วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
spot_img
หน้าแรกHighlightผงะเอ็นพีแอลเกษตรกรท่วมแบงก์ “อาคม”สั่ง“ธ.ก.ส.”เร่งแก้หนี้เสีย
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

ผงะเอ็นพีแอลเกษตรกรท่วมแบงก์ “อาคม”สั่ง“ธ.ก.ส.”เร่งแก้หนี้เสีย

“อาคม” สั่ง ธ.ก.ส.เร่งแก้ปัญหาหนี้เสีย หลังเอ็นพีแอลปูด 12.5% เน้นปรับโครงสร้างหนี้เกษตรกร ตั้งเป้าลดเหลือ 8.99% ภายในสิ้น มี.ค.66 ด้านผู้จัดการ ธ.ก.ส.ชี้ เกษตรกรเจอ “โควิด-น้ำท่วม-ต้นทุนแพง” ฉุดความสามารถชำระหนี้


นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้ ธ.ก.ส.เร่งแก้ไขหนี้เสียที่มี แนวโน้มสูงขึ้น โดยปัจจุบันอยู่ที่ 12.5% ซึ่งธนาคารจะต้องลงไปดูแลในพื้นที่ ตลอดจนผ่อนปรนมาตรการต่าง ๆ เพื่อแก้ปัญหาหนี้เสียให้ได้ผล ซึ่งคณะกรรมการให้ความสำคัญ และติดตามสถานการณ์ทุกเดือน โดยที่ผ่านมา ธนาคารก็พยายามเข้าไปช่วยเหลือ เช่น จัดมหกรรมแก้หนี้ เป็นต้น

“ธ.ก.ส.ก็มีการลงพื้นที่ไปดูแลสถานะลูกค้าอย่างใกล้ชิด เป็นการยืดเวลาชำระ ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้กับเกษตรกรลูกค้าที่มีสถานะเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) โดยการดำเนินการก็มีความก้าวหน้าตามลำดับ อย่างไรก็ดี ยังต้องทำให้เข้มข้นมากขึ้น เนื่องจากมีลูกหนี้ที่ไหลมาจากมาตรการพักชำระหนี้ไว้เดิม ซึ่งเมื่อหมดระยะเวลาโครงการก็ทำให้เป็น NPL เพราะเกษตรกรได้รับผลกระทบจากหลายเรื่อง ทั้งการแพร่ระบาดของโควิด-19 ต้นทุนแพง ประกอบกับเจอสถานการณ์น้ำท่วมด้วย จึงทำให้ความสามารถในการชำระหนี้คืนค่อนข้างที่จะลำบาก”นายอาคมกล่าว 

อย่างไรก็ตาม คาดว่าสิ้นปีบัญชี 2565 (30 มี.ค.2566) จะพยายามแก้ไขหนี้เสีย ให้ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 8.99% ซึ่งก็ต้องพยายามทำให้ได้ ด้วยมาตรการที่จะเข้าไปดูแลระดับพื้นที่ รวมถึงขณะนี้ ธ.ก.ส.ก็ได้ขยายมาตรการการพักชำระหนี้ ออกไปจนถึงสิ้นปีบัญชี 2565 เพื่อให้มาตรการเข้าไปช่วยแก้ปัญหา และลด NPL ให้ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้

นายธนารัตน์ งามวลัยรัตน์ ผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าวว่า การชำระหนี้ของลูกค้า ธ.ก.ส.จะเป็นรายปีตามฤดูการเก็บเกี่ยวผลผลิต โดยเกษตรกรยังไม่มีรายได้เข้ามา ซึ่งเกษตรกรส่วนใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกษตรกรผู้ปลูกข้าว จะมีรายได้เข้ามาในช่วงเดือน พ.ย.-ธ.ค. และที่ผ่านมา บางรายก็เจอปัญหาน้ำท่วม ส่วนนี้ก็จะมีมาตรการเข้าไปดูแล เช่น การลดหนี้ให้ เป็นต้น

“เรามีความมั่นใจว่า เกษตรกรส่วนใหญ่ มีวินัยทางการเงิน แต่ด้วยที่ผ่านมาศักยภาพการชำระหนี้ลดลง เนื่องจาก แหล่งที่มาของรายได้ลด เพราะปัญหาที่เกิดขึ้น ทั้งปัญหาต้นทุนเงิน หนี้สินภาคครัวเรือน และต้นทุนการผลิต ทำให้เกษตรกรเป็นหนี้สะสมมา อย่างไรก็ดี เราก็มีความมุ่งมั่นที่จะเข้าไปดูแล และทำงานร่วมกับเกษตรกร จึงคาดว่าในสิ้นปีบัญชี 2565 หนี้เสียเกษตรกรจะลดลงมาได้ตามเป้าหมาย แม้เป็นเรื่องที่ท้าทาย แต่ถ้าเกษตรกรมีรายได้จากฤดูกาลผลิต และหากข้าว มันสำปะหลัง มีราคาสูงขึ้น รวมทั้งช่วงต้นเดือน ธ.ค.65 จะถึงการเก็บเกี่ยวผลผลิตอ้อย ก็จะทำให้เกษตรกรมีรายได้มากขึ้น”นายธนารัตน์ ระบุ

ส่วนแนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายแล้ว 2 ครั้ง แต่ ธ.ก.ส.ก็ยังคงตรึงดอกเบี้ยเงินกู้ไว้อยู่ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร โดยปัจจุบันดอกเบี้ย MRR ของธนาคารที่คิดจากลูกค้ารายย่อยอยู่ที่ระดับ 6.5% ขณะที่ MLR และ MOL นั้น อยู่ที่ระดับ 4.00% สำหรับลูกค้าผู้ประกอบการรายใหญ่ และ ภายในสิ้นเดือน ธ.ค.นี้ ธนาคารก็จะยังไม่ปรับ ขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ ส่วนปีหน้าต้องพิจารณาว่า หากต้นทุนของธนาคารยังอยู่ในระดับที่สามารถเข้ามาช่วยเหลือลดต้นทุนเกษตรกรได้ ก็อาจจะยังตรึงดอกเบี้ยได้

อย่างไรก็ตาม ่ ช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ธ.ก.ส.และสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐอื่น ๆ ยังตรึงดอกเบี้ยเงินกู้มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอย่างน้อยจะตรึงอัตราดอกเบี้ยให้ถึงสิ้นปี 2565 นี้อย่างแน่นอน ส่วนในปี 2566 นั้น จะต้องขอติดตามสถานการณ์หลังการประชุม กนง. ในวันที่ 30 พ.ย.นี้อีกครั้ง

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img