“มงคลกิตติ์” งัดข้อกฎหมายจ้องเล่นงาน “บิ๊กป้อม-2รมต.” ช่วย “สรัลรัศมิ์” หาเสียง หลังไม่พบชื่อเป็นผู้ช่วยหาเสียง เหน็บมีที่ปรึกษากฎหมายดี ชี้ทำอะไรให้ระวัง ลั่นทุกพรรคต้องหาเสียงได้ทุกที่
วันที่ 26 ม.ค. 65 ที่รัฐสภา นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคไทยศรีวิไลย์ กล่าวถึงกรณีที่นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ และนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม ในฐานะที่ปรึกษาหัวหน้าพรรค ลงพื้นที่ช่วยนางสรัลรัศมิ์ เจนจาคะ ผู้สมัครเลือกตั้งซ่อมส.ส. กทม.เขต 9 หาเสียง พื้นที่ตลาดประชานิเวศน์ 1 เมื่อวานนี้ (25 ม.ค.) ว่า เมื่อวานนี้ตนได้เจอกับนายอนุชาและเห็นว่ามีคนมาช่วยหาเสียงกันเป็นจำนวนมาก ซึ่งมองแล้วเกิน 20 คน จึงเกรงว่าจะผิดกฎหมายเลือกตั้ง ตนจึงได้บอกนายอนุชาและนายสมศักดิ์ว่าควรจะไปลงชื่อเป็นผู้ช่วยหาเสียงด้วย เพราะเกรงว่าหากไม่ใช่ผู้ช่วยหาเสียงจะมีความผิดตามกฎหมาย เนื่องจากเกี่ยวข้องกับเรื่องรายจ่ายในการช่วยหาเสียงเลือกตั้งที่ระบุว่าต้องไม่เกิน 1,500,000 บาท เพราะหากจะมาช่วยหาเสียงและแจกโบรชัวร์จะต้องเป็นผู้ช่วยหาเสียงเท่านั้น เพราะกฎหมายกำหนดไว้ว่า ให้แต่ละพรรคการเมืองหาเสียงอย่างเท่าเทียมกันใช้เงินไม่เกินพรรคละ 1,500,000 บาทต่อ 1 เขตการเลือกตั้ง ฉะนั้นจึงมีการจำกัดไม่ให้มีผู้ช่วยหาเสียงแต่ละพรรคเกิน 20 คน และเปลี่ยนได้ไม่เกิน 3 ครั้ง
นายมงคลกิตติ์ กล่าวต่อว่า ไม่รู้ว่าวันที่พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐลงพื้นที่ช่วยหาเสียงได้แจ้งเป็นผู้ช่วยหาเสียงและแจกโบรชัวร์ให้กับประชาชนหรือไม่ แต่เห็นชูมือสัญลักษณ์เบอร์ 7 อยู่ หากแจกโบรชัวร์ต้องลงเป็นผู้ช่วยหาเสียง จึงขอเตือนไปยังพล.อ.ประวิตรและรัฐมนตรีทั้ง 2 คน เพราะหากแจ้งชื่อเป็นผู้ช่วยแล้วต้องรับเบี้ยเป็นผู้ช่วยหาเสียงด้วยวันละ 315 บาท ถ้าไม่รับก็ถือว่าผิดกฎหมาย และหากรับก็ผิดกฎหมายเช่นกัน ฉะนั้นจะเดินหน้าถอยหลังก็ขอให้ระมัดระวัง เพราะเห็นว่ามีทีมที่ปรึกษาด้านกฎหมายดีก็น่าจะรอบคอบนิดหนึ่ง อีกทั้งเวลาที่แต่ละพรรคการเมืองจัดเวทีปราศรัยตามธรรมเนียมแล้ว ประชาชนเป็นของส่วนกลาง ไม่ใช่ของพรรคใดพรรคหนึ่ง ซึ่งพรรคอื่นสามารถเข้าไปแจกโบรชัวร์ได้ เพราะหากห้ามเข้าไปในพื้นที่จะถือว่าเป็นการขัดขวางการเลือกตั้งและการหาเสียง
“พรรคพลังประชารัฐจัดเวทีปราศรัย ผู้สมัครที่เหลือก็สามารถเข้าไปพูดคุยกับประชาชนและแจกโบรชัวร์ หากบอกว่ามวลชนกลุ่มนี้ พรรคตนเองจัดมาก็ต้องรวมค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งด้วย แต่หากประชาชนมาร่วมรับฟังกันเองไม่ใช่การจัดตั้ง ก็ต้องมีอิสระให้ประชาชนสามารถร่วมฟังและพูดคุยได้ทุกเบอร์ การหาเสียงต้องสามารถไปได้ทุกที่ ไม่สามารถจำกัดได้ เพราะหากมีการจำกัดก็จะผิดพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. พ.ศ.2561 มาตรา 73(5) และมาตรา 71 ซึ่งมีความผิด” นายมงคลกิตติ์ กล่าว