“ปตท.” เข้าลงทุนในบริษัท Nutrition Technologies ขยายความร่วมมือต่างประเทศ พัฒนาเทคโนโลยีการผลิตโปรตีนคุณภาพสูงจากแมลง ใช้เงินระดมทุน 20 ล้านเหรียญสหรัฐ
ดร.บุรณิน รัตนสมบัติ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่นวัตกรรมและธุรกิจใหม่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท. เปิดเผยว่า ปตท. ได้เข้าซื้อหุ้นเพิ่มทุนใน NTG Holding Pte. Ltd. (Nutrition Technologies: NT) บริษัทสัญชาติสิงคโปร์ที่ดำเนินธุรกิจด้านการพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ ระบบการเพาะพันธุ์แมลงวันทหารเสือ (Black Soldier Fly : BSF) และการบริหารจัดการทรัพยากรแบบครบวงจร
ทั้งนี้เพื่อต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงสำหรับใช้ในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์และการเกษตร อาทิ โปรตีนคุณภาพสูง ปุ๋ยอินทรีย์ และน้ำมันสกัดบริสุทธิ์ ซึ่งการใช้เทคโนโลยีเพื่อผลิตโปรตีนจากแมลงนี้ ถือเป็นนวัตกรรมใหม่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยการนำวัสดุอินทรีย์เหลือใช้ (Organic Waste) มาเข้าสู่กระบวนการหมักด้วยเทคโนโลยีพิเศษเพื่อใช้เป็นอาหารเลี้ยงแมลงวันทหารเสือ ซึ่งจะช่วยให้แมลงเจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็ว มีโปรตีนสูง สามารถนำไปสกัดเป็นโปรตีนคุณภาพสูงเพื่อทดแทนการใช้ปลาป่นในธุรกิจอาหารสัตว์และนำไปต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์ที่สร้างมูลค่าเพิ่มได้ต่อไป
โดยการลงทุนครั้งนี้ ปตท. เข้าเป็นผู้นำในการลงทุน ร่วมกับ Sumitomo, ING Sustainable Investments, Mandala Capital พร้อมทั้งนักลงทุนเดิมได้แก่ Openspace Ventures, SEEDs Capital, Hera Capital โดยบริษัท Nutrition Technologies ได้มีการระดมทุนในรอบนี้รวมประมาณ 20 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อนำเงินที่ได้ไปลงทุนก่อสร้างโรงงานทั้งในประเทศไทย หรือประเทศอื่นในอาเซียน
อย่างไรก็ตาม ปตท. มุ่งมั่นพัฒนาความเชี่ยวชาญและองค์ความรู้ในธุรกิจปิโตรเลียมมาอย่างต่อเนื่อง นอกจากการรุกสู่ธุรกิจพลังงานแห่งอนาคตแล้ว ปตท. ยังได้ขยายการลงทุนในธุรกิจใหม่นอกเหนือจากด้านพลังงาน เพื่อให้สอดคล้องกับทิศทางของโลกและผู้บริโภค และเป็นการสร้างโอกาสให้กับประเทศไทยที่จะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำทางด้านธุรกิจเพื่อความยั่งยืนอย่างแท้จริง ภายใต้แนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวม (BCG Model) ที่จะพัฒนาเศรษฐกิจไปใน 3 ด้าน ได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ ( Bioeconomy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy)
ทั้งนี้การลงทุนใหม่ที่เป็นเรื่องนวัตกรรม ปตท. ได้เข้าไปลงทุนในรูปแบบ Venture Capital เพื่อให้ได้มาซึ่งเทคโนโลยีในลักษณะ Open Innovation ผ่านโครงการ ExpresSo