บีโอไอเตรียมคลอดมาตรการส่งเสริมการลงทุนชุดใหม่ เสนอ “บิ๊กตู่” ลงนามให้มีผลวันที่ 3 ม.ค. 66 หวังดึงอุตสาหกรรมต้นน้ำเทคโนโลยีไฮเทคมาไทย ให้สิทธิประโยชน์สูงสุด 15 ปี พร้อมเสนอเงินให้เปล่าจากกองทุนเพิ่มขีดความสามารถ 9,000 ล้านบาท
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า บีโอไอได้เตรียมออกประกาศมาตรการส่งเสริมการลงทุนชุดใหม่ ให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลงนาม เพื่อให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 3 ม.ค.2566 เป็นต้นไป
ทั้งนี้เป็นมาตรการภายใต้ยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุน 5 ปี (2566-2570) ประกอบด้วย 9 มาตรการ ประเด็นใหม่ที่น่าสนใจที่สุด คือ มาตรการส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ และเป็นเป้าหมายใหม่ในการดึงอุตสาหกรรมต้นน้ำที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูงเข้ามาตั้งฐานการผลิตในไทย ซึ่งจะมีความสำคัญต่อการผลิตอุตสาหกรรมต่อเนื่อง
โดยได้จัดเป็นกลุ่มสิทธิประโยชน์สูงสุดเป็นกลุ่ม A1+ ได้แก่ อุตสาหกรรมต้นน้ำที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูง และกิจการพัฒนา เทคโนโลยีเป้าหมาย (Biotech, Nanotech, Advanced Material Tech) จะได้รับการยกเว้นภาษี 10-13 ปี ซึ่งไม่เคยให้ระดับนี้มาก่อน
พร้อมกับสิทธิประโยชน์การยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร ยกเว้นอากรขาเข้าวัตถุดิบผลิตเพื่อส่งออก และหากกิจการเหล่านี้พร้อมที่จะถ่ายทอดเทคโนโลยีร่วมกับสถาบันการศึกษา/วิจัยในไทย ทางบริษัทที่จะลงทุนสามารถขอเข้าช่องทางเพื่อเจรจากับรัฐบาลไทย เพื่อขอเงินสนับสนุนจากเงินกองทุนเพื่อส่งเสริมขีดความสามารถของประเทศ ซึ่งมีวงเงินอยู่กว่า 9,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินให้เปล่าได้ด้วย
ทั้งนี้เห็นว่าไทยมีจุดแข็งหลายด้านในการดึงดูดการลงทุน แต่เราจะหยุดนิ่งไม่ได้ เพราะทุกประเทศจะพัฒนาไปมากกว่าเรา โดยจุดแข็งเดิมเรามีโครงสร้างพื้นฐานดี ฐานอุตสาหกรรมสนับสนุนมีความพร้อม บุคลากรโดยรวมมีคุณภาพ ตลาดในประเทศมีขนาดใหญ่และมีศักยภาพ สิทธิประโยชน์แข่งขันได้ และมีความสัมพันธ์ที่ดีกับต่างประเทศ
พร้อมกันนี้ประเทศไทยมีจุดแข็งใหม่ ได้แก่ โครงสร้างพื้นฐานคุณภาพสูงและมีพื้นที่รองรับอุตสาหกรรมอนาคตในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) มีมาตรการการให้วีซ่าพำนักระยะยาว (LTR) 10 ปี การออกสมาร์ทวีซ่า เพื่อดึงดูดชาวต่างชาติคุณภาพสูง มีความสามารถจัดหาพลังงานสะอาดให้กับภาคอุตสาหกรรม มีความยืดหยุ่นรองรับวิกฤติ เช่นในช่วงเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ประเทศไทยได้รับคำชมจากนักลงทุนต่างๆ ว่าไทยเป็นประเทศที่บริหารจัดการได้ดีทำให้พวกเขาไม่ต้องหยุดการผลิต เหมือนในบางประเทศ ทำให้หลายบริษัท เช่น มินิแบ ตัดสินใจเพิ่มการลงทุนในไทยจากที่ลงทุนอยู่แล้ว
สำหรับกรณีที่นักลงทุนต่างชาติย้ายฐานการผลิตเข้าเวียดนามมากกว่าไทย ซึ่งเห็นว่า แต่ละประเทศก็มีจุดแข็งต่างกัน เวียดนามมีแรงงานที่เป็นคนหนุ่มสาวเยอะ ค่าแรงถูกกว่า 2 ใน 3 ของค่าแรงไทย เวียดนามมีเขตการค้าเสรีมากกว่าไทย เช่น มีกับสหภาพยุโรปที่ไทยไม่มี เวียดนามปกครองด้วยระบบคอมมิวนิสต์ มีความเบ็ดเสร็จมากกว่าไทย ที่ดินเป็นของรัฐบาลทั้งหมด สามารถมีลูกเล่น ให้ใช้ที่ดินฟรีหรือราคาถูกก็ได้
ส่วนไทยที่ดินเป็นของเอกชน แต่จุดแข็งของเวียดนามอาจไม่เหมาะกับทุกอุตสาหกรรม เพราะอุตสาหกรรมที่ย้ายฐานการผลิตเข้าไปยังเป็นกลุ่มที่ต้องใช้แรงงานมาก เช่น การประกอบเครื่องใช้ไฟฟ้า การประกอบอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งไม่ใช่เป้าหมายของไทยแล้ว โดยเป้าหมายของเราต้องการขยับไปสู่ตลาดบน ตลาดไฮเทค ซึ่งคู่แข่ง คือ มาเลเซีย
นอกจากนี้การส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า (รถอีวี) มีประชาชนให้การตอบรับเป็นอย่างดี ทำให้มีค่ายรถอีกจำนวนมากที่เข้ามาติดต่อ เพื่อหารือถึงการเข้ามาลงทุนในประเทศไทย ทั้งจากจีน ญี่ปุ่น ยุโรป และสหรัฐฯ คาดว่าการลงทุนโรงงานแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่จะเลือกมาลงทุนในไทยแน่นอน