บอร์ดเฟทโก้นัดถกสัปดาห์หน้าค้านเก็บภาษีขายหุ้น หวั่นทำสภาพคล่องหด 20-30% นักลงทุนต่างชาติหนีเทรดในต่างประเทศ
นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย หรือ เฟทโก้ เปิดเผยว่า สัปดาห์หน้าคณะกรรมการเฟทโก้จะมีการประชุมหารือเกี่ยวกับมาตรการการจัดเก็บภาษีจากการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ (Financial Transaction tax) เพื่อหาข้อสรุปในการทำหนังสือในนามเฟทโก้ ไปยังกระทรวงการคลัง หลังจากพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการเรื่องนี้กันมาหลายรอบ พบว่าเสียงส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับมาตรการดังกล่าว
ทั้งนี้ส่วนตัวไม่เห็นด้วยเช่นกัน เนื่องจากาช่วงเวลาเก็บภาษีจากการขายหุ้นยังไม่เหมาะสม แม้จะเห็นใจรัฐบาลที่ขาดดุลงบประมาณอย่างต่อเนื่อง แต่หากมองมาตรการดังกล่าวในระยะยาวอาจกระทบต่อสภาพคล่องของตลาดทุน ถือเป็นการลดประสิทธิภาพของตลาดทุนไทยให้น้อยลง เพราะปกติแล้วสภาพคล่องคือจุดขายหลักของตลาดหุ้น
ซึ่งที่ผ่านมาตลาดหุ้นไทยก็มีสภาพคล่องโดดเด่นสุดในอาเซียน จึงไม่อยากเห็นการออกมาตรการที่จะส่งกระทบต่อสภาพคล่องและไม่เห็นด้วยที่จะออกมาในปีนี้
ทั้งนี้หากมีการเก็บภาษีจากการขายหุ้นในปีนี้จริง เบื้องต้นประเมินว่าผลกระทบโดยรวมจะส่งผลให้มูลค่าการซื้อขาย (วอลุ่ม) ตลาดหายไปราว 20-30% โดยกลุ่มนักลงทุนที่จะกระทบมากที่สุด คือ กลุ่มนักลงทุนต่างชาติ (FundFlow) เนื่องจากต้นทุนในการซื้อขายหุ้นปกติก็สูงกว่า 1 เท่าตัวของนักลงทุนในประเทศอยู่แล้ว
ดังนั้นหากมีการจัดเก็บภาษีก็จะทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้นไปอีก นักลงทุนต่างชาติก็อาจเลือกไปเทรดในตลาดอื่นที่มีต้นทุนต่ำกว่า ซึ่งจะทำให้ยอดเทรดลดลงจากปัจจุบันที่มีสัดส่วนกว่า 40% ของปริมาณการซื้อขายรวม และกลุ่มถัดไปที่โดนผลกระทบคือกลุ่มเทรดเดอร์และ Prop Trade ซึ่งทำให้ต้นทุนการเทรดเพิ่มขึ้นเช่นกัน
สำหรับตลาดหุ้นไทยในปี 65 ในระยะถัดไปยังเป็นขาขึ้น แม้จะมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน และนโบบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) เปลี่ยนแปลงไป โดยเมื่อววานนี้เฟดเปิดเผยรายงานการประชุมเดือน ธ.ค.ส่งสัญญาณว่าอาจปรับขึ้นดอกเบี้ยในเดือน มี.ค.นี้ รวมถึงการทำ Quantita tive Tightening (QT) หลังขึ้นดอกเบี้ย แต่มองเป็นปัจจัยระยะสั้น
เนื่องจากตลาดหุ้นไทยยังคง Outperform กว่าตลาดหุ้นอื่นในอาเซียน เงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำ ทำให้ปีนี้ก็ยังไม่มีความจำเป็นที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะต้องขึ้นดอกเบี้ย รวมถึงยังมีจุดขายจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังจากเปิดประเทศ จากฐานที่ต่ำในปีก่อน
ขณะที่การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนคาดว่า จะผ่านพ้นไปได้ในไม่นานนัก ประกอบกับ การฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ก็จะทำให้สามารถกลับมาเปิดประเทศได้เต็มที่ในไม่ช้า และมีแนวโน้มเศรษฐกิจดีขึ้น
อีกทั้งรัฐบาลยังมีช่องในการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม จากที่ผ่านมาก็ได้มีการดำเนินการบ้างแล้ว เช่น ช้อปดีมีคืน เป็นต้น ทำให้ตลาดหุ้นไทยยังมีอานิสงส์ไปด้วย นอกจากนี้รัฐบาลได้มีการปรับเพดานหนี้สาธารณะจาก 60% เป็น 70% ของ GDP จึงทำให้ยังสามารถกู้ได้อีก 10% ของ GDP หรือราว 1.5 ล้านล้านบาท ก็น่าจะเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สร้างแรงส่งให้เศรษฐกิจไทยในปีนี้
นอกจากนั้น ปัจจัยด้านการเมืองยังมีความเป็นไปได้ที่จะเห็นการเลือกตั้งเกิดขึ้นในช่วงปลายปี 65 ซึ่งแน่นอนว่าก่อนการเลือกตั้งก็จะมีการทำนโยบายต่างๆ เพื่อให้เศรษฐกิจปรับตัวขึ้น โดยจากในอดีตช่วง 3 เดือนก่อนเลือกตั้ง ตลาดหุ้นจะปรับตัวสูงขึ้นโดยเฉลี่ย 3-4% และหลังจากเลือกตั้ง 6 เดือนตลาดหุ้นก็ปรับขึ้นอีก 6-7% ก็จะเป็นอีกปัจจัยบวกในปีนี้หากมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น
ส่วนปัจจัยที่นักลงทุนยังเป็นกังวล ได้แก่ การปรับขึ้นดอกเบี้ยของต่างประเทศ โดยมีมุมมองว่าในช่วงที่เฟดขึ้นดอกเบี้ยก็อาจกระทบกับตลาดหุ้น เห็นได้จากการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดในอดีต 4 รอบ พบว่า 3 เดือนหลังจากนั้นหุ้นจะอยู่ในขาลง แต่ไม่ได้ลงมาก หรือลงไป 3-4% แต่หลังจากนั้นทั้งปีหรือ 12 เดือนให้หลังตลาดหุ้นก็ได้ปรับขึ้นราว 6-7%
“หากเฟดขึ้นดอกเบี้ยตามคาด ในเดือนมี.ค.65 ก็เป็นไปได้ที่ในไตรมาส 1-2 ตลาดหุ้นโลกอาจจะได้รับผลกระทบอยู่บ้าง แต่ในครึ่งปีหลังก็จะปรับตัวขึ้น หลังสะท้อนปัจจัยดังกล่าวไปแล้ว ส่วน ตลาดหุ้นไทยยังเชื่อว่า Outperform ได้ จากมีจุดขายจากเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวจากฐานที่ต่ำ จึงเป็นจุดดึงดูดของเงินทุนต่างชาติไหลเข้ามา เห็นได้จากที่ผ่านมาที่เริ่มเห็นเงินต่างชาติไหลเข้ามาแล้ว โดยเดือนธ.ค.64 อยู่ที่ระดับ 20,000 ล้านบาท และปัจจุบัน 2 วันของเดือนม.ค.65 ไหลเข้ามาแล้วเกือบ 10,000 ล้านบาท”
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มองตลาดปีนี้จะ Bullish โดยมองมีโอกาสปรับตัวขึ้นไปสูงประมาณ 1,780 จุด สอดรับกับ FETCO ที่มองว่าจะอยู่ที่ 1,800 จุด