ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์เศรษฐกิจเมียนมาปี 64 หดตัว (-)0.5% ถึง (-)2.5% หลังกองทัพเมียนมายึดอำนาจรัฐบาล ส่งผลให้การค้าชายแดนไทย-เมียนมาหดตัวอีกเป็นปีที่ 5
ในภาพรวมทางเศรษฐกิจเมียนมา การเข้ายึดอำนาจของกองทัพเมียนมาจะทำให้เกิดความไม่แน่นอนทางการเมือง และเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ตลอดจน ฐานะทางการเงินของภาครัฐ รวมทั้งยังส่งผลกระทบต่อการควบคุมการระบาดของโควิด เช่น ทำให้เกิดความล่าช้าในการแจกจ่ายวัคซีน ประกอบกับความเสี่ยงในการสูญเสียสิทธิพิเศษทางการค้าระหว่างเมียนมา กับ EU และสหรัฐ ฯ ที่อาจจะเกิดขึ้นและส่งผลเป็นวงกว้าง ครอบคลุมถึงการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรม ที่มีการจ้างงานกว่า 1 ล้านตำแหน่งในอุตสาหกรรมสิ่งทอ และตัดเย็บเสื้อผ้า ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจของเมียนมาจะอยู่ในกรอบ (-)0.5% ถึง (-)2.5% ในปี 2564

สำหรับผลกระทบต่อประเทศไทย จะเกิดขึ้นผ่านทาง 2 ช่องทางหลัก ได้แก่ การค้าชายแดน และ การเคลื่อนย้ายแรงงานเมียนมาเข้ามาในประเทศไทย
ในประเด็นการค้าชายแดนและผลกระทบต่อไทยคงต้องพิจารณาจากสถานการณ์เศรษฐกิจ การค้า การลงทุนที่จะมีผลต่อการซื้อสินค้าของไทยผ่านพรมแดนไทยกับเมียนมาที่เป็นช่องทางหลักในการส่งออกสินค้าไทยถึงถึงร้อยละ 75 ของการส่งออกทั้งหมดของไทยไปเมียนมา โดยภาพรวมการส่งออกชายแดนไทยไปเมียนมาในปี 2563 ที่ผ่านมา ได้รับผลกระทบจากกำลังซื้อและการคุมเข้มการเข้าออกทั้งคนและสินค้าจากปัญหาโควิด-19 จึงฉุดให้การส่งออกทรุดตัวถึงร้อยละ (-)12.4 มีมูลค่าส่งออกต่ำกว่าแสนล้านบาทต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 โดยมีมูลค่า 87,090 ล้านบาท

อย่างไรก็ดี คงต้องเฝ้าติดตามการเปิด-ปิดด่านค้าขายแดน ดังเช่นการปิดด่านอย่างกระทันหันบริเวณพรมแดนด่านแม่สาย จ.เชียงราย เมื่อวันจันทร์ที่ 1 ก.พ. 64 แม้ว่าในขณะนี้จะเปิดให้บริการตามปกติแล้ว แต่ก็เป็นสัญญาณถึงความไม่แน่นอนที่อาจจะมีมาตรการในการตรวจคนและสินค้าข้ามแดนเพิ่มเติมจากมาตรการคุมเข้มเดิมที่ใช้รับมือกับสถานการณ์โควิด-19 ในปัจจุบัน อันจะทำให้การส่งออกทางชายแดนในทุกช่องทางระหว่างไทยกับเมียนมาไม่ราบรื่น ประกอบกับสถานการณ์เศรษฐกิจของเมียนมาที่เปราะบางอยู่แล้วจากปัญหาโควิด-19 อีกทั้งยังต้องรับมือกับปมการการเมืองในประเทศ ที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นในด้านการค้าการลงทุนกับนานาชาติ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การส่งออกชายแดนไทยในปี 2564 แม้ในภาพรวมจะได้อานิสงส์จากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นช่วยพยุงการค้าไว้ได้ระดับหนึ่ง แต่ความเปราะบางทางเศรษฐกิจของเมียนมาจะยิ่งส่งผลอย่างมากทำให้การผลิตและการบริโภคในภาพรวมทรุดตัวลงกดดันให้สินค้าไทยที่ส่งผ่านชายแดนไปเมียนมาในปี 2564 จะยังหดตัวต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 (-) 0.5% มีมูลค่าการค้าลดลงเหลือราว 86,600 ล้านบาท
โดยเมียนมายังต้องพึ่งพาไทยทางการเมียนมาจึงไม่น่าจะเพิ่มมาตรการคุมเข้มทางพรมแดนมากกว่าที่เป็นอยู่ ดังนั้นสินค้าไทยที่น่าจะยังทำตลาดได้ โดยเฉพาะกลุ่มของใช้ในชีวิตประจำวัน อาทิ เครื่องดื่มประเภทต่างๆ เครื่องสำอาง ขนมขบเคี้ยว บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป รวมถึงน้ำมันสำเร็จรูปน้ำมันสำเร็จรูป กระนั้นก็ดี ถ้าหากเศรษฐกิจและภาคการส่งออกของเมียนมายังประคองตัวเติบโตได้ในปีนี้ ก็น่าจะช่วยผลักดันให้การส่งออกชายแดนไทยไปเมียนมาในภาพรวมและในกลุ่มสินค้าขั้นกลางเป็นอีกหนึ่งแรงขับเคลื่อนการส่งออกให้เร่งตัวขึ้นมาเป็นบวกได้ที่ 1.0% มีมูลค่าการค้า 87,900 ล้านบาท แต่ถ้าหากเศรษฐกิจของเมียนมาไม่สามารถเรียกความเชื่อมั่นกลับมาได้โดยเร็ว และมีการเพิ่มใช้มาตรการเข้มงวดบริเวณพรมแดนอย่างต่อเนื่องการส่งออกชายแดนไทยอาจหดตัวลึกลงไปอีกที่ราว (-)1.6% มีมูลค่าการค้า 85,700 ล้านบาท
ส่วนประเด็นการเคลื่อนย้ายแรงงานเมียนมาเข้ามาในประเทศไทย ปัจจุบันมีแรงงานต่างด้าวในประเทศไทยที่เข้ามาอย่างถูกกฎหมายประมาณ 2.8 ล้านคน โดยส่วนใหญ่เป็นแรงงานเมียนมา และในช่วงปีที่ผ่านมาจากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด ทำให้แรงงานเมียนมาเดินทางกลับประเทศไปไม่ต่ำกว่า 1 แสนคน ซึ่งปัจจุบันเนื่องจากยังมีการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19อยู่ แรงงานเหล่านี้จึงยังไม่สามารถกลับมาทำงานที่ไทยได้ ประกอบกับ การเข้ายึดอำนาจของกองทัพเมียนมาทำให้เกิดความไม่แน่นอนทางนโยบาย

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นโยบายการเคลื่อนย้ายแรงงานระหว่างประเทศ เช่น ความเสี่ยงในการปิดด่าน หรือการใช้มาตรการตรวจเข้มพลเมืองที่เดินทางเข้าออกประเทศ ซึ่งมาตรการเหล่านี้จะเป็นอุปสรรคต่อทั้งการรับแรงงานใหม่ และการรับแรงงานเมียนมาเดิมให้กลับเข้ามาทำงานที่ไทยอีกครั้งอย่างถูกกฎหมาย ความไม่แน่นอนเชิงนโยบายเหล่านี้จะส่งผลให้ประเทศไทยขาดแคลนแรงงานที่ถูกกฎหมายในภาคธุรกิจต่าง ๆ ซึ่งปัจจุบัน ภาคธุรกิจที่แรงงานเมียนมาทำงานอยู่ส่วนใหญ่ ได้แก่ ธุรกิจเกษตรและปศุสัตว์ (25%) ธุรกิจค้าปลีกและร้านอาหาร (17%) ธุรกิจก่อสร้าง (15%) ธุรกิจประมงและสินค้าประมงแปรรูป (10%)