นายกฯมั่นใจแผนพัฒนาตลาดทุนไทย ฉบับที่ 4 ได้รับการผลักดันยุทธศาสตร์ไปสู่การปฏิบัติจริง และจะมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย ที่เป็นกลไกพัฒนาเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างเข้มแข็งและยั่งยืน มีความยืดหยุ่นต่อความเสี่ยงและภัยคุกคาม”
เมื่อวันที่ 4 ก.พ.66 น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากผลสำเร็จของแผนพัฒนาตลาดทุนไทย ฉบับที่ 3 (ปี 2560-2564) ในการเป็นแหล่งเงินทุนสำหรับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) เป็นแหล่งระดมทุนสำหรับโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ เพิ่มความสามารถในการแข่งขันของตลาดทุนไทย และพัฒนาให้ตลาดทุนไทยเป็นจุดเชื่อมโยงของภูมิภาค เป็นต้น ล่าสุดที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2566 ได้รับทราบแผนพัฒนาตลาดทุนไทย ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2565 – 2570) ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ เพื่อพลิกฟื้นทางเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างแข็งแรง ให้ตลาดทุนไทยเป็นผู้นำระดับภูมิภาค ส่งเสริมทุกภาคส่วนให้เติบโตอย่างยั่งยืน สนับสนุนทุกภาคส่วนให้ปรับสู่เศรษฐกิจดิจิทัลและเสริมสร้างความอยู่ดีมีสุขทางการเงินของประชาชน
น.ส.ทิพานัน กล่าวว่า ทั้งนี้แผนพัฒนาตลาดทุนไทย ฉบับที่ 4 ที่สานต่อจากแผนพัฒนาตลาดทุนฯ ฉบับที่ 3 ได้คำนึงถึงปัจจัยความท้าทาย และทิศทางการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจโลก (Mega Trends) ที่ส่งผลกระทบต่อตลาดทุนในหลายด้านที่สำคัญ อาทิ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สังคมสูงวัย ภูมิรัฐศาสตร์ การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคนรุ่นใหม่ เป็นต้น รวมทั้งมุ่งเน้นการสร้างภูมิทัศน์ของภาคตลาดทุนไทยในอนาคต ภายใต้ 5 ยุทธศาสตร์ 29 แผนงาน ดังนี้
ยุทธศาสตร์ที่ 1 ตลาดทุนเพื่อการแข่งขันได้ (Competitiveness) เป็นการเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันของทุกภาคส่วนในตลาดทุนไทยและระบบเศรษฐกิจ ประกอบด้วย 11 แผนงาน โดยมีแผนงานที่สำคัญ เช่น การแก้ไขพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 เป็นต้น
ยุทธศาสตร์ที่ 2 ตลาดทุนที่เข้าถึงได้ (Accessibility) เป็นตลาดทุนที่เอื้อให้ทุกภาคส่วนสามารถเข้ามาใช้ประโยชน์ได้ ประกอบด้วย 8 แผนงาน โดยมีแผนงานที่สำคัญ เช่น การสนับสนุนให้กลุ่มธุรกิจเป้าหมายซึ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่แห่งอนาคต (New Economy) กลุ่มธุรกิจที่เน้นการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาต่อยอดจากอุตสาหกรรมเดิมเพื่อให้เติบโตต่อไปได้ในอนาคต (New S-curve) และกลุ่มธุรกิจด้านเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy: BCG) การระดมทุนผ่าน LiVE Exchange ซึ่งเป็นตลาดหลักทรัพย์สำหรับ SMEs และ Startup เป็นต้น
ยุทธศาสตร์ที่ 3 ตลาดทุนดิจิทัล (Digitalization) เป็นการส่งเสริม ประยุกต์ และใช้เทคโนโลยีและดิจิทัลในตลาดทุน ประกอบด้วย 6 แผนงาน โดยมีแผนงานที่สำคัญ เช่น โครงการ Digital Infrastructure (DIF) เพื่อเป็นโครงสร้างพื้นฐานกลางในตลาดทุน เป็นต้น
ยุทธศาสตร์ที่ 4 ตลาดทุนเพื่อความยั่งยืน (Sustainability) เป็นการมุ่งเน้นส่งเสริมความยั่งยืนของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุนไทยและระบบเศรษฐกิจในระยะยาว ประกอบด้วย 1 แผนงาน ได้แก่ มาตรการส่งเสริมและพัฒนาให้ตลาดทุนไทยเติบโตอย่างยั่งยืน (ESG)
ยุทธศาสตร์ที่ 5 ตลาดทุนเพื่อความอยู่ดีมีสุขทางการเงิน (Financial well-being) เป็นการมุ่งเน้นสร้างผลลัพธ์ทางการเงินที่ดี รวมถึงการสร้างโอกาสในการลงทุน โดยมีการบริหารความเสี่ยงอย่างเหมาะสม ประกอบด้วย 3 แผนงาน โดยมีแผนงานที่สำคัญ เช่น การพัฒนาทักษะทางการเงินของคนไทย (Financial Literacy) ภายใต้แผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาทักษะทางการเงิน พ.ศ. 2565-2570 การปรับปรุงพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. 2530 เป็นต้น
“พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เชื่อมั่นว่าเมื่อแผนพัฒนาตลาดทุนไทย ฉบับที่ 4 ได้รับการผลักดันยุทธศาสตร์ไปสู่การปฏิบัติจริง จากความร่วมมือของทุกภาคส่วนแล้ว จะมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย ที่เป็นกลไกพัฒนาเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างเข้มแข็งและยั่งยืน มีความยืดหยุ่นต่อความเสี่ยงและภัยคุกคาม”น.ส.ทิพานัน กล่าว