ภาครัฐ-เอกชนจัดทัพเยือนสปป.ลาว ถกโครงการเชื่อมต่อทางรถไฟ ช่วงหนองคาย-เวียงจันทน์ รองรับการขนส่งผู้โดยสาร-สินค้าในอนาคต
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ในระหว่างวันที่ 30 สิงหาคม-1 กันยายนนี้ ทีมไทยแลนด์ ประกอบด้วย กระทรวงคมนาคม กระทรวงการคลัง กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงสาธารณสุข รวมถึงภาคเอกชน อาทิ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สภาหอการค้า และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เดินทางเยือน สปป.ลาว เพื่อหารือเกี่ยวกับโครงการเชื่อมต่อทางรถไฟ ช่วงหนองคาย-เวียงจันทน์ พร้อมทั้งนั่งรถไฟลาว-จีน เชื่อมไปยังหลวงพระบางด้วย
โดยมีผู้บริหารระดับสูงของ สปป.ลาว และผู้ประกอบการเอกชนเข้าร่วมด้วย การเยือน สปป.ลาวครั้งนี้ เพื่อศึกษาสภาพและศักยภาพของพื้นที่ตลอดแนวเส้นทางของโครงการ เพื่อนำมาประเมินอุปทานด้านการคมนาคม และจัดทำแผนการเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศไทย รองรับการขนส่งทั้งผู้โดยสารและสินค้า
รวมถึงศูนย์บริการตรวจคนเข้าเมืองแบบเบ็ดเสร็จในจุดเดียว (วันสต๊อปเซอร์วิส) ถือเป็นการบูรณาการการเชื่อมโยงโครงข่ายทางรถไฟระหว่างไทย-ลาว-จีน ในการเพิ่มขีดความสามารถ และศักยภาพระบบโลจิสติกส์ไทยด้วยการขนส่งผ่านระบบราง จะช่วยลดต้นทุนทางด้านเวลาและด้านโลจิสติกส์
นอกจากนี้ ได้มอบหมายให้กรมทางหลวง (ทล.) ศึกษาสำรวจออกแบบการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 7 หรือสะพานมิตรภาพไทยลาว (หนองคายเวียงจันทน์ แห่งที่ 2) เพราะ ทล.มีประสบการณ์การก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย สปป.ลาวมาแล้ว 6 แห่ง จะใช้งบประมาณเหลือจ่าย วงเงินศึกษาประมาณ 10 ล้านบาท ระยะเวลาศึกษา 6 เดือน คาดว่าจะศึกษาแล้วเสร็จในช่วงต้นปี 2566
อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นเห็นด้วยว่าสะพานดังกล่าวจะมีทางรถไฟ ส่วนจะมีเส้นทางสำหรับรถยนต์หรือไม่นั้น จะต้องหารืออีกครั้ง เนื่องจากทาง สปป.ลาวแจ้งว่าใช้งบประมาณสูง ตามปกติการก่อสร้างจะลงทุนคนละครึ่งระหว่างไทย สปป.ลาว ได้มอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศพิจารณาเส้นทางรถไฟจีน-ลาว เป็นทางเดียว
ขณะที่ไทยเป็นทางคู่ นายกรัฐมนตรีให้พิจารณาว่าจะเกิดปัญหา คอขวดหรือไม่ นอกจากนี้ ยังรวมถึงเส้นทางด้านใต้เชื่อมต่อไปยังมาเลเซียด้วย จากการหารือร่วมกับมาเลเซียก่อนหน้านี้ เห็นควรตั้งคณะทำงานร่วมกัน 5 ประเทศ ระหว่างจีน สปป.ลาว ไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์ มีไทยเป็นคนกลางเชื่อมต่อดังกล่าว เพื่อแก้ปัญหา คอขวด ให้เกิดความคุ้มค่าการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่มากที่สุด