วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
spot_img
หน้าแรกHighlightคนไทยกุมขมับค่าครองชีพพุ่งนิวไฮรอบ 14 เดือน
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

คนไทยกุมขมับค่าครองชีพพุ่งนิวไฮรอบ 14 เดือน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยฯ ประเมิน ดัชนี KR-ECI เดือนพ.ย.65 ปรับขึ้นสูงสุดในรอบ 14 เดือน ครัวเรือนไทยกังวลลดลงเกี่ยวกับภาระค่าครองชีพพุ่ง ขณะที่เงินเฟ้อยังเป็นปัจจัยฉุดรั้งต่อความต้องการใช้จ่ายในช่วงสิ้นปี


รายงานข่าวจากศูนย์วิจัยกสิกรไทยแจ้งว่า ในเดือนพ.ย.65 ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนปัจจุบันปรับตัวเพิ่มขึ้นระดับสูงสุดในรอบ 14 เดือน แต่ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าช่วงก่อนโควิด-19 ที่ 35.0 จาก 33.8 ในเดือนต.ค. 65 และดัชนี KR-ECI 3 เดือนข้างหน้าก็ปรับตัวเพิ่มขึ้นเช่นกันที่ 36.4 จาก 35.7 ในเดือนต.ค. 65

สะท้อนว่าครัวเรือนมีความกังวลลดลงเกี่ยวกับภาระค่าใช้จ่าย สอดคล้องกับดัชนีเงินเฟ้อไทยเดือนพ.ย.65 ที่แผ่วลงเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกันที่ 5.55% โดยราคาสินค้าในหลายรายการมีการปรับขึ้นในอัตราที่ชะลอลง เช่น ผักและผลไม้อย่างผักคะน้า ถั่วฝักยาว กระหล่ำปี และข้าว เป็นต้น

นอกจากนี้ ราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศอย่างน้ำมันเบนซินและแก๊สโซฮอล์เดือนต.ค.ได้ปรับลดลงเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน ขณะที่ประเทศไทยยังคงมีการตรึงราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลอยู่ที่ลิตรละ 35 บาทเป็นเดือนที่ 6 ติดต่อกัน เช่นเดียวกับค่าไฟฟ้าที่ขณะนี้อยู่ที่ 4.72 บาทต่อหน่วยถึงเดือนธ.ค. 65 ก็มีแนวโน้มที่อาจถูกตรึงไปจนถึงช่วงต้นปีหน้า

นอกจากนี้ การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว (ณ 4 ธ.ค.65 มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาไทยแล้วกว่า 9.09 ล้านคน และสร้างรายได้ให้กับไทยกว่า 3 แสนล้านบาท) ได้หนุนให้การบริโภคและการจ้างงานภายในประเทศปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยไตรมาส 3/65 การจ้างงานของไทยขยายตัว 2.1%YoY รวมถึงชั่วโมงการทำงานเฉลี่ยต่อสัปดาห์ของภาคเอกชนก็ปรับเพิ่มขึ้นสูงกว่าระดับก่อนช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ 46.9 ชั่วโมงต่อสัปดาห์


อย่างไรก็ดี ครัวเรือนยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับรายได้ในระยะข้างหน้า สะท้อนผ่านดัชนีดังกล่าวที่ปรับลดเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า (กังวลมากขึ้น) โดยมาจากความกังวลเกี่ยวกับเงินเดือนและผลตอบแทน เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังอยู่ในช่วงฟื้นตัว

อีกทั้งในระยะข้างหน้ายังมีแนวโน้มเผชิญปัจจัยที่ท้าทายสำคัญหลายประการจากแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่มีความเสี่ยงที่จะชะลอลง ซึ่งจะฉุดรั้งความต้องการสินค้าจากไทย ประกอบกับปริมาณคำสั่งซื้อจากจีนที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง แม้จีนจะเริ่มมีการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด โดยการส่งออกไทยเดือนต.ค.65 เผชิญกับการหดตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 20 เดือน

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าภาพรวมการส่งออกไทยปีนี้จะขยายตัวได้ต่ำกว่า 7.8%YoY ที่ประเมินไว้เดิม ซึ่งอาจกระทบต่อภาคการผลิตและการจ้างงานในประเทศ นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่ารายได้เกษตรกรในปี 66 อาจหดตัวอยู่ที่ราว 0.8%YoY จากแรงกดดันด้านราคา

อย่างไรก้ตาม ในระยะข้างหน้า การฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนยังมีความเปราะบางจากการเผชิญกับหลายปัจจัยเสี่ยงสำคัญ โดยเฉพาะราคาพลังงานโลกที่แม้จะเริ่มลดลงแต่ก็ยังมีความเสี่ยงที่อาจผันผวนได้

อีกทั้ง แนวโน้มเงินเฟ้อในประเทศอาจไม่ปรับลดลงมาได้เร็วท่ามกลางการส่งผ่านต้นทุนของผู้ประกอบการมายังผู้บริโภคอย่างต่อเนื่องประกอบกับการลดการอุดหนุนราคาพลังงานของภาครัฐ ขณะที่เศรษฐกิจหลักของโลกอย่างสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป มีแนวโน้มที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิคในช่วงปีหน้า

ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อไปยังความต่อเนื่องของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย นอกจากนี้ ทิศทางการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของกนง. (โดยปี 2566 คาดปรับขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 1.75-2.00%) อาจส่งผลกระทบต่อต้นทุนทางการเงินของภาคครัวเรือนจากแนวโน้มการส่งผ่านอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์มากขึ้น

โดยปัจจุบันเริ่มเห็นทิศทางการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในกลุ่มลูกค้ารายย่อยของธนาคารต่าง ๆ แล้ว ทั้งนี้ คงต้องติดตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ ที่คาดว่าจะมีความชัดเจนมากขึ้นก่อนช่วงสิ้นปี เช่น มาตรการลดหย่อนทางภาษี มาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายและท่องเที่ยว เป็นต้น ซึ่งอาจต้องพิจารณาถึงความสอดคล้องของมาตรการกับกลุ่มเป้าหมายเพิ่มเติม

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img