พาณิชย์โชว์ยอดลงทุน 3 ไตรมาสปี 2565 ต่างชาติลงทุนในไทย 1 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 82% ญี่ปุ่นนำโด่ง 34,972 ล้านบาท รองลงมาเป็น จีน และสิงคโปร์ ก่อให้เกิดการจ้างงานคนไทย 4,041 คน
นายสินิตย์ เลิศไกร รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว รายงานว่า ในช่วง 3 ไตรมาสที่ผ่านมา (ม.ค. – ก.ย.) ของปี 2565 มีการอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย จำนวน 436 ราย โดยเป็นการลงทุนผ่านช่องทางการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวจำนวน 164 ราย และหนังสือรับรองประกอบธุรกิจ จำนวน 272 ราย เม็ดเงินลงทุนทั้งสิ้น 99,369 ล้านบาท จ้างงานคนไทยกว่า 4,041 คน
โดยชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุนมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ญี่ปุ่น 110 ราย สัดส่วน 25 % เงินลงทุน 34,972 ล้านบาท สิงคโปร์ 71 ราย สัดส่วน 16% เงินลงทุน 11,425 ล้านบาท สหรัฐอเมริกา 61 ราย สัดส่วน 14 % เงินลงทุน 3,305 ล้านบาท ฮ่องกง 28 ราย สัดส่วน 6% เงินลงทุน 7,788 ล้านบาท และ จีน 21 ราย สัดส่วน 5% เงินลงทุน 20,754 ล้านบาท
ทั้งนี้เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2564 (ม.ค. – ก.ย.) พบว่า การอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย เพิ่มขึ้น 47 ราย คิดเป็น 12% (ปี 2565 อนุญาต 436 ราย ปี 2564 อนุญาต 389 ราย) เม็ดเงินลงทุนเพิ่มขึ้น 44,781 ล้านบาท คิดเป็น 82 % (ปี 2565 ลงทุน 99,369 ล้านบาท ปี 2564 ลงทุน 54,588 ล้านบาท) และจ้างงานคนไทยเพิ่มขึ้น 490 ราย คิดเป็น14 % (ปี 2565 จ้างงาน 4,041 คน ปี 2564 จ้างงาน 3,551 คน) โดยปี 2564 ชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุนสูงสุด คือ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และ สหรัฐอเมริกา เช่นเดียวกับปี 2565
สำหรับธุรกิจที่ได้รับอนุญาตส่วนใหญ่เป็นธุรกิจที่สอดคล้องกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ นโยบายส่งเสริมการลงทุนของภาครัฐ และสนับสนุนธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ อาทิ
* บริการออกแบบ ก่อสร้าง ติดตั้ง และตรวจสอบระบบกักเก็บพลังงาน สำหรับโครงการโรงผลิตไฟฟ้าแบบผสมผสานสำหรับสนามบินอู่ตะเภา
* บริการขุดเจาะหลุมปิโตรเลียมภายในบริเวณพื้นที่แปลงสำรวจที่ได้รับสัมปทานในอ่าวไทย
* บริการขุดลอก ถมทะเลและก่อสร้างม่านดักตะกอนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ในโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด
* บริการสถานีอัดประจุไฟฟ้า (Electric Vehicle Charging Station) สำหรับรถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้า
* บริการทางวิศวกรรมและเทคนิค เช่น การให้คำปรึกษา เชิงเทคนิคแบบครบวงจรในการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ การช่วยเหลือด้านการออกแบบ การพัฒนา และทดสอบระบบ เป็นต้น
* บริการให้ใช้แพลตฟอร์มแอปพลิเคชัน และเว็บไซต์ สำหรับการขนส่งผู้โดยสารและสินค้า และสั่งซื้อสินค้าและบริการ
* บริการพัฒนาและให้บริการซอฟต์แวร์ด้านวิเคราะห์และเชื่อมโยงเพื่อบริหารจัดการข้อมูล Big Data, Data Analytics
ส่วนการลงทุนในพื้นที่ EEC ของนักลงทุนต่างชาติ 3 ไตรมาส (ม.ค. – ก.ย.) ปี 2565 มีนักลงทุนต่างชาติสนใจลงทุนในพื้นที่ EEC จำนวน 80 ราย คิดเป็น 18 % ของจำนวนนักลงทุนทั้งหมด โดยมีมูลค่าการลงทุนในพื้นที่ EEC กว่า 40,555 ล้านบาท คิดเป็น 41 % ของเงินลงทุนทั้งหมด ทั้งนี้ เป็นนักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่น 34 ราย ลงทุน 23,256
ล้านบาท สิงคโปร์ 8 ราย ลงทุน 2,006 ล้านบาท และ สหรัฐอเมริกา 6 ราย ลงทุน 1,075 ล้านบาท ธุรกิจที่ลงทุน อาทิ 1. บริการโทรคมนาคมเพื่อสาธารณะ (Public Switched Telecommunication Service) ภายในประเทศ ประเภทบริการขายต่อบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่
2. บริการทางวิศวกรรมและเทคนิค เช่น การให้คำปรึกษาเชิงเทคนิค และการออกแบบเครื่องจักร เครื่องกล เครื่องมือ และอุปกรณ์ และ 3. บริการตรวจสอบและวิเคราะห์สภาพการทำงานของเครื่องจักรชนิดหมุน โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Services) ด้วยระบบคลาวด์ (Cloud) และเทคโนโลยีเซ็นเซอร์ (Sensor Technology) เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม คาดว่าอีก 1 ไตรมาสที่เหลือ (ต.ค. – ธ.ค.) ของปี 2565 จะมีนักลงทุนต่างชาติเข้ามาประกอบธุรกิจในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง เป็นผลมาจากภาครัฐมีมาตรการส่งเสริมการลงทุน กระตุ้นเศรษฐกิจโดยให้มีการเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบ และเพิ่มการอำนวยความสะดวกให้แก่นักลงทุน ส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศเพิ่มขึ้น เป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยเสริมให้เศรษฐกิจของไทยฟื้นตัวได้เร็วขึ้น
ทั้งนี้ เฉพาะเดือนกันยายน 2565 มีการอนุญาตให้คนต่างชาติประกอบธุรกิจในประเทศไทย 55 ราย โดยเป็นการลงทุนผ่านช่องทางการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว และการขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว แบ่งเป็น ใบอนุญาตประกอบธุรกิจ จำนวน 23 ราย และหนังสือรับรองประกอบธุรกิจ จำนวน 32 ราย
โดยมีเม็ดเงินลงทุนทั้งสิ้น 16,086 ล้านบาท จ้างงานคนไทยกว่า 279 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการจากประเทศญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกาและสิงคโปร์ รวมถึง มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีอันเป็นองค์ความรู้เฉพาะด้านโดยตรงจากประเทศผู้เข้ามาลงทุนให้แก่คนไทย เช่น องค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับสตรีมมิ่งเซิร์ฟเวอร์ (Streaming Server) องค์ความรู้เกี่ยวกับความปลอดภัยในการทำงานนอกชายฝั่งทะเลและในสถานการณ์ฉุกเฉิน องค์ความรู้เกี่ยวกับเรือขนส่งก๊าซธรรมชาติเหลวและการขนส่งทางทะเล และองค์ความรู้พื้นฐานการปฏิบัติการใช้โปรแกรมและซอฟต์แวร์ซื้อขายสินค้าบนแพลตฟอร์มออนไลน์ เป็นต้น
สำหรับธุรกิจที่คนต่างด้าวได้รับอนุญาต ได้แก่
* บริการจัดหาวัสดุอุปกรณ์ และติดตั้งแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียม (Wellhead Platforms)
* บริการกิจการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce) โดยการเป็นผู้ให้บริการระบบฝากซื้อขายสินค้าและบริการ ผ่านเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน
* บริการพัฒนา ติดตั้ง โปรแกรมคอมพิวเตอร์ทุกประเภท คลาวด์เซิฟเวอร์ (Cloud Server) และเว็บไซต์
* บริการติดตั้ง ซ่อมแซมและบำรุงรักษาระบบไฟส่องสว่างบนถนนอัตโนมัติ
* บริการศูนย์กระจายสินค้าด้วยระบบที่ทันสมัย เป็นต้น