ผู้ว่ารถไฟฯ ยันเดินรถเชิงพาณิชย์-เชิงสังคมปกติ รถไฟวิ่งเข้าหัวลำโพงทุกขบวนเหมือนเดิม เตรียมแอคชั่นแพลนถกหาข้อสรุปอีกรอบภายในเดือนม.ค.นี้ แจงไม่รื้อ -ทุบ เพื่อเอื้อประโยชน์ให้เจ้าสัวแน่นอน
นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า รฟท. ยืนยันว่าจะยังเปิดให้บริการเดินรถไฟทุกขบวนเข้ามายังสถานีรถไฟหัวลำโพง ตามที่นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ได้สั่งการในที่ประชุมคณะกรรมการบริหารโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดง ให้รถไฟยังคงวิ่งเข้าหัวลำโพงทุกขบวนเป็นปกติไปก่อน
จากที่ก่อนหน้านี้ รฟท. ได้มีการประกาศว่า ในวันที่ 23 ธ.ค.นี้ จะปรับลดการเดินรถเข้าหัวลำโพงเเหลือเพียง 22 ขบวนเท่านั้น
ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนที่จะเดินทางในช่วงเทศกาลปีใหม่ 65 ได้รับความสะดวกสบาย ขณะเดียวกันในช่วงที่เดินรถปกติทาง รฟท. จะเดินหน้าเพื่อทำการเช็คลิสต์ใน 4 ด้านเพื่อเตรียมความในแนวทางการเปลี่ยนถ่ายจากสถานีหัวลำโพงไปยังสถานีกลางบางซื่อ ให้แล้วเสร็จภายใน30วัน หรือภายในเดือน ม.ค.65นี้
รวมถึงให้ รฟท. สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.) และกรมการขนส่งทางราง(ขร.) และนักวิชาการจากสถาบันการศึกษาต่าง ๆร่วมกันจัดทำแผนปฎิบัติการ หรือ แอคชั่นแพลน ให้มีความชัดเจนคำนึงประโยชน์ และฟังเสียงประชาชน รวมถึงเปิดช่องทางการรับรู้ให้กว้างขวาง แต่จะใช้เวลานานแค่ไหนขอดูรายละเอียด ข้อมูลการเช็คลิสท์อีกครั้ง
สำหรับประเด็นที่ รฟท.ต้องเช็คลิสต์ใน 4 ประเด็น ประกอบด้วย 1 ประเด็นเรื่องการปรับเปลี่ยนรถไฟทางไกล ไปใช้สถานีกลางบางซื่อ ว่ามีผลกระทบ แก่ผู้ใช้บริการ และแก้ปัญหาอย่างไร
2.ประเด็นที่เกี่ยวกับรถที่ให้บริการเชิงพาณิชย์ ที่ควรมาใช้สถานีกลางบางซื่อ เพราะในอนาคต จะเป็นจุดเชื่อมต่อ ไปยังโครงการสำคัญอื่น เช่น โครงการรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน ,ไฮสปีด ไทย-จีน รถไฟชานเมืองสายสีแดง
3 .ประเด็นรถเชิงสังคมจำนวน 40 ขบวน ว่าควรเหลือ กี่ขบวน และต้องมีการปรับเวลาเดินรถ มีระบบอื่นมาแทนอย่างไร หากหยุดเดินรถเหล่านี้ไป และ 4.ต้องทีการเร่งประชาสัมพันธ์ ให้เกิดความเข้าใจ เพราะขณะนี้วิธีประชาสัมพันธ์ุ มีประเด็นที่ความซับซ้อนมากขึ้น หลายมิติ จะต้องสร้างความรับรู้ให้ทั่วถึง
สำหรับแผนการปรับลดขบวนรถวิ่งเข้าหัวลำโพง เป็นแผนที่ รฟท. เตรียมและดำเนินการมานานแล้วหากมีการเปิดใช้สถานีกลางบางซื่อ และรถไฟชานเมืองสายสีแดง เหตุการณ์นี้ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น แต่มีตั้งแต่โครงการสายสีแดง ผ่านการพิจารณา ครม . ในปี 49
ซึ่งขณะนั้นต้องการให้สถานีกลางบางซื่อเป็นศูนย์กลางคมนาคมระบบราง จึงจำเป็นต้องมีการปรับให้ขบวนรถทางไกลมาสิ้นสุดที่บางซื่อแทน นอกจากนั้นทาง รฟท. ยังมีข้อกังวลว่าเมื่อมีการเปิดสถานีกลางบางซื่อ เป็นศูนย์กลางการเดินรถและเปิดให้บริการเดินรถที่สถานีรถไฟหัวลำโพง การบริหารต้นทุนสูง เนื่องจากในปัจจุบันนี้ รฟท.มีต้นทุนการบริหารจัดการที่สถานีกลางบางซื่อเดือนละ 40 ล้านบาท ขณะที่สถานีหัวลำโพงมีต้นทุนบริหารอีกเดือนละ 10 ล้านบาท ดังนั้นการตัดสินใจของ รฟท.จึงต้องดำเนินการให้มีความรอบคอบที่สุด
ส่วนความชัดเจนในการพัฒนาสถานีหัวลำโพงนั้นยืนยันว่าจะยังคงมีการพัฒนา และไม่มีการทุบ หรือ รื้อ เพื่อเอื้อประโยชน์ให้นายทุนหรือ “เจ้าสัว” ตามที่กระแสข่าวออกมาอย่างแน่นอน ซึ่งเรื่องนี้ยืนยันว่าไม่มีมูลความจริงและการพูดในลักษณะดังกล่าวทำให้ รฟท.เสียหาย สำหรับการดำเนินคดีฟ้องร้องกับผู้ที่ยังไม่หยุดใส่ร้ายเรื่องดังกล่าวหรือไม่นั้น จะพิจารณาในข้อกฏหมายต่อไป
ด้านการพัฒนาจะมี 2 ส่วนคือ พัฒนาด้านในอาคาร และ ด้านนอกอาคาร ซึ่งยืนยันว่าจะไม่มีการทำลายบ้านเก่าของตัวเองที่เป็นสถานที่ประวัติศาสตร์ แต่จะพัฒนาให้หัวลำโพงมีคุณค่าของสถาปัตยกรรมสูงสุด
นายนิรุฒ ยังได้กล่าวต่อถึงประเด็นผลกระทบต่อการก่อสร้างรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายจากบางซื่อ-หัวลำโพง และ หัวหมาก-หัวลำโพง หาก รฟท. ยังเดินหน้าให้บริการรถไฟเข้าหัวลำโพงทุกขบวนว่า ยอมรับว่าได้รับผลกระทบแต่ รฟท. จะบริหารจัดการให้อยู่ตามแผนงาน ตามรูปแบบ การร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน หรือ PPP
โดยรฟท. จะเสนอให้บอร์ด รฟท. พิจารณาก่อสนเสนอไปยัง กระทรวงคมนาคม และ ครม.ต่อไป ซึ่งตามแผนจะสามารถดำเนินการได้ภายในปี 65 และสามารถเริ่มหาผู้จ้างมาดำเนินการในปี 66 ส่วนการก่อสร้างคงต้องมีการประเมินพื้นที่ว่าจะปรับหรือดำเนินการอย่างไรต่อไป