครต ขณะที่ล่าสุดผลสำรวจคะแนนความนิยมของทรัมป์กระเตื้องขึ้นเพียงเล็กน้อย ส่วนปัจจัยอื่นๆ ยังคงอยู่ที่สถานการณ์ COVID-19 ในยุโรป หลังมีการบังคับใช้มาตรการควบคุมโรคระบาดที่เข้มงวดมากขึ้น รวมถึงข้อมูลเศรษฐกิจจากจีน อนึ่ง เราคาดว่าในช่วงที่ตลาดขาดประเด็นชี้นำใหม่ นักลงทุนอาจหันไปจับตาพื้นฐานด้านการคลังของสหรัฐฯ ซึ่งมีแนวโน้มขาดดุลงบประมาณมากขึ้นไม่ว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากด้านการคลังจะได้ข้อสรุปก่อนหรือหลังเลือกตั้งก็ตาม ขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ให้คำมั่นที่จะตรึงดอกเบี้ยไว้ที่ระดับต่ำเป็นระยะเวลานาน ภาวะเช่นนี้จะกดดันค่าเงินดอลลาร์ให้อ่อนลงในระยะกลางถึงยาวโดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากการคาดการณ์เงินเฟ้อปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น
สำหรับปัจจัยภายในประเทศ นักลงทุนยังคงซื้อขายสินทรัพย์สกุลเงินบาทอย่างระมัดระวัง ท่ามกลางการชุมนุมที่ยืดเยื้อ ขณะที่ตลาดจะให้ความสนใจกับแนวนโยบายการเงินในภาพใหญ่จาก ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คนใหม่ที่จะแถลงเป็นครั้งแรกในวันที่ 20 ต.ค. เช่นกัน ทั้งนี้ ธปท.ประเมินว่ายังมีความเสี่ยงหลายด้านที่จะทำให้การฟื้นตัวล่าช้าออกไป และกรณีที่สถานการณ์เปลี่ยนไปอย่างมีนัยสำคัญ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) พร้อมที่จะใช้เครื่องมือที่เหมาะสมเข้าดูแล นอกจากนี้ ทางการจะผ่อนคลายเกณฑ์เงินทุนไหลออกเพิ่มเติมเพื่อลดแรงกดดันต่อการแข็งค่าของเงินบาท เรามองว่าในระยะสั้นตลาดการเงินอาจให้น้ำหนักกับทิศทางการเมืองในประเทศและผลกระทบต่ออุปสงค์ภายในมากขึ้นในภาวะที่แนวโน้มการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวและส่งออกมีความไม่แน่นอนสูง