“อนุสรณ์” เผยปัญหาความตึงเครียด “ยูเครน-รัสเซีย” บานปลาย ดันราคาน้ำมันทะลุ 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ทองคำพุ่ง 10-20%
นายอนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยว่า ราคาน้ำมันอาจแตะ 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ในไตรมาสแรกปีนี้ จากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างยูเครนกับรัสเซีย ที่อาจลุกลามเป็นสงครามและตามด้วยการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจของชาติตะวันตก ปัจจัยดังกล่าวจะดึงให้ราคาพลังงานทั่วโลกปรับตัวสูงขึ้น หากรัสเซียตอบโต้การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจของชาติตะวันตกด้วยการปิดท่อส่งก๊าซทั้งหมดที่เข้าไปในยุโรปซึ่งคิดเป็นปริมาณการใช้ 1 ใน 3 จะส่งผลให้ราคาก๊าซและพลังงานในยุโรปพุ่งสูงขึ้นทันที
อย่างไรก็ตาม ข่าวดี คือ ในอดีตรัสเซียยังไม่เคยปฏิบัติการปิดท่อส่งก๊าซส่งออกทั้งหมด เนื่องจากจะกระทบต่อเศรษฐกิจรัสเซียอย่างรุนแรงด้วย ในช่วงความขัดแย้งสูงสุดในยุคสงครามเย็น หรือช่วงวิกฤตการณ์คาบสมุทรไครเมีย เมื่อปี 2557 ก็มีการปิดท่อบางส่วนเท่านั้น
“ไม่ควรประเมินในแง่ดีว่าจะไม่เกิดขึ้น หากเกิดขึ้น จะสร้างความซับซ้อนต่อราคาพลังงานในตลาดโลกอย่างยิ่ง และน่าจะทำให้ราคาน้ำมันขึ้นไปแตะระดับ 120-130 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล หากมีการตอบโต้กันด้วยการปิดท่อส่งก๊าซทั้งหมด”
นอกจากนี้ หากมีการปิดกั้นไม่ให้รัสเซียใช้ระบบการชำระเงินระหว่างประเทศ Swift (Society for Worldwide Interbank Financial Telecommunication) อาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจของประเทศต่าง ๆ รวมทั้งไทย ที่มีธุรกรรมทางการเงินกับรัสเซียได้ ทั้งระบบการชำระเงิน ระบบแลกเปลี่ยนเงินตรา ขณะเดียวกัน ราคาทองคำอาจปรับเพิ่มอีกอย่างน้อย 10-20% จากระดับปัจจุบันในปีนี้
นักลงทุนมีแนวโน้มโยกเงินมาถือครองสินทรัพย์ที่มีความปลอดภัยสูง อย่างทองคำ และพันธบัตรมากขึ้น เมื่อมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และทยอยลดปริมาณเงิน และถอนมาตรการ QE ในตลาดการเงินโลก รวมทั้งคาดว่ามีโอกาสที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) อาจปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายมากถึง 5 ครั้งในปีนี้ มากกว่าที่ตลาดการเงินคาดการณ์ไว้เดิม โดยตลาดหุ้นไม่น่าจะมีการปรับฐานปรับตัวลงแรง เนื่องจากก่อนหน้านี้ราคาหุ้นทั่วโลกสะท้อนการคาดการณ์นี้เข้าไปในราคาแล้ว
สำหรับการฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับซาอุดิอาระเบียว่า จะส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจการส่งออกและการลงทุนของทั้งสองประเทศ รวมทั้งเป็นการเปิดโอกาสทางธุรกิจให้กับกลุ่มทุนข้ามชาติสัญชาติไทย โดยเฉพาะภาคเกษตรกรรม ภาคการก่อสร้างและภาคบริการ ทางรัฐบาลซาอุฯ ได้เปิดกว้างให้นักลงทุนไทยสามารถถือหุ้นได้ถึง 100% รวมทั้งมีมาตรการให้สิทธิพิเศษในการเช่าที่ดินระยะยาวด้วย
ขณะเดียวกัน สินค้าหลักที่ซาอุฯ มีอุปสงค์สูง ส่วนใหญ่เป็นสินค้าเกษตรและอาหาร คือ ข้าว น้ำตาลทราย อาหารทะเลกระป๋อง อาหารแปรรูป ซอสปรุงรส เครื่องดื่ม ที่เป็นโอกาสทางธุรกิจสำหรับนักลงทุนไทย รวมถึงการเปิดร้านอาหารไทย ขณะที่เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ส่งออกจากไทย โดยเฉพาะแอร์หรือเครื่องทำความเย็นก็มีความต้องการสูงเช่นกัน
นอกจากนี้การลงทุนในกิจการพลังงานและเหมืองแร่ในไทย กลุ่มทุนธุรกิจซาอุดิอาระเบียจะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยสำคัญในระยะต่อไป ที่ผ่านมา ตลอดระยะเวลา 30 ปีของการลดระดับความสัมพันธ์กัน ส่งผลให้ปริมาณการค้าและการลงทุนระหว่างกันอยู่ในระดับต่ำมาก โดยตัวเลขของปี 2564 การค้าระหว่างกันมีมูลค่ารวม 2.3 แสนล้านบาท ไทยนำเข้าสินค้าจากซาอุฯ 1.8 แสนล้านบาท ไทยส่งออก ประมาณ 50,000 ล้านบาท ถือว่าค่อนข้างต่ำ ซึ่งยังสามารถเติบโตได้อีกมากหากมีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศดีขึ้น
“คาดปีนี้ มูลค่าการค้ากับซาอุฯ น่าจะมากกว่า 3.5-4 แสนล้านบาท โดยไทยจะยังขาดดุลการค้ากับซาอุฯ จากการที่ต้องนำเข้าน้ำมันและสินค้าพลังงานเพิ่มขึ้น การเติบโตเพิ่มขึ้นทั้งปริมาณและมูลค่าของการนำเข้าและการส่งออก จะทำให้สัดส่วนมูลค่าการค้าระหว่างไทยและซาอุฯ เทียบกับมูลค่าการส่งออกทั้งหมด เพิ่มขึ้นไปสู่ระดับก่อนวิกฤติความสัมพันธ์ได้ภายในปีนี้ มูลค่าการส่งออกไปซาอุฯ ประมาณ 1,500 ล้านดอลลาร์ หรือ 0.6% ของการส่งออกทั้งหมดเมื่อปี 2564 เมื่อไทยเปิดประตูการค้ากับซาอุฯ ได้มากขึ้น จะทำให้สัดส่วนการส่งออกไปซาอุฯ เพิ่มขึ้นไปสู่ระดับมูลค่ามากกว่า 5 พันล้านดอลลาร์ได้”นายอนุสรณ์ กล่าว