กกพ.เปิด 3 ทางเลือกขึ้นค่าไฟงวดเดือนเดือนม.ค.-เม.ย.2566 พร้อมสั่งการไฟฟ้าฯ ลดค่าบริการรายเดือนจาก 38.22 เหลือ 24.62 บาทต่อเดือน หวังลดภาระบ้านอยู่อาศัย กิจการขนาดเล็ก
นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในฐานะ โฆษกคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า ในการประชุม กกพ. เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2565 มีมติรับทราบภาระต้นทุนค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ(ค่าเอฟที)ประจำรอบ พ.ค.- ส.ค. 2565 และเห็นชอบผลการคำนวณประมาณค่าเอฟทีสำหรับงวดเดือนม.ค. – เม.ย. 2566 พร้อมให้กกพ. นำค่าเอฟทีประมาณการ และแนวทางการจ่ายภาระต้นทุนคงค้างที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แบกรับในกรณีต่าง ๆ ดังนี้
กรณีที่ 1 ค่าเอฟทีเรียกเก็บประจำงวดเดือน ม.ค. – เม.ย. 2566 จำนวน 224,98 สตางค์ต่อหน่วย แบ่งเป็นเอฟทีขายปลีกประมาณการที่สะท้อนต้นทุนเดือน ม.ค. – เม.ย. 2566 จำนวน 158.31 สตางค์ต่อหน่วย และเงินทยอยเรียกเก็บเพื่อชดเชยต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงบางส่วน 66.67 สตางค์ต่อหน่วยเพื่อให้กฟผ. ได้รับเงินคืนครบภายใน 1 ปี โดย กฟผ. ต้องบริหารภาระต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงแทนประชาชน 81,505 ล้านบาท ทำให้ค่าไฟฟ้าปรับเพิ่มขึ้นเป็น 6.03 บาทต่อหน่วย
กรณีที่ 2 ค่าเอฟทีเรียกเก็บประจำงวดเดือน ม.ค. – เม.ย. 2566 จำนวน 191.64 สตางค์ต่อหน่วย แบ่งเป็น เอฟที่ขายปลีกประมาณการที่สะท้อนต้นทุนเดือน ม.ค. – เม.ย. 2566 จำนวน 158.31 สตางค์ต่อหน่วย และเงินทยอยเรียกเก็บเพื่อชดเชยต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงบางส่วน 33.33 สตางค์ต่อหน่วยเพื่อให้ กฟผ. ได้รับเงิน คืนครบภายใน 2 ปี โดย กฟผ. จะบริหารภาระต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงแทนประชาชน 101,881 ล้านบาท ทำให้ค่าไฟฟ้า ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 5.70 บาทต่อหน่วย
กรณีที่ 3 ค่าเอฟทีเรียกเก็บประจำงวดเดือน ม.ค.-เม.ย. 2566 จำนวน 158.31 สตางค์ต่อหน่วย โดย กฟผ. จะรับภาระต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงแทนประชาชน 122,257 ล้านบาท ทำให้ค่าไฟฟ้า ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 5.37 บาทต่อหน่วย
นอกจากนี้กกพ.ได้พิจารณาทบทวนอัตราค่าบริการรายเดือนที่ผ่านการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในระหว่างวันที่ 3 – 17 ต.ค.2565 แล้ว และเห็นชอบให้มีการปรับอัตราค่าบริการรายเดือนลดลงสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้า 3 ประเภท ซึ่งเร่งประสานการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายเพื่อให้การปรับลดอัตราค่าบริการมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2566 เป็นต้นไป ดังนี้
1.ประเภทบ้านอยูาอาศัย ใช้มากกว่า 150 หน่วย รวมถึงประเภทบ้านอยู่อาศัย เดิม 38.22 บาท/เดือน เป็น 24.62 บาท/เดือน
2.กิจการขนาดเล็ก เดิม 46.16 บาท/เดือน เป็น 32.29 บาท/เดือน
3.กิจการสูบน้ำเพื่อการเกษตร เดิม 228.17 บาท/เดือน เป็น 204.07 บาท/เดือน