สนค.เผยเงินเฟ้อธ.ค.ปรับขึ้น 2.17% หลังราคาน้ำมัน-เนื้อหมู- ผักราคาเพิ่มขึ้น คาดปี 65 แตะ 1.5% จับตาโอมิครอน
นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงสถานการณ์ราคาสินค้าและบริการ เดือนธ.ค.64 ว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค หรือ เงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้น 2.17 % (YoY) จากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกในประเทศที่สูงน้อยกว่าที่ควรจะเป็น
ขณะที่สินค้าในกลุ่มอาหารสด อาทิ ราคาผักสด ยังอยู่ในระดับสูงกว่าเดือนเดียวกันของปีก่อน เนื้อสุกรและไข่ไก่ ปรับสูงขึ้นตามต้นทุนการเลี้ยง อย่างไรก็ตาม เงินเฟ้อพื้นฐานในเดือนธันวาคม ทรงตัวที่ 0.29 % (YoY) เท่ากับเดือนก่อน ส่วนเงินเฟ้อทั่วไปเมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายน 64 ลดลง 0.38 % (MoM) ไตรมาสที่ 4 ปี 2564 เทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนสูงขึ้น 2.42 % (YoY)
สำหรับเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปี 2564 สูงขึ้น 1.23 % และเงินเฟ้อฟื้นฐานสูงขึ้น 0.23 % เงินเฟ้อดังกล่าวชี้ว่า สถานการณ์ด้านราคาสินค้าและบริการของประเทศทั้งปี 2564 ยังอยู่ในระดับที่มีเสถียรภาพเคลื่อนไหวในทิศทางปกติสอดคล้องกับปัจจัยด้านอุปทานและด้านอุปสงค์
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ว่าเงินเฟ้อในปี 2565 จะมีค่ากลางที่ 1.5 % ซึ่งเป็นอัตราที่น่าจะสอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจและช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจไทยได้อย่างเหมาะสมกันต่อไป
สำหรับแนวโน้มเงินเฟ้อทั่วไป ปี 2565 คาดว่าจะมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นในระดับที่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจทั้งด้านอุปสงค์และอุปทานตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยด้านอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศจะได้รับแรงสนับสนุนจากการท่องเที่ยว การส่งออกสินค้า การผลิต และอุปสงค์ด้านพลังงาน รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐในรูปแบบต่าง ๆ ส่งผลดีต่อรายได้และกำลังซื้อของประชาชน
สำหรับอุปทานที่ส่งผลต่อเงินเฟ้อ ได้แก่ แนวโน้มการเพิ่มขึ้นของต้นทุนการผลิต การขนส่ง เงินบาทที่อ่อนค่าลง และการขาดแคลนแรงงาน ส่งผลต่อภาคการผลิตและสินค้าในหมวดอื่น ๆ อย่างไรก็ตาม ปัจจัยและแนวโน้มเหล่านี้ยังมีความเสี่ยงและมีโอกาสผันผวน รวมถึงสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของไทยอาจจะได้รับแรงกดดันจากโควิด-19 ซึ่งจะกดดันให้เงินเฟ้อของไทยขยายตัวได้อย่างจำกัด