“เพื่อไทย”’ลั่นไม่มีเผด็จการรัฐสภา ที่มีอำนาจมาจากประชาชนอย่างถูกต้องชอบธรรม ชี้แค่วาทกรรมที่ใช้โจมตีพรรคการเมืองที่ชนะเลือกตั้งและเพื่อทำลายล้างทางการเมืองเท่านั้น
เมื่อวันที่ 19พ.ย. ผศ.ดร.อรุณี กาสยานนท์ รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก อรุณี กาสยานนท์ ระบุว่า ไม่มีเผด็จการรัฐสภา หากมีที่มาจากประชาชน
กลับมาอีกครั้ง และ เป็นที่ฮิตติดปากกันเสียจริง ๆ นะคะสำหรับคำว่า “เผด็จการรัฐสภา” ล่าสุดเมื่อมีการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนของกลุ่ม Re-Solution เสนอให้ยกเลิกอำนาจ ส.ว. ก็ถูกกล่าวหาว่าจะทำให้สภากลายเป็นเผด็จการรัฐสภา หญิงของกล่าวอย่างงี้ค่ะว่า “เผด็จการรัฐสภา” ไม่มีอยู่จริง และ สิ่งนี้เป็นเพียงวาทกรรมทางการเมืองที่ใช้ดูถูกอำนาจของประชาชนและเพื่อปกป้องอำนาจเผด็จการของตัวเองเพียงเท่านั้น
หญิงขอเริ่มจากการสำรวจคำว่า “เผด็จการรัฐสภา” ก่อนนะคะว่าเริ่มมาจากไหน เมื่อไหร่ และ ใช้กันอย่างไร ในงานศึกษาของคุณวิชญ์จำเริญ มณีแสง ปี 2560 พบว่าวาทกรรมเผด็จการรัฐสภาปรากฎครั้งแรกในข่าวหนังสือพิมพ์ประชาธิปไตย ฉบับวันที่ 15 ธันวาคม 2498 จากการปราศรัยของพรรคประชาธิปัตย์ที่จังหวัดพิษณุโลกเพื่อโจมตีรัฐบาลในขณะนั้น
การปราศรัยครั้งนั้นเป็นการส่งผ่านความหมายของคำว่า “เผด็จการรัฐสภา” ให้แก่คนไทย ทำให้คนไทยเข้าใจว่ารัฐบาลที่มีเสถียรภาพมากนั้น เกิดจากการมีเสียงข้างมากอย่างเด็ดขาดในรัฐสภา สามารถผูกขาดอำนาจได้โดยสมบูรณ์ กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ วาทกรรมนี้เป็นความพยายามที่จะผลักให้รัฐบาลเป็นรัฐบาลเผด็จการ ไม่ใช่รัฐบาลที่มีความเป็นประชาธิปไตย และ ขาดความชอบธรรมในการบริหารประเทศ
หลังจากนั้นวาทกรรมเผด็จการรัฐสภาก็กลับมาโลดแล่นอีกครั้งในเกมการเมือง และ เป็นที่โดนอกโดนใจของใครหลาย ๆ คนในช่วงที่รัฐบาลนายกฯทักษิณ ชินวัตร ได้รับเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงจากประชาชนอย่างถล่มทลาย ในปี 2548 ได้จำนวน ส.ส. ในสภามากถึง 377 ที่นั่ง ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับ 2540 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่มาจากอำนาจของประชาชนโดยแท้จริง
รัฐบาลนายกฯทักษิณ ถูกโจมตีอย่างหนักว่าเป็นเผด็จการรัฐสภาบ้าง เป็นสภาผัวเมียบ้าง เป็นระบอบทักษิณบ้างจากผู้ต่อต้าน จนนำไปสู่การบอยคอตการเลือกตั้ง เป็นชนวนเหตุให้เกิดการทำรัฐประหารรัฐบาลที่มาจากประชาชนในปี 2549 ภายหลังจากนั้นเมื่อมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชนอีกครั้ง วาทกรรมนี้ก็จะถูกหยิบยกขึ้นมาใช้อีกจนนำไปสู่การบอยคอตการเลือกตั้ง และทำรัฐประหารซ้ำอีกรอบในปี 2557 คำถามของหญิงคือว่า สภาที่มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชนจะเป็นเผด็จการได้อย่างไรเมื่อที่มาแห่งอำนาจนั้นมาจากประชาชน โดยประชาชน
ดังนั้นหญิงต้องกล่าวเลยว่า “ไม่มีเผด็จการรัฐสภา” ที่มีอำนาจมาจากประชาชนอย่างถูกต้องชอบธรรม สิ่งนี้เป็นเพียงวาทกรรมใช้โจมตีพรรคการเมืองที่ชนะเลือกตั้งเพื่อทำลายล้างความชอบธรรมทางการเมืองเท่านั้น
นอกจากวาทกรรมนี้จะถูกใช้เป็นเครื่องมือในการโจมตีทางการเมือง สิ่งหนึ่งที่หญิงคิดว่าวาทกรรมเผด็จการรัฐสภาที่ยังสามารถตราตรึงฝังใจสถิตสถาพรได้ในสังคมไทยเพราะว่า ผู้มีอำนาจหรือชนชั้นนำในสังคมไทยไม่เคยมีสำนึกของหลักประชาธิปไตยเลยต่างหาก คนเหล่านี้ไม่เคยเห็นคุณค่าของประชาชน คนเหล่านี้ไม่เคยคิดว่าประชาชนควรจะเป็นเจ้าของอำนาจ และ คนเหล่านี้มองค่าของคนไม่เท่ากัน
วาทกรรมเผด็จการรัฐสภาจึงยังคงมีอำนาจล้นเหลือในสังคมไทย และ ยังคงถูกใช้มาอย่างต่อเนื่อง ถูกใช้สร้างความชอบธรรมให้อำนาจเผด็จการทหาร ล้มล้างความชอบธรรมอำนาจของประชาชน ถึงขั้นที่กล้าจะกล่าวเปรียบเทียบได้ว่า “เผด็จการทหาร” เพื่อชาติ ยังดีกว่า “เผด็จการรัฐสภา” เพื่อตนเอง นี่คือปัจจัยหลักที่หญิงคิดว่าวาทกรรมนี้ยังคงมีพลังอยู่
กลับมามองสภาในปัจจุบัน หญิงกลับคิดว่าสภานี้ต่างหากที่ควรจะถูกโจมตีว่าเป็นเผด็จการรัฐสภา เพราะอะไร
1.สภานี้เป็นสภาที่มาจากอำนาจรัฐธรรมนูญที่ไม่ได้ยึดโยงจากอำนาจประชาชนโดยแท้จริง ทำไมหญิงถึงคิดเช่นกัน หลายคนก็อาจจะกล่าวว่า รัฐธรรมนูญไม่ยึดโยงกับประชาชนได้อย่างไรในเมื่อก็ผ่านประชามติมาแล้ว คำถามของหญิงคือว่า “ประชามติ” ที่ไล่จับผู้ที่เห็นต่าง ไล่จับผู้ที่รณรงค์คัดค้าน หรือ เอาปืนจี้หัวผู้เห็นต่างเช่นเดียวกับที่พี่ ส.ส.ทัศนีย์ บูรณปกรณ์เล่าไว้ อย่างนี้ยังกล้าเรียกว่า “ประชามติที่ยุติธรรม” ได้หรือคะ
สภาที่มี ส.ว. 250 จากการแต่งตั้งโดยคณะรัฐประหาร เพื่อมาเลือกนายกฯคนที่เคยเป็นผู้นำรัฐประหาร และ เป็นผู้นำรัฐประหารที่เลือก ส.ว.มาเองกับมือ ไม่เพียงเท่านั้น ส.ว.ที่มีอำนาจจากรัฐประหารนี้ กลับมีอำนาจล้นเหลืออย่างยิ่งจากรัฐธรรมนูญที่มาจากคณะรัฐประหารและไม่ได้ยึดโยงกับประชาชนโดยมีผลงานเด่นชัดที่สุดคือ “…พิทักษ์นายกฯ – ตีตกร่างรัฐธรรมนูญของประชาชน – พ่นวาทกรรมเพื่อรักษาอำนาจตนเอง…” อย่างงี้เรียกสภาอะไรดีคะ สภาประชาธิปไตยแบบไทย ๆ ภายใต้อำนาจเผด็จการ แบบนี้หรือเปล่า
3.สภาที่มีนายกฯที่ไม่ได้มีที่มาจากอำนาจของประชาชนอย่างแท้จริง แต่กลับมีที่มาจากอำนาจ ส.ว. 250 คนที่ตนเองตั้ง และ เป็นนายกฯที่เดิมเคยเป็นหัวหน้าคณะรัฐประหารอีกด้วย หากอ่านข้อนี้แล้วไม่เข้าใจหญิงรบกวนให้กลับไปอ่านข้อที่ 2 ของหญิงอีกรอบค่ะ เพราะอำนาจเหล่านี้มันวนเวียนอยู่แค่อำนาจของตนเองและกลุ่มก้อน ไม่ได้ยึดโยงกับประชาชนเลย เวลาอธิบายก็จะวน ๆ เพราะมีที่มาจากจุดเดียวกัน เพื่อคนกลุ่มเดียวกัน และ รักษาอำนาจพวกเดียวกัน
จาก 3 ข้อที่หญิงกล่าวขึ้นมาหญิงก็ไม่แน่ใจนะคะว่า สภานี้ควรจะถูกเรียกว่าอย่างไร จะเรียกว่าเผด็จการรัฐสภาก็ดูจะหรูเกินไป เพราะรัฐบาลที่เคยถูกโจมตีว่าเป็นเผด็จการรัฐสภานั้น เขาก็มาจากการเลือกตั้ง มีอำนาจมาจากความไว้วางใจจากประชาชน มาตามกติกาในรัฐธรรมนูญฉบับที่เป็นประชาธิปไตยมากที่สุด และมาตามครรลองประชาธิปไตยด้วยกันทั้งนั้น
ดังนั้นนะคะอย่าอ้างวาทกรรมเผด็จการรัฐสภาเพื่อดูถูกประชาชน ทั้งที่อำนาจของตนเองยังยึดโยงกับอำนาจเผด็จการ และ สุดท้ายหญิงคิดว่า ถ้าเผด็จการรัฐสภาที่มาจากอำนาจของประชาชนโดยแท้จริง ภายใต้รัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชนโดยแท้จริง หญิงก็อยากจะเห็น “เผด็จการรัฐสภา” แบบนั้นอีกครั้งค่ะ
ถ้าท่านคิดว่าประชาชนไม่ยอมรับ หรือ รังเกียจเผด็จการรัฐสภาแบบที่พวกท่านโจมตีจริง ๆ ท่านลองยอมแก้รัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชนเพื่อประชาชนจริง ๆ แล้วลองยุบสภาคืนอำนาจให้ประชาชนอีกทีสิคะ ให้ประชาชนตัดสินใจอีกครั้งว่า “เขาชอบหรือไม่ชอบ” เผด็จการรัฐสภาแบบที่ท่านโจมตี