“ธนกร” เผย ภาพรวมนโยบายแก้หนี้ครัวเรือนของรัฐเห็นผลสำเร็จ หลังไตรมาส 2 ของปี 65 สัดส่วนหนี้ต่อ GDP ลดลง 88.2% ลั่นนายกฯเห็นความทุกข์ของลูกหนี้ ถือเป็นกลุ่มเปราะบางทางการเงินที่ต้องเร่งช่วย หวังคนไทยที่เป็นหนี้ได้รับอิสรภาพทางการเงิน
เมื่อวันที่ 19 ธ.ค.65 นายธนกร วังบุญคงชนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ภาพรวมการดำเนินการ “ปี 2565 ปีแห่งการแก้หนี้” ภายใต้นโยบายของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ที่ให้ทุกส่วนราชการ สถาบันการเงินภาครัฐและเอกชน ร่วมแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนให้ได้อย่างจริงจังนั้น ทำให้สถานการณ์หนี้ครัวเรือนไทยปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดพบว่า สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ในไตรมาส 2 ปี 2565 เหลือ 88.2% ลดลงจากไตรมาส 1 ปี 2565 ที่ 89.1% และไตรมาส 4 ปี 2564 ที่สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP สูงถึง 90%
โดยหนี้ครัวเรือน 4 อันดับแรกยังคงเป็น 1.เงินกู้เพื่อซื้อที่อยู่อาศัย ซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 34.6 ของหนี้ครัวเรือนรวม 2.เงินกู้เพื่อการบริโภคอุปโภคส่วนบุคคลสัดส่วนร้อยละ 28.0 ของหนี้ครัวเรือนรวม 3.เงินกู้เพื่อการประกอบธุรกิจ สัดส่วนร้อยละ 18.2 ของหนี้ครัวเรือนรวม และ 4.เงินกู้เพื่อซื้อหรือเช่าซื้อรถยนต์/รถจักรยานยนต์ สัดส่วนร้อยละ 12.3 ของหนี้ครัวเรือนรวม
นายธนกร กล่าวต่อว่า รัฐบาลแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนผ่านมาตรการต่าง ๆ ได้แก่ 1.การแก้ปัญหาหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) โดยปฏิรูปรูปแบบการชำระหนี้ อาทิ การปรับปรุงรูปแบบการจ่ายชำระหนี้คืน จากรายปีเป็นรายเดือน ชำระคืนค่างวดแบบเฉลี่ยเท่ากันทุกเดือน ขยายระยะเวลาการผ่อนชำระจาก 15 ปี เป็น 25 ปี ปรับปรุงลำดับการตัดชำระหนี้ โดยนำไปตัดเงินต้นก่อน แล้วจึงตัดดอกเบี้ย ปรับลดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ เหลือร้อยละ 2 ต่อปี เป็นต้น 2.การแก้ปัญหาหนี้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ เช่น การประกาศกรอบอัตราค่าใช้จ่ายในการทวงถามหนี้ที่ช่วยคุ้มครองลูกหนี้ ไม่ให้ถูกเรียกเก็บเงินในการทวงถามหนี้เกินความจำเป็น 3.การแก้ปัญหาหนี้สินข้าราชการโดยเฉพาะข้าราชการครู ยุบยอดหนี้โดยใช้ทรัพย์สินและรายได้ของครูในอนาคต เพื่อให้ยอดหนี้ลดลงและสามารถชำระคืนได้จากเงินเดือน การปรับดอกเบี้ยเงินกู้ให้ลดลงเหลือไม่เกินร้อยละ 5
รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า 4.หนี้สินข้าราชการตำรวจ การขอความร่วมมือสหกรณ์ออมทรัพย์ตำรวจเช่วยเหลือสมาชิกสหกรณ์ ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 พักชำระหนี้เงินต้น ปรับลดอัตราการถือหุ้นรายเดือน จัดทำโครงการปล่อยเงินกู้ระยะสั้นดอกเบี้ยต่ำ และการลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 5.การปรับลดและทบทวนโครงสร้างและเพดานอัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม และการออกมาตรการคุ้มครองสิทธิ์ของลูกหนี้ กระทรวงการคลังปรับลดเพดานเงินกู้สินเชื่อ PICO Finance เหลือร้อยละ 33 จากร้อยละ 36 ธปท. สนับสนุนการรีไฟแนนซ์และการรวมหนี้ และ 6.การปรับปรุงขั้นตอนในกระบวนการยุติธรรม มีการจัดตั้งศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางธุรกิจและการเงิน เน้นไกล่เกลี่ยข้อพิพาทผ่านระบบออนไลน์ โดยประชาชนสามารถยื่นคำร้องด้วยตนเองหรือผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งนี้ ที่ผ่านมากระทรวงยุติธรรมจัดมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ เพื่อขับเคลื่อนการแก้ไขหนี้ครัวเรือนให้ประชาชน เดินสายไปทุกจังหวัด ทั่วประเทศ สามารถลดปัญหาหนี้สินประชาชนได้ กว่า 200,000 ราย มูลหนี้มากกว่า 30,000 ล้านบาท ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างสูง นอกจากนี้ ล่าสุดกระทรวงการคลังยังร่วมกับผู้แทนจากสถาบันการเงินและหน่วยงานราชการในพื้นที่ จัดมหกรรมร่วมใจแก้หนี้“มีหนี้ต้องแก้ไข เริ่มต้นใหม่อย่างยั่งยืน” จำนวน 5 ครั้งทั่วทุกภูมิภาค ซึ่งครั้งที่ 4 จะจัดขึ้นที่จังหวัดชลบุรี ระหว่างวันที่ 20-22 มกราคม 2566 ณ ศาลาประชาคมเทศบาลเมืองบ้านสวน และครั้งที่ 5 ที่จังหวัดสงขลา ระหว่างวันที่ 27-29 มกราคม 2566 ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
“ท่านนายกฯ เห็นถึงความทุกข์ของลูกหนี้ และถือเป็นกลุ่มเปราะบางทางการเงินที่ต้องเร่งเข้าไปช่วยผ่อนปรนภาระหนี้ ด้วยการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้สอดคล้องกับศักยภาพของลูกหนี้ เปิดโอกาสให้เข้าถึงแหล่งทุนใหม่ เสริมสภาพคล่องพร้อมๆ ไปกับการส่งเสริมการเพิ่มรายได้ และพัฒนาทักษะทางการเงิน ส่งผลให้ลูกหนี้ส่วนหนึ่งกลับมาฟื้นฟูความสามารถในการชำระหนี้ เป็นผลให้ภาพรวมสัดส่วนหนี้ต่อ GDP ปรับตัวดีขึ้น ทั้งนี้ นโยบายการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่เริ่มต้นในปี 2565 ไปแล้วนั้น จะยังคงเดินหน้าต่อ เพราะท่านนายกฯ ต้องการเห็นคนไทยที่เป็นหนี้ได้รับอิสรภาพทางการเงิน เพื่อช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในภาพรวมอีกด้วย” นายธนกร กล่าว