ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ เผยการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดของคนต่างชาติในไตรมาส 3 ปี 2565 เพิ่มขึ้น 62.9% จีนโอนมากที่สุด 48.5%
ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ เปิดเผยภาพรวมสถานการณ์การโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้คนต่างชาติทั่วประเทศ ในไตรมาส 3 ปี 2565 โดยพบว่า หน่วยโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้คนต่างชาติทั่วประเทศมีจำนวน 2,860 หน่วย เพิ่ม 62.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นในเชิงจำนวนหน่วยสูงสุดในรอบ 5 ไตรมาส นับจากไตรมาส 3 ปี 2564 และยังมีจำนวนหน่วยที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยรายไตรมาสในช่วง 3 ปี ที่เกิด COVID-19 (ปี 2563 – 2564) 36.7% ที่มีจำนวน 2,092 หน่วย/ไตรมาส
สำหรับมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้คนต่างชาติทั่วประเทศมีจำนวน 14,668 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 58.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นในเชิงจำนวนมูลค่าสูงสุดในรอบ 7 ไตรมาส นับจากไตรมาส 1 ปี 2564 และยังเพิ่มสูงกว่าค่าเฉลี่ยมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ฯ ในช่วง 2 ปี ที่มีการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่มีมูลค่าเพียงไตรมาสละ 9,979 ล้านบาท/ไตรมาส
หากพิจารณาในภาวะการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้คนต่างชาติสะสมในช่วง 9 เดือน ปี 2565 พบว่ามีจำนวน 7,290 หน่วย เพิ่มขึ้น 19.0% มูลค่า 36,986 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 24.3% โดยมีพื้นที่โอนกรรมสิทธิ์ 337,914 ตร.ม.เพิ่มขึ้น 28.3% ซึ่งแสดงให้เห็นว่า สถานการณ์การโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดของคนต่างชาติในปี 2565 ที่ผ่านมา 3 ไตรมาสแล้วนั้นน่าจะแสดงให้เห็นได้ว่า ตลาดห้องชุดคนต่างชาติในภาพรวมน่าจะมีการฟื้นตัวขึ้นแล้ว และการซื้อห้องชุดของคนต่างชาติในช่วงก่อนหน้าได้มีการรับโอนกรรมสิทธิ์อย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังมีแรงซื้อใหม่จากชาวต่างชาติที่ไม่ใช่ผู้ซื้อชาวจีนเข้ามาทดแทนแรงซื้อห้องชุดของชาวจีนที่หายไปจากข้อจำกัดการเดินทางออกนอกประเทศในช่วงที่ผ่านมาด้วยเช่นกัน
สัดส่วนการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้คนต่างชาติในไตรมาส 3 ปี 2565 มีสัดส่วนหน่วยโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้คนต่างชาติ 9.7% โดยเพิ่มสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมีสัดส่วน 9.3% เพียงเล็กน้อย ขณะที่มูลค่าโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้คนต่างชาติ มีสัดส่วน 18.6% เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนมากพอสมควร และมีสัดส่วน 16.7% ส่วนพื้นที่ห้องชุดที่มีการโอนกรรมสิทธิ์ให้คนต่างชาติ มีสัดส่วน 12.9% เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนเล็กน้อย ซึ่งมีสัดส่วน 12.0%
สัดส่วนห้องชุดใหม่และห้องชุดมือสอง ที่มีการโอนกรรมสิทธิ์ให้คนต่างชาติในไตรมาส 3 ปี 2565 มีการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้คนต่างชาติเป็นห้องชุดใหม่ต่อห้องชุดมือสองเป็นอัตราส่วน 69.3% : 30.7% และพบว่าห้องชุดใหม่มีการโอนกรรมสิทธิ์เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า
ในขณะที่มูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้คนต่างชาติเป็นห้องชุดใหม่ต่อห้องชุดมือสองเป็นอัตราส่วน 77.1% : 22.9% ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงกว่าไตรมาสก่อนหน้า
ในส่วนพื้นที่ที่มีมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้คนต่างชาติเป็นห้องชุดใหม่ต่อห้องชุดมือสองเป็นอัตราส่วน 61.9% : 38.1% ซึ่งเป็นสัดส่วนพื้นที่ห้องชุดใหม่มีการโอนกรรมสิทธิ์เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า แต่ในขณะเดียวกันห้องชุดมือสองมีการโอนกรรมสิทธิ์ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า
การที่สัดส่วนการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้คนต่างชาติเป็นห้องชุดใหม่เพิ่มมากขึ้นทั้งจำนวนหน่วย มูลค่า และพื้นที่ โดยมีข้อสังเกตว่า คนต่างชาติอาจมีความต้องการห้องชุดใหม่เพิ่มมากขึ้นและความต้องการอยู่ในทำเลพื้นที่ชั้นใน หรือ พื้นที่ใกล้ศูนย์กลางธุรกิจของเมือง ซึ่งในปัจจุบันมีอุปทานให้เลือกมากขึ้น ประกอบกับราคาห้องชุดใหม่ในทำเลเหล่านี้มีให้เลือกเพิ่มมากขึ้น ทำให้ห้องชุดใหม่จึงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับคนต่างชาติ นอกเหนือจากสัญชาติจีนแล้ว ยังได้รับความสนใจจากกลุ่มผู้ซื้อจาก รัสเซีย สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร เยอรมัน และฝรั่งเศส ตามลำดับ
ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2565 (มกราคม – กันยายน) จะพบว่า ชาวจีน เป็นสัญชาติที่มีการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดมากที่สุดทั่วประเทศมีการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้ชาวจีนไปแล้วทั้งหมด 3,562 หน่วย คิดเป็นสัดส่วนที่สูงถึง 48.9% ของหน่วยทั้งหมด โดยมี 4 สัญชาติที่มีสัดส่วนการโอนกรรมสิทธิ์อันดับรองลงมา ได้แก่ รัสเซีย จำนวน 420 หน่วย คิดเป็น 5.8% ถัดมาคือ สหรัฐอเมริกา จำนวน 375 หน่วย คิดเป็น 5.1% สหราชอาณาจักร จำนวน 267 หน่วย คิดเป็น 3.7% อับดับ 5 คือ เยอรมัน จำนวน 231 หน่วย คิดเป็น 3.2% ตามลำดับ
ในส่วนของมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดทั่วประเทศให้คนต่างชาติทั่วประเทศช่วง 9 เดือนแรกของปี 2565 (มกราคม – กันยายน) จะพบว่ามีการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้ชาวจีน เป็นมูลค่าสูงสุด จำนวน 17,943 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนที่สูงถึง 48.5% ของมูลค่าทั้งหมด ส่วน 4 สัญชาติที่มีสัดส่วนมูลค่าการโอนรองลงมาคือ สหรัฐอเมริกา จำนวน 1,611 ล้านบาท คิดเป็น 4.4% ถัดมา คือ ฝรั่งเศส จำนวน 1,431 ล้านบาท คิดเป็น 3.9% รัสเซีย จำนวน 1,361 ล้านบาท คิดเป็น 3.7% และพม่า จำนวน 1,342 ล้านบาท คิดเป็น 3.6% ตามลำดับ
จากข้อมูลที่พบในช่วง 9 เดือนแรก มีข้อสังเกตว่า ผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดชาวจีนมีจำนวน 3,562 คน คิดเป็น 48.9% และมีมูลค่า 17,943 ล้านบาท คิดเป็น 48.5% ของชาวต่างชาติที่โอนกรรมสิทธิ์ทั้งหมด ซึ่งเป็นประเด็นที่น่าสนใจว่า สัดส่วนการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดของผู้ซื้อชาวจีนได้ปรับลดลงเหลือประมาณ 50% จากที่ในปีช่วงก่อนหน้าอยู่ที่ประมาณ 55% – 60% ซึ่งน่าจะเป็นผลมาจาการดำเนินนโยบาย Zero-COVID ในประเทศจีน ทำให้การเดินทางของชาวจีนมีข้อจำกัดในช่วงที่ผ่านมา
แต่ได้พบว่า กลุ่มผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ในกลุ่มประเทศรัสเซีย ยุโรป และสหรัฐอเมริกาเริ่มมีสัดส่วนที่ปรับเพิ่มขึ้นกว่าปีก่อน และเป็นที่น่าสนใจอย่างมากอีกเช่นกันที่เราได้เห็นตัวเลขของหลายประเทศในกลุ่ม ASEAN ที่แม้ว่าจะมีจำนวนหน่วยและมูลค่าการซื้อไม่มากนัก แต่กลับมีสัดส่วนการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดปรับเพิ่มขึ้นทั้งจำนวนหน่วยและมูลค่าอย่างมีนัยสำคัญ ดังเช่น ชาวเมียนมาร์ กัมพูชา ลาว และเวียดนาม รวมถึงชาวมาเลเซียที่มีการเข้ามาซื้อห้องชุดไทยอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา
ปรากฏการณ์เช่นนี้ อาจกล่าวได้ว่าเป็นอานิสงค์ที่ได้รับจาการเปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศไทยและประเทศต่าง ๆ มากขึ้น ดังนั้นจึงอาจคาดการณ์ได้หากประเทศจีนเปิดประเทศในปีหน้า น่าจะช่วยให้ตลาดอาคารชุดไทยสำหรับคนต่างชาติของไทยสามารถเติบโตได้อีกครั้งหนึ่ง