วันเสาร์, มิถุนายน 29, 2024
หน้าแรกHighlight“เงินบาทอ่อน”หลุด 35 บาทต่อดอลลาร์ในรอบ 1 สัปดาห์กว่า
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“เงินบาทอ่อน”หลุด 35 บาทต่อดอลลาร์ในรอบ 1 สัปดาห์กว่า

เงินบาทเปิดตลาดเช้านี้ที่ระดับ 35.10 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง” ในรอบ 1 สัปดาห์กว่า หลังดอลลาร์แข็ง ท่ามกลางความกังวลเศรษฐกิจโลกชะลอตัว หลังเฟดเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงิน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 35.10 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง” ในรอบ 1 สัปดาห์กว่า นับจาก 8 ธ.ค.ที่ผ่านมา จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 34.92 บาทต่อดอลลาร์ โดยแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า ภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดอาจยังคงหนุนความต้องการถือสินทรัพย์ปลอดภัยอย่างเงินดอลลาร์ในช่วงนี้ กดดันให้เงินบาทยังมีโอกาสเคลื่อนไหวอ่อนค่าลงได้ ซึ่งเราประเมินว่า หากเงินบาทอ่อนค่าลง แนวต้านสำคัญแรกของเงินบาทจะอยู่ในโซน 35.10-35.20 บาทต่อดอลลาร์ โดยต้องจับตาฟันด์โฟลว์ของนักลงทุนต่างชาติ ว่าจะมีแรงขายสินทรัพย์ไทยมากขึ้นขนาดไหน

อย่างไรก็ดี เงินบาทอาจไม่ได้อ่อนค่าทะลุโซนแนวต้านไปมาก หากไม่ได้มีปัจจัยลบอื่นๆ เข้ามากดดันเพิ่มเติม เนื่องจากผู้เล่นส่วนใหญ่ในตลาด ต่างก็รอจังหวะให้เงินบาทอ่อนค่าเพื่อทยอยขายเงินดอลลาร์ หรือ เพิ่มสถานะ Short USDTHB (มองว่าเงินบาทยังมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นในระยะถัดไป)

การเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ผันผวนสูงในช่วงที่ผ่านมาได้สะท้อนถึงความจำเป็นของการใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทำให้เราคงแนะนำ ผู้ประกอบการควรใช้กลยุทธ์ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้ Options ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงได้ดีในช่วงที่ตลาดผันผวนหนักมองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.90-35.20 บาท/ดอลลาร์

ตลาดการเงินฝั่งสหรัฐฯ พลิกกลับมาอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) มากขึ้น ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยของเฟดอาจกดดันให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวลงหนักและเสี่ยงเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย

นอกจากนี้ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ล่าสุด อย่าง ยอดค้าปลีก (Retail Sales) ในเดือนพฤศจิกายน ได้หดตัว -0.6% จากเดือนก่อนหน้า แย่กว่าที่ตลาดคาดไปมาก ทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ มากขึ้น กดดันให้ดัชนี S&P500 ดิ่งลงกว่า -2.49%

ส่วนทางด้านตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ของยุโรป ดิ่งลง -2.85% ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องของบรรดาธนาคารกลางหลัก โดยล่าสุด ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย Deposit Facility Rate +0.50% สู่ระดับ 2.00% พร้อมทั้งส่งสัญญาณเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง จนกว่า ECB จะมั่นใจว่าสามารถคุมปัญหาเงินเฟ้อได้สำเร็จ

นอกจากนี้ ทาง ECB ยังได้ประกาศเตรียมปรับลดงบดุล (Balance Sheet Reduction) เดือนละ 1.5 หมื่นล้านยูโร ในเดือนมีนาคมหน้า จนถึงสิ้นไตรมาสที่ 2 ซึ่งแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยและการปรับลดงบดุลของ ECB ได้ส่งผลให้ ผู้เล่นในตลาดต่างเทขายหุ้นเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth อาทิ Adyen -8.7%, ASML -5.8%

ทางด้านตลาดบอนด์ แม้ว่าบรรดาธนาคารกลางหลักจะส่งสัญญาณพร้อมเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่อง ทว่า ความกังวลผลกระทบของการขึ้นดอกเบี้ยดังกล่าว ที่อาจทำให้บรรดาเศรษฐกิจหลักเข้าสู่ภาวะถดถอยได้ในปีหน้า ทำให้ผู้เล่นในตลาดยังคงทยอยเข้าซื้อสินทรัพย์ปลอดภัยมากขึ้น ส่งผลให้บอนด์ยีลด์ระยะยาว อย่าง บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวลดลงใกล้ระดับ 3.46% ซึ่งเรามองว่า ในระยะสั้น บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจแกว่งตัว sideways ไปก่อน จนกว่าจะมีปัจจัยใหม่ๆ เข้ามา ทำให้ตลาดมั่นใจในแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ หรือ ทิศทางนโยบายการเงินของเฟดมากขึ้น

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวผันผวนหนัก โดยมีจังหวะอ่อนค่าลงในช่วงที่ตลาดรับรู้ผลการประชุมของ ECB ก่อนที่จะพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องในช่วงตลาดปิดรับความเสี่ยง ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปีหน้า ส่งผลให้ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 104.5 จุด อย่างไรก็ดี แม้ว่าบรรยากาศในตลาดการเงินจะอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง

อีกทั้งบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังย่อตัวลงบ้าง แต่การแข็งค่าขึ้นเร็วของเงินดอลลาร์ได้กดดันให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ก.พ.) ปรับตัวลดลงต่อเนื่องสู่ระดับ 1,786 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเราประเมินว่า การย่อตัวลงของราคาทองคำ อาจทำให้มีโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัวกลับเข้ามาบ้าง ซึ่งโฟลว์ดังกล่าวก็มีส่วนในการกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลง

สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจหลัก ทั้งในฝั่งสหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น ผ่านรายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอุตสาหกรรมและภาคการบริการ (Manufacturing and Services PMIs) ซึ่งสำรวจโดย S&P Global อาทิ ในฝั่งญี่ปุ่น ตลาดมองว่า การทยอยเปิดประเทศของญี่ปุ่นจะช่วยหนุนให้ดัชนี PMI ภาคการบริการในเดือนธันวาคม อาจปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 50.5 จุด ในขณะที่ การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและจีนจะกดดันให้ภาคอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นชะลอลงตัวลง สอดคล้องกับการปรับตัวลงต่อเนื่องของดัชนี PMI ภาคการผลิตสู่ระดับ 49 จุด

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img