ธปท.เผยธนาคารกลางทั่วโลกเดินหน้านโยบายการเงินเพื่อคุมเงินเฟ้อ ย้ำนโยบายการเงินไทยเน้นสร้างการพื้นตัวเศรษฐกิจไม่สร้างแรงกดดันต่อตลาดจึงถอนคันเร่งแบบค่อยเป็นค่อยไป
นายปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ในการประชุมของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ประเมินว่าเศรษฐกิจโลกยังมีความไม่แน่นอนสูง และมีความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้น โดยมี 3 ปัจจัยที่ต้องจับตา คือ 1. เงินเฟ้อของทั่วโลกที่อยู่ในระดับสูง โดยคาดว่าปีนี้จะอยู่ที่ 8.8% 2. เศรษฐกิจโลกมีทิศทางที่จะชะลอตัวลงอย่างชัดเจนในช่วงปลายปีนี้-ปีหน้า โดยคาดว่าจะมีจำนวนประเทศ 1 ใน 3 ของโลกที่เศรษฐกิจอาจเติบโตต่ำกว่า 2% และ 3. ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ เช่น ปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน และจีน-สหรัฐ ที่สร้างความไม่แน่นอนต่อเศรษฐกิจโลก
ขณะที่ธนาคารกลางของทั่วโลก กำลังมุ่งดำเนินนโยบายการเงินเพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าอย่างรวดเร็ว และสูงสุดในรอบ 20 ปี ซึ่งมีผลกระทบส่งต่อมายังเศรษฐกิจของทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่ประเทศที่พัฒนาแล้ว ประเทศตลาดเกิดใหม่ รวมถึงประเทศไทยเอง
นอกจากนี้สถานการณ์ดังกล่าวได้สร้างความเปราะบางต่อเสถียรภาพและระบบการเงินโลก ทำให้เห็นสัญญาณความอ่อนไหวของหลายตลาด เช่น ตลาดพันธบัตรในอังกฤษ ตลาดพันธบัตรในสหรฐที่มีความไม่ปกติ จึงนับเป็นความเสี่ยงที่ธนาคารกลางของทุกประเทศต้องดูแลให้เศรษฐกิจของประเทศตัวเองผ่านพ้นความเสี่ยงนี้ไปให้ได้
” ธนาคารกลางควรจะต้องมองทะลุความไม่แน่นอนเหล่านั้น และไม่เพิ่มความไม่แน่นอนของนโยบายการเงินให้มากขึ้นไปอีกจากความไม่แน่นอนที่มีอยู่ นโยบายการเงินจะต้องมีความยืดหยุ่นตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป…นโยบายการเงินของไทย จึงมุ่งทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่อง ไม่สะดุด ไม่สร้างแรงกดดันเพิ่มเติม ซึ่งต่างจากบริบทของสหรัฐ ที่ต้องการดึงเศรษฐกิจให้ชะลอเพื่อลดความร้อนแรง และดึงเงินเฟ้อลง ในขณะที่ของเราอยากให้เศรษฐกิจโตต่อเนื่อง เพราะตอนนี้เศรษฐกิจยังโตไม่เท่ากับตอนก่อนโควิด ยังห่างไกลระดับศักยภาพ เราจึงต้องถอนคันเร่งแบบค่อยเป็นค่อยไป”
สำหรับกรณีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศของไทยที่ปรับลดลงว่า โดยหลักการแล้ว เงินทุนสำรองฯ จะลดลงได้จาก 2 ปัจจัย กล่าวคือ 1.จากการตีราคาที่ลดลง และ 2.จากการเข้าดูแลค่าเงิน ซึ่งที่ผ่านมา สาเหตุส่วนใหญ่ที่เงินทุนสำรองฯ ของไทยลดลง จะมาจากกรณีของการตีราคาที่ลดลงตามการเปลี่ยนแปลงของดอลลาร์สหรัฐเป็นหลัก
อย่างไรก็ตาม กนง. จะพยายามดำเนินนโยบายการเงินให้ตลาดสามารถคาดการณ์ทิศทางได้ ไม่ต้องการจะเซอร์ไพร์สตลาด แต่ท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังมีความไม่แน่นอนสูงนี้ อาจทำให้ธนาคารกลางทั่วโลกคาดเดาสถานการณ์ในอนาคตได้ยาก ดังนั้นการจะให้ผูกมัดลงไปชัดเจนว่าจะต้องดำเนินนโยบายการเงินอย่างใดอย่างหนึ่ง อาจจะไม่เหมาะสมนัก โดยสถานการณ์โลกมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด และเมื่อถึงเวลานั้นจริงๆ อาจไม่สามารถทำตามที่เคยบอกไว้ได้ ดังนั้น การสื่อสารของ กนง.จึงขอให้น้ำหนักกับการติดตามพัฒนาการทางเศรษฐกิจในอนาคต เราไม่อยากจะผูกมัดคำพูดไว้ เพราะจะทำให้กลายเป็น Policy uncertainty
“การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยน่าจะยังขึ้นต่อไปอีกระยะ แต่จะไปหยุดตอนไหนนั้น ต้องขึ้นอยู่กับการตอบสนองของเงินเฟ้อต่อเศรษฐกิจในช่วงเวลานั้นว่าจะเป็นอย่างไร และเห็นว่าคงอีกสักระยะกว่าที่เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวได้เต็มศักยภาพ โดยประเมินว่าอาจต้องใช้เวลา 1 ปีครึ่ง – 2 ปี”