วันศุกร์, พฤศจิกายน 29, 2024
spot_img
หน้าแรกNEWS“พท.”รุมถล่ม “บิ๊กตู่”ชี้ฝืนอยู่ต่อเศรษฐกิจทรุด มีแต่จะเสื่อมถอยหนัก
- Advertisment -spot_imgspot_img

“พท.”รุมถล่ม “บิ๊กตู่”ชี้ฝืนอยู่ต่อเศรษฐกิจทรุด มีแต่จะเสื่อมถอยหนัก

เพื่อไทยรุมถล่ม “ประยุทธ์” ฝืนอยู่ต่อไปเศรษฐกิจไทยยิ่งทรุดหนัก จบไม่สวย จะเกิดความวุ่นวาย จะมีการประท้วงในวงกว้าง และจะยิ่งทำให้ประเทศมีปัญหามากขึ้น

เมื่อวันที่ 16 ส.ค. คณะทำงานเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทยแถลงข่าวประจำสัปดาห์ โดยนายพิชัย นริพทะพันธุ์ รองประธานยุทธศาสตร์ ด้านเศรษฐกิจ นายจักรพล ตั้งสุทธิธรรม ส.ส.เชียงใหม่ และรองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย นายกฤษฎา ตันเทอดทิตย์ ส.ส.หนองคาย อดีตรองเลขาธิการสภาอุตสาหกรรม น.ส.จุฑาพร เกตุราทร ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.กทม.เขตบางรัก และนายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองเลขาธิการพรรค และกรรมการคณะยุทธศาสตร์และการเมือง

นายพิชัยกล่าวว่า ในประเด็นครบ 8 ปี ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในการเป็นนายกรัฐมนตรี ครบตามกำหนดที่รัฐธรรมนูญเขียนไว้และเป็นเจตนาของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ตามที่มีการบันทึกไว้แล้ว ตนอยากขอเรียกร้องให้นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ได้ออกมายืนยันเจตนาของผู้ร่าง อย่าปล่อยให้มีการตีความมั่ว สร้างความสับสนให้ประชาชน ทั้งนี้เพราะเมื่อ 2 ปีก่อน หนึ่งในคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ คือ อาจารย์เธียรชัย ณ นคร ได้ยืนยันกับตนในเรื่องนี้เอง และยังแนะนำให้ไปดูข้อกฏหมายและภาคผนวกที่ระบุชัดเจนว่านับตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ ตั้งแต่ปี 57 ซึ่งต้องครบ 8 ปี ในวันที่ 24 ส.ค.65 หากจำกันได้ ขนาด พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ หลังการเลือกตั้งแล้ว ยังไม่ยอมรายงานทรัพย์สินใหม่ โดยอ้างว่าเป็นนายกฯ ต่อกันมา โดยเรื่องนี้จะเป็นโอกาสให้นายมีชัยได้ไถ่บาปได้บางส่วน จากการเขียนรัฐธรรมนูญที่มั่วและสร้างความวุ่นวายอย่างมาก

ทั้งนี้ หลักคิดของการไม่ต้องการให้ผู้นำอยู่ในอำนาจเกิน 8 ปี เป็นหลักสากล สหรัฐอเมริกาก็ไม่ให้ประธานาธิบดีอยู่เกิน 2 เทอม หรือ 8 ปีเช่นกัน เพราะไม่ต้องการให้ผู้นำยึดติดและคนอยู่นานไปมักจะใช้อำนาจผิดๆ จะไม่มีแนวคิดใหม่ๆ นี่ขนาดเขามาจากระบอบประชาธิปไตยมาตลอด 8 ปี ยังกำหนดแบบนี้ ไม่เหมือนพล.อ.ประยุทธ์ที่รัฐประหารเข้ามาแต่แรก ยิ่งต้องไม่สืบทอดอำนาจและยิ่งต้องไม่ยึดติด แต่นี่กลับทำตรงกันข้าม ดังจะเห็นจากปัญหาการแก้กติกากลับไปกลับมา เดี๋ยวบัตร 1 เดี๋ยวบัตร 2 ใบ เดี๋ยวหาร 100 เดี๋ยวหาร 500 แถมมีการแจกกล้วยพรรคเล็กเพื่อรักษาอำนาจ อีกทั้งยังมีการบิดเบือนข้อกฎหมายอย่างมาก พล.อ.ประยุทธ์ ต้องสำนึกตัวเองและออกไปได้แล้ว ยิ่งอยู่นานคนยิ่งเบื่อ ประเทศยิ่งถดถอย

โดยเฉพาะทางด้านเศรษฐกิจ ข้อมูลเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 ขยายได้เพียง 2.5% เท่านั้น ครึ่งปีแรกขยายได้แค่ 2.4% ซึ่งต่ำมาก และปีนี้ทั้งปีเศรษฐกิจคงขยายตัวได้ไม่มากนัก โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ซึ่งเป็นไปตามคาดหมาย เพราะอัตราดอกเบี้ยของไทยและอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐห่างกันมาก อาจทำให้เงินทุนไหลออกได้ ธปท. จึงต้องขึ้นดอกเบี้ย อีกทั้งเงินเฟ้อของไทยก็สูง ล่าสุดอยู่ที่ 7.61% ในเดือน ก.ค. โดยเงินเฟ้อในสหรัฐเดือน ก.ค.อยู่ที่ 8.5% แม้จะลดลงมาจาก 9.1% แต่ยังสูงอยู่ มีโอกาสที่สหรัฐจะขึ้นดอกเบี้ยอีก ซึ่งจะเป็นแรงกดดันให้ไทยอาจจะต้องขึ้นดอกเบี้ยกันอีก มีแนวโน้มที่ ธปท. จะต้องขึ้นดอกเบี้ยอีกในอนาคตซึ่งอาจจะเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างหลีกเลี่ยงยาก

ดังนั้นจึงอยากให้ ธปท.ขึ้นดอกเบี้ยช้าที่สุด น้อยที่สุด โดยต้องไม่ให้เงินทุนไหลออกมากนัก เพราะเศรษฐกิจไทยยังย่ำแย่ การขึ้นดอกเบี้ยจะซ้ำเติม ค่าครองชีพสูง ข้าวของแพง น้ำมันแพง ก๊าซแพง ไฟฟ้าแพง ให้กับประชาชนและภาคธุรกิจ จะทำให้หนี้เสียมีเพิ่มขึ้น การที่รัฐบาลออกมาแถลงว่าการขึ้นดอกเบี้ยจะไม่กระทบประชาชนจึงไม่ใช่เรื่องจริง หรืออาจจะเป็นแค่ช่วงสั้นๆ เท่านั้น

เมื่อพูดถึงเรื่องค่าไฟฟ้าแพง อยากให้ พล.อ.ประยุทธ์ ได้ทำความเข้าใจก่อนที่จะพูดมั่ว กล่าวหาคนวิจารณ์ไฟฟ้าแพงว่าให้ข้อมูลมั่วทั้งที่ พล.อ.ประยุทธ์ พูดมั่วบอกว่าค่าไฟฟ้าขึ้นจาก 3 บาทกว่าเป็น 4 บาทขึ้นนิดเดียว ทั้งที่ความจริงค่าไฟฟ้า ขึ้นมาจากหน่วยละ 3.71 บาท เป็นหน่วยละ 4.00 บาท เมื่อเดือน พ.ค.65 และกำลังจะขึ้นเป็นหน่วยละ 4.72 บาทในเดือน ก.ย.65 ตามที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้ยืนยันแล้ว หรือจะขึ้นถึง 27% ใน 5 เดือนถือว่าสูงมาก พล.อ.ประยุทธ์ จะพูดกลบเกลื่อนแบบมั่วๆ ไม่ได้และอยากให้ศึกษาก่อนพูด เป็นแบบนี้หลายหนแล้ว

ปัญหาต่างๆ ที่จะเข้ามา ประกอบกับความไม่รู้เรื่องของนายกฯ จะยิ่งทำให้มีปัญหามากขึ้น ล่าสุดผลการประชุมของคณะกรรมการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจแทบจะไม่มีอะไรเลย หากจะดื้อรั้นอยู่ต่อไปประเทศไทยจะประสบปัญหา 8 เรื่องดังนี้ 1.เศรษฐกิจจะขยายตัวต่ำต่อไปอีก เพราะประชาชนจะยิ่งขาดความเขื่อมั่นและขาดความมั่นใจ อีกทั้งจะได้ยินแต่เรื่องโกหกและการเล่านิทานหลอกประชาชน ที่อ้างว่าเศรษฐกิจไปได้ดี ทั้งที่คนอดอยากกันมาก

2.หนี้สินจะเพิ่มขึ้นหมด หนี้สาธารณะจะยิ่งพุ่งสูง เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ หารายได้ไม่เป็น เป็นแต่กู้มาแจก หนี้ครัวเรือนไม่มีแนวโน้มจะลดลงได้เลย เพราะไม่มีแนวทางในการเพิ่มรายได้ หนี้ภาคธุรกิจ จะยิ่งพอกพูน และ หนี้เสียจะยิ่งเพิ่มมากขึ้น ยิ่งภาวะดอกเบี้ยขาขึ้นจะยิ่งทำให้สถานการณ์แย่ลงไปอีก รัฐบาลแถลงว่าดอกเบี้ยขึ้นจะไม่กระทบนั้นน่าจะเข้าใจผิดหรือไม่ก็ตั้งใจบิดเบือนความจริง 3.ข้าวของแพงและเงินเฟ้อ จะแก้ไขไม่ได้ ประชาชนจะลำบากกันมาก รายได้ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้เพิ่มรายได้ประชาชน

4.ราคาน้ำมัน ราคาไฟฟ้า และราคาก๊าซ จะยิ่งแพงขึ้น เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่เข้าใจโครงสร้างราคา และไม่ปรับเปลี่ยนแก้ไขเพราะเกรงใจนายทุนพลังงานและธุรกิจพลังงานใหญ่ 5.การลงทุนจะยิ่งหดหาย เพราะนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศจะไม่มั่นใจ นักลงทุนต่างประเทศจะยิ่งหายไปและไม่กลับมาอีก 6.ความสามารถแข่งขันของไทยจะยิ่งลดลง เพราะผู้นำขาดหลักคิด ไม่ได้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของไทย ขาดการพัฒนาทางด้านดิจิทัล และจะตามกระแสโลกไม่ทัน

7.การใช้งบประมาณไม่มีประสิทธิภาพ รัฐบาลใช้เงินเยอะ กู้เงินมาก แต่เศรษฐกิจไทยไม่ขยายตัว มีการใข้เงินไปซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์กันมาก ทั้งที่ประชาชนกำลังอดอยาก 8.จะเกิดทุจริตคอร์รัปชั่นชั่นกันมาก 5 ปีที่ผ่านมาดัชนีความโปร่งใสลดลงมาตลอด

นี่เป็น 8 ปัญหาหลัก ซึ่งจะมีปัญหาอื่นๆ ตามมาอีกมาก ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จะต้องคิดให้ดีว่าจะดันทุรังต่อไปแล้วจะมีจุดจบอย่างไร เพราะหากยังดันทุรัง เท่าที่ดูไม่น่าจะจบสวยเลย และจะเกิดความวุ่นวาย จะมีการประท้วงในวงกว้าง ยิ่งทำให้ประเทศมีปัญหามากขึ้น เพราะตลอด 8 ปี ที่ผ่านมาประเทศไทยบิดเบี้ยว กฎเกณฑ์ บิดเบือนนิติรัฐ นิติธรรมมาตลอด เพื่อสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ให้คงอำนาจและสืบทอดอำนาจ ต้องถามกันว่าจะยังทำลายระบบ นิติรัฐ นิติธรรมของประเทศให้ไม่เหลือเลยหรือ เพียงเพื่อจะรักษาอำนาจให้ พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งมันคุ้มกันแล้วหรือ

ทางด้าน นายกฤษฎากล่าวว่าประเทศไทยมีมูลค่าการค้าชายแดนกว่า 1 ล้านล้านบาท เป็นตัวเลขที่ไม่สามารถมองข้ามได้เลย หากต้องการฟื้นฟูเศรษฐกิจ วันนี้สิ่งสำคัญที่สุดในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจคือ การเข้าใจว่ากำลังซื้อของผู้บริโภคอยู่ที่ไหน และบริบทของประเทศคืออะไร ก่อนที่จะตอบคำถามนั้น เรามาดูตัวเลขที่สำคัญกันก่อน ในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมา เป็นช่วงการผ่อนคลายทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องการท่องเที่ยว ภาคอุตสาหกรรม การนำเข้าและการส่งออก รวมไปถึงการค้าชายแด มีมูลค่าการค้าชายแดนและผ่านแดนในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมากว่า 850,000 ล้านบาท ส่งออกกว่า 500,000 ล้านบาท นำเข้า 300,000 กว่าล้านบาท ยังไม่รวมถึงการส่งสินค้าทางเรือไปยังกลุ่มประเทศที่ไกลๆ เช่น ยุโรป ตะวันออกกลาง อเมริกา ตัวเลขดังกล่าวถือเป็นตัวเลขที่น่าสนใจทีเดียว

ตัวเลขพวกนี้ ควรจะเป็นตัวเลขที่รัฐบาลให้ความสนใจ ควรจะต้องมีแผนรองรับ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐาน ทิศทางการรับเรียงสินค้า ไปจนถึงเส้นทางที่นักท่องเที่ยวและนักลงทุนจะต้องใช้ในการเดินทางในอนาคต แต่ถ้าเราติดตามการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาลชุดนี้ ก็ต้องบอกว่ายังช้าไปหลายก้าว

สำหรับการค้าชายแดน ตัวเลขการเติบโตอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างดี เติบโตเฉลี่ยอยู่ที่ 15% ทั้งนำเข้าและส่งออก แต่ตัวเลขที่ต้องระวังและถ้ายังบริหารงานแบบไม่เข้าใจบริบทของตัวเลขพวกนี้ อนาคตเราอาจจะเจอตัวเลขติดลบแม้แต่การค้าชายแดนก็เป็นได้ ตัวเลขที่น่าตกใจ ควรจะต้องใส่ใจเป็นพิเศษคือ การค้าผ่านแดน การส่งออกสินค้าผ่านแดนของเราในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ลดลง 20% การนำเข้าตกลง 12% วันนี้อินโดนีเซียกำลังจะลงทุนร่วมกับจีน มูลค่าการลงทุนกว่า 1 ล้านล้านบาท โดยการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานหลักก็คือเรื่อง รถไฟความเร็วสูง บริษัทเกาหลี ซัมซุงกำลังเตรียมลงทุนเพิ่มอีก 1 แสนล้านบาท ซึ่งก่อนหน้านี้ การลงทุนของซัมซุงได้สร้างรายได้เข้าประเทศเวียดนามกว่า 1 ล้านล้านบาทต่อปี

ในอดีตที่ผ่านมา ประเทศที่มีทองและน้ำมันมาก ถือเป็นประเทศที่เป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ แต่ในยุคปัจจุบัน ยุคของน้ำมันกับทอง กำลังจะเปลี่ยนไปเป็นยุคของ พลังงานใหม่ EV หรือ รถไฟฟ้ากำลังจะเข้ามาแทนที่รถยนต์ พลังงานทางเลือกหลายๆ อย่างกำลังอยู่ในช่วงของการเปลี่ยนถ่าย ไม่ช้าก็เร็ว ยุคทองของเทคโนโลยี เช่น การผลิต Semi-Conductor สำหรับคอมพิวเตอร์และเครื่องใช้ไฟฟ้า Battery Lithium Ion สำหรับรถไฟฟ้า ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีทั้งหมด ส่วนใหญ่ล้วนอยู่ในประเทศจีน ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของวัตถุดิบ เทคโนโลยี รวมไปถึง อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องทั้งหมด

จ.หนองคาย เป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญเชื่อมต่อกับลาว ไปยังจีนและอีกหลายๆ ประเทศ ตนเป็น ส.ส.ในพื้นที่ ได้คอยติดตามการพัฒนาด้านเศรษฐกิจในพื้นที่มาโดยตลอด วันนี้ หลายอย่างที่ควรจะเกิด ก็ยังไม่เกิด เขตเศรษฐกิจพิเศษ ยังไม่ได้มีโครงสร้างพื้นฐานอะไรเลยเข้ามารองรับ สะพานแห่งที่ 2 ควรจะเกิดนานแล้วก็ยังไม่มี กฎระเบียบการให้สิทธิพิเศษแก่นักลงทุนก็ด้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้านอย่างลาวหรือเวียดนามอยู่พอสมควร มิหนำซ้ำตนได้รับการร้องเรียนจากภาคเอกชน โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการค้าชายแดนว่าภาครัฐได้มีการเร่งรัดและรัดกุมในเรื่องของการจัดเก็บภาษีเริ่มตั้งแต่รายเล็กไปจนถึงรายใหญ่ ทั้งๆที่ภาคธุรกิจเองก็เพิ่งจะกลับมาฟื้น หลังจากปลดล็อค ตนไม่แปลกใจ ในเมื่อรัฐบาลหารายได้ให้ประเทศไม่ได้ ต้องไปลงที่ผู้ประกอบการในประเทศ ซึ่งหัวเพิ่งจะพ้นน้ำ แต่กลับถูกกดลงไปในน้ำอีกครั้ง

วันนี้หนองคาย เป็นประตูบานแรกที่นักท่องเที่ยว นักลงทุน จะเปิดเข้ามาเจอ และหากท่านยังบริหารงานแบบไม่พร้อมอย่างนี้ต่อไป โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม ด้านสาธารณะสุข หรือแม้แต่ด้านเทคโนโลยีตนเกรงว่า เราอาจจะตกรถไฟขบวนนี้จริงๆ ก็ได้

ส่วน นายจักรพล กล่าวว่า จากการที่พรรคเพื่อไทยได้ชี้เป้าบาดแผลที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ทำไว้กับระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะแผลการท่องเที่ยวทั้ง 5 แผล เช่น การว่างงานในระยะยาวอาจปรับตัวสูงสุด รายได้จากภาคการท่องเที่ยวในอดีตหายไปมากกว่า 3.5 ล้านล้านบาท เป็นต้น วันนี้พรรคเพื่อไทยพร้อมผ่าตัดครั้งใหญ่ให้กับรัฐบาลนี้ กับแผลเน่าที่รัฐบาลทำไว้กับการท่องเที่ยวไทย หลังจากรัฐบาลได้ประกาศผ่อนคลายมาตรการปิดประเทศและยกเลิก Thailand Pass ทำให้มีนักท่องเที่ยวหลั่งไหลเข้ามาในประเทศไทยมากขึ้น โดยเฉพาะมาเลเซีย สิงคโปร์ อินเดีย สหราชอาณาจักร ลาว และอเมริกา และมีแผนเตรียมกระตุ้นและขับเคลื่อนภาคการท่องเที่ยวอย่าเต็มกำลังสูบ แต่แผนดังกล่าวจะใช้ได้ผลหรือไม่ หากยังมีนายกรัฐมนตรีที่ชื่อประยุทธ์

บาดแผลเน่าทั้ง 5 จุดที่รัฐบาลได้ทำไว้มีดังนี้ แผลเน่าที่ 1 ผลกระทบจากการเปิดประเทศช้า เป็นแผลเป็นเก่าที่ทำให้ภาพลักษณ์การท่องเที่ยวของประเทศเสียหาย การพูดไว้และทำไม่ได้ตามแผนการเปิดประเทศ 120 วัน ทำให้ประเทศเสียค่าโง่จากการตัดสินใจดังกล่าวไปมากกว่า 4.9 แสนล้านบาทในช่วงเวลาที่เปิดประเทศช้า แผลเน่าที่ 2 ค่าเหยียบแผ่นดิน หรือ ค่าอุปสรรคสำหรับการท่องเที่ยว ค่าเหยียบแผ่นดินที่ทำให้รัฐบาลถูกวิจารณ์มาโดยตลอด แต่สำหรับประเทศไทยอาจจะยังไม่เหมาะสม จำเป็นต้องดูเรื่องของต้นทุนการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยว ทั้งค่าเดินทาง ภาษีต่างๆ ที่นักท่องเที่ยวต้องจ่าย รัฐบาลจำเป็นต้องคิดให้รอบคอบและฟังเสียงประชาชนให้มากกว่านี้

แผลเน่าใหม่ที่ 3 ตัวเลขนักท่องเที่ยวและรายได้ที่อาจจะหดหายไป จากแผนการทำงานที่ไร้วิสัยทัศน์ เมื่อการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้นำเสนอโครงการ “เราฟื้นด้วยกัน” เพื่อเป็นวัคซีนเข็มกระตุ้นในการฟื้นฟูอุตสาหกรรมท่องเที่ยวทั้งระบบให้ได้ตามเป้าหมายปี 65 โดยคาดการณ์ว่าจะสร้างรายได้รวม 1.5 ล้านล้านบาท แต่ในความเป็นจริงแล้ว ควรที่จะตั้งเป้าหมายให้มากกว่านี้หรือไม่? การตั้งเป้าหมายต่ำทำให้การทำงานในโครงการดังกล่าวด้อยประสิทธิภาพหรือไม่? รัฐบาลจะทำได้ตามแผนไหม? เพราะที่ผ่านมารัฐบาลล้มเหลวมาตลอด ไม่เคยทำให้คนไทยสามารถลืมตาอ้าปากได้เลย ทั้งนี้ตัวเลขนักท่องเที่ยวปัจจุบัน ณ 31 ก.ค.65 อยู่ที่ 3.3 ล้านคน เหลือเวลาอีก 5 เดือนและนักท่องเที่ยวอีกประมาณ 6.7 ล้านคน

แผลเน่าที่ 4 แผนการทำงานที่ไร้ความชัดเจน จากโครงการ “เราฟื้นด้วยกัน” โดยมีการขอให้รัฐบาลจัดสรรงบประมาณให้ ภายใต้วงเงิน 1,035.75 ล้าน ทั้งนี้หากไม่มีโครงการดังกล่าว มีการคาดการณ์ว่าจะทำให้รายได้การท่องเที่ยวหายไป 2.65 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 18 ของคาดการณ์รายได้รวมจากการท่องเที่ยว 1.5 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก หากคิดจากจำนวนงบประมาณจำนวนกว่าพันล้านบาท แต่ได้ส่วนแบ่งรายได้เพียง 18% เท่านั้น นอกจากนี้โครงการดังกล่าวยังไม่มีแผนที่แน่นอนและชัดเจน เป็นการสกัดขาประชาชนครั้งแล้วครั้งเล่า และแผลเน่าสุดท้าย รอยช้ำเก่าที่รัฐบาลไม่เคยรักษาหาย ตั้งแต่ราคาน้ำมันตลอดจนถึงค่าครองชีพที่แพงขึ้น ถึงแม้ปัจจุบันรัฐบาลได้ออกมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวมามากมายเพียงได้ แต่หากรัฐบาลไม่เข้าใจปัญหาที่แท้จริง ไม่ฟังเสียงของประชาชน ยึดแต่ความคิดของตนเองเป็นหลัก ก็ไม่ได้ช่วยให้เศรษฐกิจดีขึ้น เพราะโครงการที่ปล่อยออกมา ล้วนเป็นช่วยเหลือแบบเฉพาะหน้า ไม่ได้เจาะทั้งระบบ ทำให้ผู้ประกอบการตกหล่นระหว่างทางเป็นจำนวนมาก ยังไม่รวมถึงพิษเงินเฟ้อ และสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ยังปะทุอยู่และพร้อมที่จะขยายความรุนแรงมากขึ้น หากรัฐบาลยังไม่มีแผนป้องกันที่เหมาะสม ภาคการท่องเที่ยวคงต้องล้มอีกครั้ง

“แผลเน่าทั้ง 5 จุด จะทำให้ประเทศไทยย้ำอยู่กับที่ ไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้ซักที อย่างไรก็ตาม ผมเชื่อมั่นว่าบุคลากรในภาคการท่องเที่ยวทั้ง ราชการ ผู้ประกอบการ แรงงานมีความพร้อมที่จะเดินหน้าต่อ แต่หากคนคุ้มหางเสือยังเป็น พล.อ.ประยุทธ์ ก็ยากที่จะพาประเทศไปต่อในทางข้างหน้าได้ เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ ไร้ซึ่งความความรู้ ไม่มีความสามารถในการคิดต่อยอด ไม่มีการวางแผนในการเดินหน้าที่มีประสิทธิภาพ ไร้แผนการป้องกันที่เหมาะสม ทั้งหมดนี้ทำให้สรุปได้ว่าประเทศไทยไม่ต้องการนายกรัฐมนตรีคนนี้อีกต่อไป เวลานี้ประชาชนคงทำได้แต่ภาวนาให้หมดวาระของ พล.อ.ประยุทธ์ ให้เร็วที่สุด แต่พรรคเพื่อไทยขอเป็นอีก 1 ขุมพลังที่จะช่วยขับไล่นายกฯ ท่านนี้และสร้างแสงสว่างให้กับประเทศไทยอีกครั้ง” นายจักรพลกล่าว

น.ส.จุฑาพร กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยขยายตัวในระดับต่ำมาตลอด หลังจากวิกฤติโควิด-19 ไทยยังไม่ฟื้นจากแดนลบ และอยู่ในแดนลบมา 3 ปีติดแล้ว ซึ่งในปี 63 เศรษฐกิจไทยติดลบ -6.2% และ 2 ปีแล้วที่ยังไม่ฟื้นที่ที่เดิมที่ตกลงมา อีกทั้งยังขยายตัวช้ากว่าประเทศอื่นในอาเซียนมาก เมื่อดูตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส 2 มาเลเซียโตถึง 8.9% โดยมีเวียดนาม และฟิลิปินต์ตามมาที่ 7.7% และ 7.4% ขณะที่ไทยเศรษฐกิจในไตรมาส 2 ขยายตัวประมาณแค่ 2.5% ถือว่าต่ำมาก

พล.อ.ประยุทธ์ สอบตกการบริหารประเทศ โดยเฉพาะการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ประชาชนเดือดร้อนหนักมาก ข้าวของแพง รายได้ไม่พอกับค่าใช้จ่ายที่จะต้องใช้แต่ละวัน ต้องกู้หนี้ยืมสินมาประทังชีวิต ธุรกิจซบเซาย่ำแย่ ผู้คนจับจ่ายซื้อของน้อยลง ด้วยปัญหาต่างๆ ที่รุมเร้า ทำให้ไม่รู้จะหารายได้จากที่ไหนมาประคองชีวิตให้เพียงพอ เดือดร้อนจนหลายคนคิดสั้น ฆ่าตัวตายจากภาระหนี้สิ้นล้นตัว หลายคนมองแทบไม่เห็นอนาคต โดยเฉพาะนักศึกษาจบใหม่ที่ตกงานหลายแสนคน จากสาเหตุที่ธุรกิจปิดตัวลงด้วยพิษโควิด

ในภาคการค้าและบริการ ซึ่งเป็นสาขาที่เด็กจบใหม่เลือกศึกษา หลายธุรกิจปรับลดจำนวนคนลง และหันมาใช้เทคโนโลยีมากขึ้น ประกอบกับนักศึกษาจบใหม่อาจยังขาดทักษะที่นายจ้างต้องการ ได้แก่ ทักษะภาษาอังกฤษ ทักษะด้านดิจิทัล และทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ หากไม่ได้รับการแก้ไขในระยะยาว และปล่อยให้คนกลุ่มนี้ตกงานจะเกิดเป็น skilled gap หรือช่องว่างของทักษะการทำงาน จะหางานได้ยากขึ้นในระยะยาว

พล.อ.ประยุทธ์ คือ ภัยคุกคามร้ายแรงทางเศรษฐกิจ เพราะล้มเหลวในการแก้ไขปัญหา เน้นแจกเงิน มากกว่าการสร้างงาน แจกจนหนี้ประเทศพุ่งสูงมาก ทิ้งให้คนรุ่นหลังต้องแบกภาระหนี้สิ้นและคงต้องมาชดใช้หนี้ คนรุ่นใหม่ที่ควรมีความฝัน ความหวัง กลับต้องมาพบเจอแต่ความยากลำบากในยุคการบริหารงานของ พล.อ.ประยุทธ์ ถูกปิดกั้นเสรีภาพทางความคิด ถูกจับกุม เมื่อเห็นต่าง ปกครองด้วยกระบอกปืน จนกระทั่งกลุ่มคนเหล่านี้เกิดความท้อแท้ หมดหวัง และชวนกันอยากย้ายประเทศ แม้ว่าทุกคนคงไม่สามารถย้ายประเทศหนีไปได้หมด แต่หากกลุ่มคนมีความรู้ความสามารถเหล่านั้นไปศึกษาต่อ หรือไปทำงานประเทศอื่นถาวร ถือเป็นความสูญเสียของประเทศอันใหญ่หลวงที่ต้องเสียทรัพยากรที่มีค่าทางเศรษฐกิจไป สิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ จะช่วยประเทศไทยได้ดีที่สุด คือ การหลีกทางให้คนที่มีความสามารถ และมีความเหมาะสมกว่าเข้ามาบริหารประเทศแทน

ขณะที่ นายอนุสรณ์ กล่าวถึงกรณีฝ่ายต่างๆออกมายื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ เกิน 8 ปี ได้หรือไม่ว่า 8 ปีที่แล้วประเทศและประชาชนอยู่ในภาวะถูกบีบบังคับจากการสร้างสถานการณ์ความขัดแย้ง นำไปสู่สภาวะสุญญากาศ เพื่อปูทางไปสู่การทำรัฐประหาร ฉีกรัฐธรรมนูญ หลักนิติรัฐ นิติธรรม ถูกทำลาย ภาพลักษณ์ของประเทศเสียหาย ประเทศลงทุนมากขนาดนี้ เพียงเพื่อให้ พล.อ.ประยุทธ์ ได้ขึ้นมาเป็นนายกฯ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯหลังจากรัฐประหาร ในวันที่ 24 ส.ค.57 นับจากวันนั้นจนถึงวันที่ 24 ส.ค.65 เอาใครมานับก็จะรู้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ ครบ 8 ปี รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 158 วรรค 4 บัญญัติว่า นายกรัฐมนตรีจะดํารงตําแหน่งรวมกันแล้วเกินแปดปีมิได้ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการดํารงตําแหน่งติดต่อกันหรือไม่ แต่มิให้นับรวมระยะเวลาในระหว่างที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปหลังพ้นจากตําแหน่ง รัฐธรรมนูญ มาตรา 264 บัญญัติว่า ให้คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ เป็นคณะรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ นั่นคือ การเป็นนายกฯ ตั้งแต่ปี 57 ถือว่าเป็นนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จึงต้องนับ 1 ตั้งแต่ปี 57

ไม่ต้องให้ใครมานับให้เป็นภาระ ไม่ต้องหาใครมาตีความ พล.อ.ประยุทธ์ นับเองได้ว่าเป็นนายกฯ มา 8 ปีหรือยัง พล.อ.ประยุทธ์ จะยืนมึนงง ถ่วงเวลารอให้ประเทศต้องลงทุนไปเรื่อยๆ เพื่อให้ พล.อ.ประยุทธ์ ได้ไปต่อไม่ได้ ประชาชนจะไม่ยอมเห็นประเทศล้มเหลวคามือ พล.อ.ประยุทธ์ เพียงเพื่อให้กระบวนการสืบทอดอำนาจดำรงอยู่ต่อไป

“ที่เลวร้ายไปกว่านั้น ถ้าคิดจะนำโครงการคนละครึ่ง มาแบ่งกันเป็นนายกฯ อีกคนละ 2 ปี ในหมู่พี่น้อง 3 ป. จะได้สมประโยชน์ในเก้าอี้นายกฯ ตามโครงการคนละครึ่ง ประชาชนไม่ยอมแน่นอน” นายอนุสรณ์ กล่าว

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img