“ททท.” เตรียมโรดโชว์จีนช่วงสัปดาห์ที่ 3 เดือนก.พ. ขายแพ็กเกจจับกลุ่มทัวร์-นักท่องเที่ยวเดินางด้วยตนเอง ขณะที่คมนาคมจัดระบบพร้อมรับนักท่องเที่ยว “ทอท.” คาด ปี 66 ผู้โดยสารโดยรวม 67-118 ล้านคน
นายชูวิทย์ ศิริเวชกุล ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียตะวันออก การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า หลังจีนประกาศเปิดประเทศวันที่ 8 ม.ค.2566 ด้าน ททท.เตรียมโรดโชว์ ที่ประเทศจีนสัปดาห์ในช่วงสัปดาห์ที่ 3 เดือนก.พ.2566 ในพื้นที่เมืองหลัก ประกอบด้วย เมืองเซี่ยงไฮ้ กว่างโจว เฉิงตู ซึ่งเป็นการโรดโชว์ปแบบขายแพ็กเกจ ให้กับท่องเที่ยวเดินทางด้วยตัวเองและแบบกลุ่มทัวร์ เพื่อเตรียมความพร้อมกับนักทิ่องเที่ยวจีน โดยมีผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยวไทย-จีน เข้าร่วมกว่า 120 ราย
สำหรับกลุ่มของเมืองหลัก เช่น เซี่ยงไฮ้ กว่างโจว ส่วนใหญ่จะเป็นนักท่องเที่ยวเดินทางด้วยตัวเอง ขณะเดียวกันในวันที่ 11 ม.ค.66 ไลฟ์สดขายแพ็กเกจท่องเที่ยวประเทศไทย เตรียมจัดแคมเปญส่งเสริมการตลาดแบบพรีเซล (ขายล่วงหน้า) ครั้งใหญ่ ขายแพ็กเกจท่องเที่ยวเฉพาะ มาประเทศไทยให้กับนักท่องเที่ยวกลุ่มเดินทางด้วยตัวเอง (เอฟไอที)
รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคมแจ้งว่า กระทรวงคมนาคมได้เตรียมความพร้อมของมาตรการต่างๆในการรองรับการเดินทางสำหรับผู้โดยสารจากประเทศจีน ตั้งแต่สนามบิน ซึ่งเป็นประตูของประเทศ และระบบขนส่งทางบก ที่เชื่อมกับสนามบินไปยังสถานที่ต่างๆ ให้เพียงพอ และมีมาตรฐานความปลอดภัย
โดยจากสถิติในปี 2562 ก่อนเกิดสถานการณ์โควิด -19 พบว่า สนามบิน 6 แห่ง ของ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. (AOT) มีผู้โดยสารรวมจำนวน 11.9 ล้านคน/เดือน หรือประมาณ 143 ล้านคน/ปี
แบ่งเป็นผู้โดยสารระหว่างประเทศ 7.1 ล้านคน/เดือน ผู้โดยสารภายในประเทศ 4.7 ล้านคน/เดือนซึ่งเมื่อเดือนธ.ค.2565 ที่ผ่านมา จำนวนผู้โดยสารเฉลี่ย มีจำนวน 278,454 คน/วัน หรือประมาณ 8.3 ล้านคน/เดือน คิดเป็น 70% ของจำนวนผู้โดยสารในปี 2562
แบ่งเป็น ผู้โดยสารระหว่างประเทศ 141,155 คน/วัน หรือ ประมาณ 4.2 ล้านคน/เดือน คิดเป็น 60 % ของจำนวนผู้โดยสารในปี 2562 ,ผู้โดยสารภายในประเทศ 131,298 คน/วัน หรือประมาณ 3.9 ล้านคน/เดือน คิดเป็น 90% ของจำนวนผู้โดยสารในปี 2562
นอกจากนี้ หากแยกเป็นผู้โดยสารสัญชาติจีน จะพบว่า ในปี 2562 ผู้โดยสารรวม ทั้งหมด 143 ล้านคน มีสัญชาติจีนจำนวน 38 ล้านคน หรือ 26%
โดยเดินทางผ่านสนามบินสุวรรณภูมิมากที่สุด 12 ล้านคน หรือ 19% จากผู้โดยสารรวม 65 ล้านคน
เดินทางผ่านสนามบินดอนเมือง จำนวน 7 ล้านคน หรือ 31% จากผู้โดยสารทั้งหมด 23 ล้านคน
เดินทางผ่านสนามบินภูเก็ต จำนวน 6.3 ล้านคน หรือ 35% จากผู้โดยสารทั้งหมด 18 ล้านคน
เดินทางผ่านสนามบินเชียงใหม่ จำนวน 5.5 ล้านคน หรือ 50% จากผู้โดยสารทั้งหมด 11 ล้านคน
เดินทางผ่านสนามบินเชียงราย จำนวน 1.8 ล้านคน หรือ 72% จากผู้โดยสารทั้งหมด 2.5 ล้านคน
เดินทางผ่านสนามบินหาดใหญ่ จำนวน 1 แสนคน หรือ 3 % จากผู้โดยสารทั้งหมด 3.6 ล้านคน
ทอท.ได้มีการคาดการณ์ ผู้โดยสารตลอด ปีงบประมาณ 2566 (ต.ค.65-ก.ย.2566) ไว้ดังนี้ กรณีดีที่สุด (Best Case) คาดว่ามีผู้โดยสารรวมจำนวน 118 ล้านคน แบ่งเป็น ผู้โดยสารระหว่างประเทศ จำนวน 64.4 ล้านคน ผู้โดยสารภายในประเทศ จำนวน 54.3 ล้านคน
กรณีปกติ (Base Case ) คาดว่ามีผู้โดยสารรวมจำนวน 95.7 ล้านคน แบ่งเป็น ผู้โดยสารระหว่างประเทศ จำนวน 48.5 ล้านคน ผู้โดยสารภายในประเทศ จำนวน 47.2 ล้านคน
กรณีแย่ที่สุด (Worst Case ) คาดว่ามีผู้โดยสารรวมจำนวน 67.7 ล้านคน แบ่งเป็น ผู้โดยสารระหว่างประเทศ จำนวน 30.3 ล้านคน ผู้โดยสารภายในประเทศ จำนวน 37.4 ล้านคน
รายงานข่าว จากทอท. แจ้งว่า วันที่ 9 ม.ค. 2566 จะมี 2 เที่ยวบิน จากจีน พร้อมนักท่องเที่ยวเข้าประเทศไทย ภายหลังจีนเปิดประเทศ โดยเที่ยวบินแรก คือ MF 833 จากเมืองเซี่ยเหมิน (Xiamen) มีผู้โดยสารประมาณ 286 คน กำหนดถึงไทยเวลา 12.50 น. ซึ่งนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา ร่วมต้อนรับนักท่องเที่ยวจีน
ขณะที่ เที่ยวบินที่ 2 คือ CZ 3081 จากเมืองกว่างโจว (Guangzhou) พร้อมผู้โดยสารประมาณ 252 คน กำหนดถึงไทย เวลาประมาณ 15.00 น.
และในวันที่12 ม.ค. 2566 เบื้องต้นจะมี 3 เที่ยวบินได้แก่เที่ยวบิน VZ 3527 จากเมืองหนานจิง ถึงไทยเวลา 00.50 น. เที่ยวบิน MF 869 จากเมือง เทียนจิน ถึงไทยเวลา 12.50 น. และเที่ยวบิน MU 9613 จากเมือง คุนหมิงถึงไทยเวลา 14.55 น.
จากนั้น คาดว่า จีนจะมีการเพิ่มเที่ยวบินจากจีน ตามลำดับ ซึ่งปลายปี 2565 จีน ประสาน CAAT เพื่อจัดสรรเที่ยวบินระหว่างไทย-จีน เพิ่มจาก 3 เที่ยวบินต่อสัปดาห์เป็น 15 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ขณะที่ในตารางบินฤดูหนาว 2565/2566 ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 30 ต.ค. 2565 พบว่า มีสายการบิน ทุกสัญชาติ ที่ทำการบินขนส่งผู้โดยสารจากประเทศจีนมายัง สนามบินสุวรรณภูมิ จำนวน 26 สายการบิน
สำหรับสนามบินสุวรรณภูมิ แม้ผู้โดยสารจะยังไม่มากเท่าเดิม แต่กลับ มีปัญหาความแออัดคับคั่งของผู้โดยสารบริเวณจุดตรวจหนังสือเดินทาง (ตม.) ซึ่งได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบเป็น Snake Line เพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่ให้บริการ
อีกจุดคือ ปัญหากระเป๋าสัมภาระล่าช้า เนื่องจากผู้ให้บริการ 2 ราย คือบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI และ บริษัท บริการภาคพื้นการบินกรุงเทพเวิลด์ไวด์ไฟลท์เซอร์วิส จำกัด (BFS) ประสบปัญหาขาดแคลนบุคลากรและอุปกรณ์ ซึ่งเร่งให้ผู้ประกอบการปรับปรุงแก้ไข จัดหาบุคลากรและอุปกรณ์ให้เพียงพอ ขณะที่ทอท.เร่งหาผู้ประกอบการรายที่3 เข้ามาเพิ่ม
สำหรับสนามบินดอนเมือง ซึ่งหากผู้โดยสารจีนเพิ่มมากขึ้น อาจจะมีการพิจารณาเปิดใช้ Service Hall รองรับกรุ๊ปทัวร์ แต่เนื่องจากเมื่อ วันที่ 18 เมษายน 2565 อาคารดังกล่าวเกิดถล่ม พังลง ขณะมีฝนตกหนักและมีแรงลมปะทะ จนมีการตั้งข้อสังเกต ว่าตัวอาคารไม่สามารถรับแรงปะทะของลมได้ตามมาตรฐาน และฐานรากและโครงสร้างของอาคาร อาจมีปัญหาเรื่องความมั่นคงแข็งแรงด้วย
ซึ่งที่ผ่านมาแม้กระทรวงคมนาคมจะตั้งคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงแต่ไม่ได้มีการแจ้งข้อสรุปต่อสาธารณชน แต่อย่างใด จึงมีความหวั่นเกรงและมีข้อสงสัยถึงความปลอดภัยของอาคารฯหากจะนำมาใช้งานตามวัตถุประสงค์เดิม เพราะหากเกิดเหตุในลักษณะเดิมอีก และเกิดผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้โดยสาร จะส่งผกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้โดยสารและประเทศอย่างมาก
สำหรับระบบขนส่งเชื่อมต่อจากสนามบินไปยังสถานที่ต่างๆ ปัจจุบัน พบว่า จำนวนรถแท็กซี่ ที่ลงทะเบียนให้บริการในสนามบินสุวรรณภูมิ และดอนเมือง มีจำนวนลดลงมาก โดยสนามบินสุวรรณภูมิ มีสมาชิกแท็กซี่ในระบบ จำนวน 4,615 คัน แต่มีรถแท็กซี่เข้ามาวิ่งให้บริการ ประมาณ 2,940 คัน ซึ่งคาดว่าจะไม่เพียงพอต่อการให้บริการ ต้องเร่งเพิ่ม
รายงานข่าวแจ้งว่า รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ ระบบขนส่งมวลชนที่เชื่อมกับสนามบินสุวรรณภูมิ ค่อนข้างน่ากังวล เนื่องจาก ระบบขัดข้องบ่อย ขบวนรถมีน้อย บนขบวนรถแออัด มีความล่าช้า ที่ผ่านมา เคยเกิดเหตุขัดข้อง ล่าช้า จนทำให้ผู้โดยสารตกเครื่องบิน