วันจันทร์, พฤศจิกายน 25, 2024
spot_img
หน้าแรกNEWSจับตาโควิดกลายพันธุ์-ความเสี่ยงเศรษฐกิจฉุดรั้งเศรษฐกิจไทย 
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

จับตาโควิดกลายพันธุ์-ความเสี่ยงเศรษฐกิจฉุดรั้งเศรษฐกิจไทย 

คลังคาดจีดีพีปีเสือโต 4% หวังการบริโภค-การลงทุน-ท่องเที่ยว-ส่งออก-เบิกจ่ายภาครัฐกระตุ้นเศรษฐกิจ  จับตาโควิดกลายพันธุ์ ความเสี่ยงผันผวนเศรษฐกิจการเงินโลก
 

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในปี 65 คาดว่าจะขยายอยู่ที่ 4.0% ต่อปี ( ช่วงคาดการณ์ที่ 3.5-4.5%) โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการใช้จ่ายในประเทศที่ขยายตัว หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด เริ่มมีผลกระทบในวงจำกัด  คาดว่าการบริโภคภาคเอกชนจะขยายตัวที่ 4.5% ต่อปี  

ภาคการท่องเที่ยวที่กลับมาขยายตัวหลังจากการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศผ่านระบบเทสต์ แอนด์ โก อีกครั้ง ตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. นี้  โดยประเมินนักท่องเที่ยวต่างประเทศจะเดินทางเข้ามาในประเทศไทยจำนวน 7 ล้านคน ขณะที่การส่งออกสินค้าขยายตัวที่ 3.6% ต่อปี ตามอุปสงค์โลกที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ การดำเนินนโยบายของภาครัฐจะมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนเศรษฐกิจไทยอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2565 ภาครัฐจะมีการใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2565 วงเงิน 3.1 ล้านล้านบาท และงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจประจำปีงบประมาณ 2565 วงเงิน 3.07 แสนล้านบาท รวมทั้งพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงิน 5 แสนล้านบาท ในส่วนที่เหลือ 1.56 แสนล้านบาท  คาดว่าจะมีการเบิกจ่ายได้อย่างต่อเนื่อง

” เม็ดเงินจาก พ.ร.ก.เงินกู้ 5 แสนล้าน ที่เหลือประมาณ 1 แสนล้านบาทนั้นเพียงพอต่อการดูแลเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ในปีนี้ เนื่องจากโอมิครอนจะระบาดสูงสุดในเดือนมีนาคม จากนั้นจะค่อยลดลง และอาจจะกลายเป็นโรคประจำถิ่นตามที่กระทรวงสาธารณสุขคาดการณ์ อย่างไรก็ตาม หากงบประมาณในการดูแลไม่เพียงพอ รัฐบาลก็จะมีงบกลางที่เข้ามาสนับสนุนเพิ่มเติม”  

 สำหรับการบริโภคภาครัฐและการลงทุนภาครัฐจะขยายตัวที่ 1.2% ต่อปี และ 3.7% ต่อปี แรงสนับสนุนจากมาตรการภาครัฐ จะส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจ ความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคธุรกิจ รวมทั้งการลงทุนในประเทศปรับตัวสูงขึ้น โดยการลงทุนภาคเอกชนคาดว่าจะขยายตัวได้ที่ 5.0% ต่อปี ในด้านเสถียรภาพภายในประเทศคาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ 1.9% ซึ่งยังอยู่ภายในกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่กำหนดในระดับ 1.0-3.0% ต่อปี

ส่วนปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยที่ยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ได้แก่ 1.ความไม่แน่นอนของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทั้งสายพันธุ์ที่ระบาดในปัจจุบันและที่อาจเกิดขึ้นใหม่ในอนาคต 

2.ความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจและการเงินโลก อาทิ การส่งสัญญาณปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางในหลายประเทศ จากแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการไหลออกของเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ 

3.ตลาดแรงงานยังคงฟื้นตัวไม่เต็มที่ จึงเป็นข้อจำกัดสำหรับการจับจ่ายใช้สอยของประชาชน และความสามารถในการชำระหนี้สินของภาคครัวเรือนที่ยังคงมีความเปราะบาง 4.ปัญหาข้อจำกัดในห่วงโซ่อุปทานการผลิต เช่น การขาดแคลนอุปกรณ์เซมิคอนดักเตอร์ที่อาจยืดเยื้อ และ 5.ราคาพลังงานและน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ยังอยู่ในระดับสูง

“กระทรวงการคลังจะได้มีการติดตามและประเมินผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างใกล้ชิด และพร้อมจะดำเนินมาตรการทางการคลังและการเงินที่เหมาะสมเพื่อให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นไปอย่างต่อเนื่องและทั่วถึงในทุกภาคส่วนของเศรษฐกิจ”  

ขณะที่เศรษฐกิจไทยปี  64 คาดว่าจะขยายตัวที่ 1.2% ต่อปี (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ 0.9-1.4%) ปรับเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับประมาณการครั้งก่อน ณ เดือนต.ค.64 ที่ 1.0% ต่อปี เนื่องจากในช่วงครึ่งหลังของปี 64 ฟื้นตัวได้ดีกว่าที่คาดไว้ โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการส่งออกสินค้าและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ซึ่งมีส่วนสำคัญในการประคับประคองเศรษฐกิจไทย ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดภายในประเทศที่ปรับดีขึ้นและการเร่งกระจายวัคซีนที่มีความครอบคลุมมากขึ้น 

โดยคาดว่าการบริโภคภาคเอกชนจะขยายตัวที่ 0.2% ต่อปี และการลงทุนภาคเอกชนจะขยายตัวที่ 3.7% ต่อปี ในขณะที่มูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยคาดว่าจะขยายตัวได้ถึง 19.0% ต่อปี ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าและปัญหาห่วงโซ่อุปทานที่ทยอยคลี่คลายลง ส่วนจำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศ มี 4.2 แสนราย สูงกว่าที่ สศค.คาดการณ์ไว้

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

ว่าด้วยเรื่อง พัฒนา“พุทธมณฑล”

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img