ผลสำรวจสวนดุสิตโพล ระบุร้อยละ 58.08 ไม่เชื่อข่าวการทำรัฐประหาร ร้อยละ 41.79 ไม่มีโอกาสจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติ และร้อยละ 81.72 มองว่ารมว.คลังควรเป็นคนที่มีความรู้ความสามารถด้านเศรษฐกิจ
เมื่อวันที่ 13 ก.ย. สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชน จำนวน 1,517 คน ใน 3 ประเด็นหลัก ซึ่งเป็นความเคลื่อนไหวทางการเมือง พบว่า ประเด็นกระแสข่าวการทำรัฐประหารโดยร้อยละ 58.08 ไม่เชื่อ ร้อยละ 41.92 เชื่อ ส่วนประเด็นคิดว่าน่าจะเกิดรัฐประหารขึ้นได้ ร้อยละ 46.67 ประเด็นการจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติ คิดว่าไม่น่าจะมีโอกาสเกิดขึ้นได้ ร้อยละ 41.79 และประเด็นความคิดเห็นเกี่ยวกับ รมว. คลังคนใหม่ เห็นว่า ควรมีความรู้ความสามารถ ด้านเศรษฐกิจ ร้อยละ 81.72 มีความซื่อสัตย์ ร้อยละ 75.20 และเน้นทำงานเพื่อประโยชน์ของบ้านเมือง ร้อยละ 65.12
จากผลการสำรวจถึงแม้ประชาชนจะไม่เชื่อกระแสการทำรัฐประหาร แต่ก็ยังมองว่ามีโอกาสจะเกิดขึ้นได้ แสดงให้เห็นว่าประชาชนได้เรียนรู้จากอดีตที่ผ่านมาว่า เมื่อเกิดความขัดแย้งและมีความเคลื่อนไหวทางการเมืองมากขึ้น การทำรัฐประหารมักจะตามมาเสมอ ทั้งนี้ เห็นว่าการจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติยังไม่ใช่ทางออก ถึงจะช่วยลดความขัดแย้ง มีความเป็นกลาง แต่ก็อาจไม่ได้รับการยอมรับ สุดท้ายในประเด็นของ รมว.คลัง ที่ยังแขวนอยู่ในขณะนี้ ประชาชนชี้ว่า คนที่เหมาะสมนั้นต้องเก่งด้านเศรษฐกิจ ไม่ทุจริต ต้องเข้ามาทำงานแก้ปัญหาเพื่อบ้านเมืองอย่างแท้จริง
ด้าน รองศาสตราจารย์ ดร.ธนภัทร ปัจฉิมม์ คณบดีโรงเรียนกฎหมายและการเมือง มหาวิทยาลัยสวนดุสิต กล่าวว่า ผลสำรวจนี้สะท้อนให้เห็นถึงความสนใจของประชาชนที่มีต่อคุณสมบัติของขุนคลังคนใหม่มากกว่ากระแสข่าวการรัฐประหาร แม้ว่าสถานการณ์ทางการเมืองปัจจุบันจะมีความเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มต่างๆ ก็ตาม ซึ่งสาเหตุของความไม่เชื่อว่าจะเกิดการรัฐประหารขึ้นในขณะนี้ อาจเป็นเพราะสถานการณ์และตัวแปรที่จะนำไปสู่การทำรัฐประหารยังมีไม่มากพอ แต่ก็มิได้หมายความว่าจะไม่มีการรัฐประหารเกิดขึ้นในการเมืองไทย
สำหรับข้อพิจารณาเกี่ยวกับแนวคิดการจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติหรือการเสนอให้มีนายกรัฐมนตรีคนนอกนั้น ดูเสมือนจะไม่มีความเป็นไปได้เลย เพราะเมื่อพิจารณาถึงสัดส่วนทางการเมืองในเรื่องระบบรัฐสภาและเสียงข้างมากของฝ่ายรัฐบาลแล้ว จะเห็นว่ารัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังมีแต้มต่อทางการเมืองอยู่หลายขุม ทั้ง ส.ว. ส.ส. และพรรคร่วมรัฐบาลที่ยังมีความเหนียวแน่นและไม่มีการถอนตัวจากพรรคร่วมรัฐบาลเลย ดังนั้น ความเคลื่อนไหวทางการเมือง ณ วันนี้ที่จะนำไปสู่ความเปราะบางของรัฐบาล คือ ปัญหาภาวะเศรษฐกิจตกต่ำซึ่งเป็นปัญหาที่นายกรัฐมนตรีต้องเร่งแก้ไขเพื่อมิให้รัฐบาลต้องตกต่ำตามภาวะเศรษฐกิจในยุค NEW NORMAL เพราะขาดความเชื่อมั่นต่อประชาชน