โปรดเกล้าฯ รัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2564 ปรับจำนวนส.ส.เขตมี 400 คน – บัญชีรายชื่อ 100 คน – แก้การคำนวณส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์
เมื่อวันที่ 22 พ.ย. ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พุทธศักราช 2564 ซึ่งใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป โดยระบุเหตุผลในการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ว่า ตามที่มาตรา 83 และมาตรา 91 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ได้กำหนดสภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 500 คน มีสมาชิกซึ่งมาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งจำนวน 350 คน สมาชิกซึ่งมาจากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองจำนวน 150 คนนั้น เป็นจำนวนที่ไม่สอดคล้องต่อจำนวนประชากรในแต่ละเขตเลือกตั้ง หากมีการกำหนดให้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบแบ่งเขตฯ 400 คน ก็จะทำให้การดูแลปัญหาของประชาชนมีความใกล้ชิดและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน และการคำนวณคะแนนส.ส.แบบบัญชีรายชื่อก็มีความจำเป็นที่จะต้องมีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนและเป็นธรรมต่อพรรคการเมืองและต้องเคารพหนึ่งสิทธิหนึ่งเสียงของประชาชน การให้มีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบเพื่อให้ประชาชนมีสิทธิในการเลือกพรรคการเมืองและผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นส.ส.แบบแบ่งเขต ย่อมทำให้ประชาชนได้ใช้เจตจำนงในการเลือกตั้งที่สอดคล้องกับความเป็นจริงมากขึ้น จึงจำเป็นต้องตรารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พ.ศ.2564
ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมฉบับนี้มีสาระสำคัญที่เป็นการแก้ไขบทบัญญัติมาตรา 83, 86 และ 91 แห่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 โดยแก้ไขจำนวนส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งให้มีจำนวน 400 คน และแบบบัญชีรายชื่อ 100 คน อีกทั้งกำหนดให้การเลือกตั้งส.ส.ใช้วิธีบัตรเลือกตั้งแบบระบบเขตและแบบระบบบัญชีรายชื่อ แบบละ 1 ใบ รวมถึงมีการกำหนดจำนวนส.ส.ที่แต่ละจังหวัดจะพึงมี โดยให้ใช้จำนวนราษฎรทั้งประเทศตามหลักฐานการทะเบียนราษฎรที่ประกาศในปีสุดท้ายก่อนปีที่มีการเลือกตั้ง เฉลี่ยด้วยจำนวนส.ส. 400 คน จำนวนที่ได้รับให้ถือว่าเป็นจำนวนราษฎรต่อ ส.ส. 1 คน
นอกจากนี้ยังแก้ไขการคำนวณสัดส่วนผู้สมัครรับเลือกตั้งตามบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการเมืองที่จะได้รับเลือกตั้ง โดยให้นำคะแนนที่แต่ละพรรคการเมืองได้รับการเลือกตั้งมารวมกันทั้งประเทศ แล้วคำนวณเพื่อแบ่งจำนวนผู้ที่จะได้รับเลือกของแต่ละพรรคการเมือง เป็นสัดส่วนที่สัมพันธ์กันโดยตรงกับจำนวนคะแนนรวมข้างต้น โดยให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งซึ่งมีรายชื่อในบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการเมืองได้รับเลือกตามเกณฑ์คะแนนที่คำนวณได้เรียงตามลำดับหมายเลขในบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองนั้น