‘ชัชชาติ’ เล็งใช้ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารเปิดสัญญารถไฟฟ้าสายสีเขียวให้ประชาชนรู้ ชี้ค่าใช้จ่ายทั้งหมดต้องชัด เพราะเป็นตัวกำหนดค่าโดยสาร ชมรัฐบาลก็ทำงานเก่งเอาสายลงดินเห็นกันอยู่
เมื่อวันที่ 4 ก.ค. ที่ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ให้สัมภาษณ์หลังการประชุมคณะกรรมการบริหารโครงการเชื่อมสวนสาธารณะเบญจกิติกับสวนลุมพินี ถึงความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกัยสัญญสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายว่าคืบหน้าไปพอสมควร เพราะเรารู้แล้วว่าปัญหาอยู่จุดไหน ต้องลงในรายละเอียดระหว่างบริษัท กรุงเทพธนาคม (เคที) กับบริษัทเอกชน ที่จะต้องเจรจาว่าสามารถลดอะไรได้มากน้อยแค่ไหน ส่วนกรุงเทพมหานคร (กทม.) ต้องดูเรื่องหนี้สินเป็นหลัก ซึ่งเป็นไปตามที่นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ได้ให้ข้อคิดเห็นไว้ว่าจะต้องกลัดกระดุมเม็ดแรกให้ได้ก่อน ทั้งนี้หนี้สินของเรามี 3 ส่วน คือหนี้สินระหว่าง กทม.กับรัฐ ซึ่งตรงนี้เราไม่ได้กังวลมาก เพราะเป็นเงินจากกระเป๋าซ้ายไปกระเป๋าขวา หนี้สินในเรื่องค่างานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล และหนี้สินค่าเดินรถ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสัญญาที่ 2 ซึ่งต้องดูว่ากระบวนการในสัญญาครบถ้วนหรือไม่ ซึ่งถ้าไม่ครบ ต้องทำให้ครบก่อนจะเริ่มจ่ายหนี้ เราต้องดำเนินการให้ชัดเจนและทำอย่างตรงไปตรงมา รวมถึงต้องดูเรื่องสัญญาว่าจ้างบีทีเอสเดินรถส่วนต่อขยาย ระหว่างปี 72-85
อย่างที่ตนบอกว่าอยากเปิดเผยให้ประชาชนทราบ แต่ต้องเอาเรื่องกฎหมายให้ชัดเจนก่อน เนื่องจากในสัญญาเขียนไว้ว่าห้ามเปิดเผยต่อสาธารณะเว้นแต่กฎหมายบังคับ และบังเอิญว่าองค์กรผู้บริโภคขอมา แล้วจะเอาตรงนี้เป็นจุดที่จะบอกว่าสามารถเปิดเผยได้หรือไม่ โดยจะอ้างอิงจากพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ข้อมูลข่าวของสารราชการ พ.ศ. 2540 ถ้าข้อมูลใดที่ประชาชนขอมา ให้ได้ก็ต้องให้ เพราะประชาชนเป็นเจ้าของเงินที่เราต้องจ่ายเอกชนอยู่แล้ว เป็นเงินภาษีประชาชน และถ้าเปิดเผยได้จะสรุปให้เสร็จเลยว่า ค่าใช้จ่ายการเดินรถเป็นเท่าไหร่ ซึ่งการเปิดเผยดังกล่าวคงไม่ต้องหารือกระทรวงมหาดไทยเนื่องจากเป็นสัญญาระหว่าง กทม.คือกรุงเทพธนาคม กับเอกชน
เมื่อถามว่าหากจะเปิดข้อมูลต้องให้คู่สัญญายินยอมด้วยหรือไม่ นายชัชชาติ กล่าวว่า คงต้องปรึกษากันอีกครั้ง เพราะคู่สัญญาของ กทม.ไม่ใช่บริษัทเอกชน เราต้องถามกรุงเทพธนาคมก่อน แล้วกรุงเทพธนาคมกับคู่สัญญาก็ไปว่ากันอีกที เพราะเราขอเอกสารในฐานะผู้ถือหุ้นของกรุงเทพธนาคม เราขอเอกสารในนามผู้ถือหุ้น การเซ็นสัญญาเกิดขึ้นระหว่างกรุงเทพธนาคม กับเอกชน ไม่ใช่ กทม.เป็นคนเซ็น แต่เราต้องรับผิดชอบจึงต้องดูให้ละเอียดและได้สรุปตัวเลข และค่าใช้จ่ายไว้แล้ว เพราะค่าใช้จ่ายเหล่านี้เป็นตัวเลขที่นำมาพิจารณาเรื่องค่าโดยสาร เราต้องเก็บค่าโดยสารให้ครอบคลุมกับค่าใช้จ่ายที่เรามีสัญญากับเอกชนไว้ ดังนั้นค่าใช้จ่ายจึงมีความสำคัญ เพราะฉนั้นค่าใช้จ่ายจึงมีความสำคัญว่าเท่าไหร่ ดังนั้นเราจะบอกว่าค่าโดยสารจะ 20 บาท 30 บาท สุดท้ายขึ้นอยู่กับว่าเราจะต้องจ่ายเขาเท่าไหร่ ตรงนี้เป็นจุดสำคัญ
เมื่อถามว่าจะใช้เวลาอีกนานหรือไม่กว่าจะสะสางตรงนี้ได้ นายชัชชาติ กล่าวว่า ไม่มีปัญหา เพราะเรื่องนี้เริ่มปี 72-85 ยังมีเวลา ยกเว้นส่วนที่เดินรถในปัจจุบันคือส่วนที่ 1 และ 2 ซึ่งส่วนที่ 1 คงแก้ไขอะไรได้ยาก เพราะมีสัญญาระหว่างกทม.กับเคที และเคทีกับเอกชน แต่ส่วนที่ 2 เรามอบหมายเคทีแล้ว ซึ่งเคทีไปจ้างเอกชน ต้องมาดูความเชื่อมโยงว่าครบถ้วนหรือไม่ เรื่องเวลาจึงไม่ใช่เงื่อนไข ทั้งนี้เวลามีเงื่อนเดียวคือเรื่องหนี้เพราะเป็นหนี้สินที่ดอกเบี้ยเดินอยู่แต่เรื่องสัญญาเดินรถ จริงๆแล้วหัวใจคือสัญญาสัญญาจ้างบีทีเอสเดินรถส่วนต่อขยาย ปี 72-85 ซึ่งปัจจุบันเรายังมีเวลาอีก 6-7 ปี
เมื่อถามว่าจะนำเรื่องรถไฟฟ้าสายสีเขียวเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เมื่อใด นายชัชชาติ กล่าวว่า ต้องขึ้นอยู่กับ ครม. โดย กทม.ต้องให้ความเห็นประกอบ ทั้งนี้ตนเชื่อว่าอีกไม่นาน เพราะตอนนี้ทุกอย่างเริ่มชัดเจน เพราะทำงานมา 1 เดือนแล้ว เมื่อถามต่อว่าจากที่เคยบอกว่าหนักใจในเรื่องรถไฟฟ้าสายสีเขียว ตอนนี้รู้สึกเบาใจขึ้นบ้างหรือไม่ นายชัชชาติ กล่าวว่าที่หนักใจคือหนักใจว่าภาระตกไปที่ประชาชน เพราะมีเงื่อนของการลงนามในสัญญาแล้วจะเป็นอย่างไร จะพูดคุยได้มากน้อยแค่ไหน เนื่องจากบางอย่าง เราไม่ได้เป็นคนทำ แต่มีการลงนามในสัญญาแล้ว จะมีกระบวนการตามกฎหมายอยู่ว่าจะทำอย่างไร
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายชัชชาติยังให้สัมภาษณ์ถึงกรณีนายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ระบุว่า รัฐบาลดำเนินการเรื่องการนำสายไฟฟ้าลงดิน แต่ประชาสัมพันธ์ไม่เก่งเท่านายชัชชาติ ว่า “ใช่ครับ รัฐบาลก็ทำงาน ไม่มีอะไรหรอก อย่าไปนั่นเลย ไม่ได้เป็นประเด็น รัฐบาลเองก็มีการเอาสายลงดินอยู่แล้วเราก็เห็น ก็ทำงานควบคู่กันไปนะครับผมว่า เพราะฉะนั้นยิ่งทำงานเสริมกันก็ยิ่งดี จะทำให้งานมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น”
.