”หมอประกิต”ชี้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นต้นเหตุเด็กเสพติดนิโคติน ย้ำไม่ได้ออกแบบมาเพื่อช่วยเลิกบุหรี่
ดร.พญ.เริงฤดี ปธานวนิช อาจารย์ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เปิดเผยว่า ขณะนี้มีงานวิจัยใหญ่ 2 ชิ้นที่เพิ่งตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ PLOS ONE (ตีพิมพ์ 2 ก.ย. 63) และ American Journal of Epidemiology (ตีพิมพ์ 27 ก.ค. 63) ซึ่งเป็นความร่วมมือของนักวิจัย 38 คนจากสถาบันต่างๆ ทั่วโลก เช่น มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานดิเอโก, มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก, องค์การอาหารและยาสหรัฐฯ, สถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐฯ, มหาวิทยาลัยการแพทย์เซาท์แคโรไลน่า และ มหาวิทยาลัยวอร์เตอร์ลู แคนาดา เป็นต้น นักวิจัยใช้ข้อมูลจากการสำรวจประชากรเรื่องบุหรี่กับสุขภาพของสหรัฐฯ หรือ Population Assessment of Tobacco and Health (PATH) Study ซึ่งถือเป็นฐานข้อมูลขนาดใหญ่ที่เก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่าง 45,971 คนทั่วประเทศตั้งแต่ปี 2556 และมีการเก็บข้อมูลต่อเนื่องทุกปีจนถึงปัจจุบัน
ดร.พญ.เริงฤดี งานวิจัยทั้ง 2 ชิ้น ได้เปรียบเทียบผลของการเลิกสูบบุหรี่โดยใช้บุหรี่ไฟฟ้ากับไม่ใช้บุหรี่ไฟฟ้า (ใช้ยาช่วยเลิกบุหรี่ หรือใช้วิธีหักดิบ) ของผู้ที่สูบบุหรี่เป็นประจำและสูบเป็นครั้งคราว โดยติดตามผลอย่างน้อย 12 เดือน พบว่าการใช้บุหรี่ไฟฟ้าไม่ช่วยให้เลิกสูบบุหรี่ดีกว่าการที่ไม่ใช้บุหรี่ไฟฟ้า โดยพบว่า 2 ใน 3 ของกลุ่มที่เลิกสูบบุหรี่ธรรมดา หลังจากเปลี่ยนมาสูบบุหรี่ไฟฟ้า ไม่สามารถเลิกสูบบุหรี่ไฟฟ้าได้ กลายเป็นยังคงติดนิโคตินจากบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่ง ดร. คาเรน เมสเซอร์ นักวิจัยอาวุโสของงานวิจัยทั้งสองชิ้นกล่าวว่า ผลวิจัยชี้ชัดว่าผู้สูบบุหรี่สามารถเลิกสูบบุหรี่ได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้บุหรี่ไฟฟ้าเพราะการใช้บุหรี่ไฟฟ้าหรือไม่ใช้ ไม่มีผลต่อการเลิกสูบบุหรี่ และการไม่ใช้บุหรี่ไฟฟ้าในการช่วยเลิกบุหรี่ยังทำให้ผู้สูบบุหรี่เอาชนะการเสพติดนิโคตินได้อย่างแท้จริง
“งานวิจัยสองชิ้นนี้มีความสำคัญเพราะใช้ข้อมูลระดับประชากรในการศึกษา จึงให้ข้อมูลที่ค่อนข้างตรงกับภาวะปกติที่ผู้สูบบุหรี่เลือกใช้บุหรี่ไฟฟ้าเองอย่างอิสระ ไม่มีการกำกับดูแลโดยแพทย์ ดังนั้นเป็นสิ่งที่ช่วยยืนยันว่า บุหรี่ไฟฟ้าไม่ช่วยให้เลิกสูบบุหรี่ได้ดีไปกว่าวิธีที่มีใช้อยู่ในปัจจุบัน เช่น การใช้ยาช่วยเลิกบุหรี่แผ่นแปะนิโคติน หรือการหักดิบ และยังทำให้ผู้สูบติดนิโคตินจนเลิกใช้บุหรี่ไฟฟ้าไม่ได้ หรือยังต้องสูบบุหรี่ธรรมดาคู่ไปกับบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งกรณีสูบทั้งสองประเภทนี้พบว่ามีอันตรายสูงยิ่งกว่าสูบอย่างใดอย่างหนึ่ง” ดร.พญ.เริงฤดี กล่าวว่า
ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า บริษัทบุหรี่มักจะสื่อสารให้ประชาชนเข้าใจว่าบุหรี่ไฟฟ้าออกแบบมาเพื่อช่วยผู้ใหญ่ที่สูบบุหรี่ให้เลิกสูบ โดยแนะให้ผู้สูบเปลี่ยนมาสูบบุหรี่ไฟฟ้าที่อ้างว่ามีอันตรายน้อยกว่า แต่ความเป็นจริงพบว่ามีคนเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่จะเปลี่ยนจากการสูบบุหรี่ธรรมดามาสูบบุหรี่ไฟฟ้า 100% ส่วนใหญ่กว่าครึ่งยังจะคงสูบบุหรี่ธรรมดาต่อไป แสดงให้เห็นว่าแท้จริงแล้วบุหรี่ไฟฟ้าไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อจะช่วยให้คนเลิกสูบบุหรี่ เพราะถ้าต้องการที่จะช่วยให้เลิกบุหรี่ได้จริง ต้องทำให้มีนิโคตินในระดับที่ต่ำและไม่มีการเติมสารปรุงรสต่างๆ เหมือนหมากฝรั่งนิโคตินที่เป็นยาช่วยเลิกบุหรี่
“ที่สำคัญพบว่ากลุ่มที่ใช้บุหรี่ไฟฟ้าส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่น ไม่ใช่ผู้ใหญ่ โดยเฉพาะวัยรุ่นที่ไม่เคยสูบบุหรี่มาก่อนเกิดการเสพติดนิโคตินในบุหรี่ไฟฟ้า จากข้อมูลในสหรัฐฯ พบการใช้บุหรี่ไฟฟ้าในวัยรุ่นเพิ่มขึ้นกว่า 900% ระหว่างปี 2554-2561 พบอัตราการสูบบุหรี่ไฟฟ้าในเด็กม.ปลายพุ่งถึง 27.5% เทียบกับอัตราการสูบบุหรี่ไฟฟ้าในผู้ใหญ่ที่มีเพียง 3.2% ซึ่งปรากฏการณ์ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าในวัยรุ่นสหรัฐฯนี้ทำให้หลายประเทศประกาศแบนบุหรี่ไฟฟ้า” ศ.นพ.ประกิต กล่าว