โฆษกรัฐบาลเผย รัฐบาลเดินหน้าขับเคลื่อนโครงการรถไฟความเร็วสูงสายอีสาน (กรุงเทพฯ-หนองคาย) ระยะที่ 1 ให้แล้วเสร็จตามแผน คาดเปิดให้บริการได้ในปี 2570
นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยถึงความคืบหน้าของโครงการความร่วมมือกับรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพฯ-หนองคาย และการเชื่อมโยงทางรถไฟระหว่างไทย สปป.ลาว และจีน ว่า ขณะนี้โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา อยู่ระหว่างการก่อสร้างงานโยธาของโครงการระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 250.77 กิโลเมตร ขณะนี้สามารถดำเนินการได้ตามแผนงานที่กำหนดไว้ โดยโครงการฯ ประกอบด้วย 15 สัญญา แยกเป็น งานโยธา 14 สัญญา และงานระบบ 1 สัญญา โดยกระทรวงคมนาคมกำลังเร่งดำเนินการเพื่อให้สามารถเปิดให้บริการได้ในปี 2570
นายอนุชา กล่าวถึงความคืบหน้าของงานโยธา 14 สัญญา ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จ 1 สัญญา ได้แก่ ช่วงกลางดง-ปางอโศก ซึ่งเป็นพื้นที่ทดสอบรูปแบบการก่อสร้าง และทดสอบวัสดุก่อสร้างไทย เพื่อเทียบมาตรฐานจีน ภายใต้การก่อสร้างของกรมทางหลวง ระยะทาง 3.5 กม. และอยู่ระหว่างการก่อสร้าง 9 สัญญา ได้แก่
1) ช่วงสีคิ้ว-กุดจิก ระยะทาง 11 กม.
2) งานอุโมงค์มวกเหล็กและลำตะคอง ซึ่งมีจุดเด่นคืองานก่อสร้างอุโมงค์ยาวรวม 8 กิโลเมตร และการก่อสร้างทางรถไฟระยะทางรวม 12.23 กิโลเมตร
3) ช่วงบันไดม้า-ลำตะคอง ระยะทาง 26.10 กม.
4) ช่วงลำตะคอง-สีคิ้วและช่วงกุดจิก-โคกกรวด ซึ่งมีจุดเด่นคือ มีงานก่อสร้างทางรถไฟระยะทางยาวที่สุดในโครงการ ระยะทาง 37.45 กม.
5) ช่วงโคกกรวด-นครราชสีมา ซึ่งเป็นงานก่อสร้างสถานีนครราชสีมา และการก่อสร้างทางรถไฟ ระยะทาง 12.38 กม.
6) ช่วงดอนเมือง-นวนคร ประกอบด้วย งานโครงสร้างทางรถไฟยกระดับ ระยะทางรวม 21.80 กม.
7) ช่วงนวนคร-บ้านโพ ระยะทาง 23 กม.
8) ช่วงพระแก้ว-สระบุรี ประกอบด้วย งานโครงสร้างทางรถไฟ ระยะทางรวม 31.60 กม. แบ่งเป็น คันทางระดับดิน 7.02 กม. ทางยกระดับ 24.58 กม.
9) ช่วงสระบุรี-แก่งคอย ซึ่งมีจุดเด่นคืองานก่อสร้างสถานีสระบุรี และการก่อสร้างทางรถไฟระยะทางรวม 12.99 กิโลเมตร
และเป็นการอยู่ระหว่างเตรียมก่อสร้าง 1 สัญญา ได้แก่ ศูนย์ซ่อมบำรุงเชียงรากน้อย ประกอบด้วย ทางรถไฟระดับพื้นในศูนย์ซ่อมบำรุง งานอาคารภายในศูนย์ซ่อมบำรุงรวมถนนต่อเชื่อม ได้แก่ อาคารระบบซ่อมบำรุงขบวนรถไฟ 19 อาคาร อาคารควบคุมระบบการจัดการเดินรถและฝึกอบรม 4 อาคาร อาคารสำหรับระบบซ่อมบำรุงทาง 8 อาคาร และงานก่อสร้างถนนงานระบบระบายน้ำและงานรื้อย้ายระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ และ ยังไม่ลงนาม 3 สัญญา ได้แก่ งานโยธาช่วงแก่งคอย-กลางดง และปางอโศก-บันไดม้า ระยะทาง 30.21 กม., ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ระยะทาง 15.21 กม. และช่วงบ้านโพ-พระแก้ว ระยะทาง 13.30 กม.
ล่าสุดราชกิจจานุเบกษาได้ประกาศพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน เพื่อดำเนินการก่อสร้างตามโครงการฯ ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา โดยมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 27 สิงหาคม 2565 เป็นต้นไป มีกำหนดระยะเวลา 4 ปี มีสาระสำคัญให้เจ้าหน้าที่เริ่มต้นเข้าสำรวจที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่ภายในแนวเขตที่ดินที่จะเวนคืน ให้การรถไฟแห่งประเทศไทยเป็นเจ้าหน้าที่ในการเวนคืน และให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมรักษาการตามพระราชกฤษฎีกา ทั้งนี้ โครงการรถไฟความเร็วสูงสายโคราช ภายในโครงการแบ่งทางวิ่งเป็น 3 รูปแบบคือ ทางวิ่งระดับดิน มีระยะทางรวม 54.09 กิโลเมตร ทางวิ่งยกระดับ มีระยะทางรวม 188.68 กิโลเมตร อุโมงค์ มีระยะทางรวม 8 กิโลเมตร รวมระยะทางในโครงการทั้งหมด 250.77 กิโลเมตรใช้เวลาเดินทาง 90 นาที โดยในโครงการมีสถานีทั้งหมด 6 สถานี ได้แก่ สถานีกลางบางซื่อ สถานีดอนเมือง สถานีอยุธยา สถานีสระบุรี สถานีปากช่อง สถานีนครราชสีมา (โคราช) มีศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟ และบำรุงทาง ทั้งหมด 3 แห่งคือ ศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟฟ้า และศูนย์ควบคุม เชียงรากน้อย ศูนย์ซ่อมบำรุงทาง สระบุรี และโคกสะอาด
“รัฐบาลให้ความสำคัญกับการลงทุนพัฒนาระบบรางทั่วประเทศ ทั้งในส่วนของระบบรถไฟฟ้าในเมือง รถไฟทางคู่เชื่อมโยงการขนส่งระหว่างเมือง และรถไฟความเร็วสูง เนื่องจากเป็นระบบขนส่งที่สนับสนุนการลดต้นทุนของภาคธุรกิจ อำนวยความสะดวกให้ประชาชน และเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่กระจายการเติบโตทางเศรษฐกิจไปยังภูมิภาค ทั้งภาคการค้าและการท่องเที่ยว เพื่อให้ระบบรางเป็นระบบหลักในการเดินทาง ขนส่งของประเทศ ตามยุทธศาสตร์ชาติ สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงสายอีสาน เชื่อมโยงภูมิภาคช่วงกรุงเทพฯ – หนองคาย (ระยะที่ 1 : ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา) รัฐบาลได้เร่งดำเนินการเพื่อให้สามารถเปิดให้บริการได้ในปี 2570 ซึ่งถือเป็นนโยบายสำคัญที่ต้องขับเคลื่อนให้เกิดผลเป็นรูปธรรม เพื่อให้การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ มีความเชื่อมโยงกันตลอดทั้งสาย รวมทั้งสามารถรองรับความต้องการในการเดินทางของประชาชน และการขนส่งสินค้าที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น รวมถึงสนับสนุนการขยายตัวของเมืองและพื้นที่เศรษฐกิจโดยรอบเส้นทาง ให้เกิดการกระจายความเจริญอย่างทั่วถึงต่อไป” นายอนุชา กล่าว