วันอาทิตย์, พฤศจิกายน 24, 2024
spot_img
หน้าแรกHighlight''เงินบาท''กลับทิศแข็งค่า หลังดอลลาร์อ่อน
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

”เงินบาท”กลับทิศแข็งค่า หลังดอลลาร์อ่อน

เงินบาทเปิดตลาดแข็งค่า 33.45 บาทต่อดอลลาร์ หลังดอลลาร์กลับมาอ่อนค่า ขณะที่ประธานเฟดยันเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อ แม้ว่าเงินเฟ้อจะชะลอตัวลง จับตาถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด พร้อมรายงานงบของบริษัทจดทะเบียน

นายพูน  พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงิน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 33.45 บาทต่อดอลลาร์“แข็งค่าขึ้น”จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 33.60 บาทต่อดอลลาร์ เป็นไปตามการย่อตัวลงของเงินดอลลาร์ พร้อมกับการรีบาวด์ขึ้นบ้างของราคาทองคำ อย่างไรก็ดี เงินบาทยังมีแนวโน้มเคลื่อนไหวผันผวนต่อได้ในวันนี้

โดยประเมินว่า เงินบาทอาจเคลื่อนไหวในกรอบ sideways เพราะ แม้เงินบาทจะปรับตัวแข็งค่าขึ้นบ้าง หลังตลาดทยอยรับรู้ถ้อยแถลงของประธานเฟด ทว่า แรงกดดันฝั่งอ่อนค่าของเงินบาทยังคงมีอยู่ในระยะสั้น โดยนักลงทุนต่างชาติอาจยังคงทยอยขายทำกำไรหุ้นและบอนด์ไทยต่อได้บ้าง (แต่แรงขายอาจเริ่มชะลอลง หลังนักลงทุนต่างชาติได้เดินหน้าขายสุทธิอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา)

นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดบางส่วนที่มีมุมมองเชิงลบต่อเงินบาท รวมถึงผู้นำเข้าบางส่วนก็อาจรอจังหวะให้เงินบาทแข็งค่าลงมาบ้าง ในการเพิ่มสถานะ Long USDTHB หรือ ซื้อเงินดอลลาร์ ทำให้โซนแนวรับของเงินบาทอาจอยู่ในช่วง 33.20-33.30 บาทต่อดอลลาร์และถ้าหากไม่มีปัจจัยเสี่ยงเพิ่มเติม เราประเมินว่า ค่าเงินบาทอาจยังไม่อ่อนค่าทะลุแนวต้าน 33.75 ไปได้ในช่วงนี้ นอกจากนี้ เรายังคงเห็นโฟลว์ขายเงินดอลลาร์ต่อเนื่องจากฝั่งผู้ส่งออก หลังเงินบาทพลิกกลับมาอ่อนค่า ซึ่งจะช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาทได้บ้าง

ทั้งนี้ ความผันผวนของตลาดการเงินที่ยังอยู่ในระดับสูง ทำให้เรามองว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือทางการเงินที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนมองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.30-33.60 บาทต่อดอลลาร์

สำหรับตลาดหุ้นสหรัฐฯ เคลื่อนไหวผันผวน ก่อนที่จะพลิกกลับมาปรับตัวขึ้น โดยดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq พุ่งขึ้นกว่า +1.90% ส่วน ดัชนี S&P500 ปิดตลาด +1.29% หลังถ้อยแถลงของประธานเฟดไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากที่กล่าวไว้ในการประชุมเฟดล่าสุดมากนัก

ซึ่งประธานเฟดยังคงเน้นย้ำว่า การขึ้นดอกเบี้ยของเฟดนั้นยังไม่จบลง โดยเฉพาะหลังจากข้อมูลการจ้างงานล่าสุดออกมาแข็งแกร่งกว่าคาด แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อจะมีแนวโน้มชะลอตัวลงอย่างแน่นอนในปีนี้ (จาก CME FedWatch Tool ล่าสุด ผู้เล่นในตลาดยังคงคาดว่าเฟดอาจขึ้นดอกเบี้ยถึงระดับ 5.25% ก่อนจะปรับลดลงเพียง -0.25% ปลายปี)

ในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ก็รีบาวด์ขึ้นเล็กน้อย +0.23% หนุนโดยการปรับตัวขึ้นแรงของบรรดาหุ้นกลุ่มพลังงาน อาทิ BP +8.0%, TotalEnergies +3.4% ตามการปรับตัวขึ้นแรงของราคาน้ำมันดิบ ท่ามกลางความกังวลภาวะตึงตัวของตลาดน้ำมันที่อาจเกิดขึ้น จากการปิดท่าเรือเจย์ฮันของตุรกี ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อการขนส่งน้ำมันดิบ หลังเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงในตุรกีช่วงต้นสัปดาห์ นอกจากนี้ ราคาน้ำมันดิบยังคงได้แรงหนุนจากความหวังการฟื้นตัวเศรษฐกิจจีนจะช่วยหนุนความต้องการใช้พลังงาน

ส่วนทางด้านตลาดบอนด์ ถ้อยแถลงของประธานเฟดยังคงเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องของเฟด ส่งผลให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 3.68% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 1 เดือน อีกครั้ง ทั้งนี้ เรามองว่า บอนด์ยีลด์ระยะยาวยังมีโอกาสปรับตัวขึ้นต่ออีกได้บ้าง แต่เรามองว่า การปรับตัวขึ้นจะไม่รุนแรง ตามภาพการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อ รวมถึงนโยบายการเงินของเฟดที่ใกล้จะถึงจุดสูงสุดของการขึ้นดอกเบี้ย ทำให้เราคงมุมมองเดิมว่า นักลงทุนสามารถทยอยซื้อบอนด์ระยะยาวในจังหวะที่บอนด์ยีลด์มีการปรับตัวสูงขึ้นได้ เพื่อเพิ่มสถานะการถือครองสินทรัพย์ปลอดภัยมากขึ้น ในการเตรียมรับมือความผันผวนของตลาดการเงินในปีนี้

ขณะที่ตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวผันผวนหนักเช่นกัน ก่อนที่จะอ่อนค่าลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก หลังตลาดรับรู้ถ้อยแถลงของประธานเฟด โดยล่าสุด ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ได้ย่อตัวลงสู่ระดับ 103.3 จุด ตามภาวะเปิดรับความเสี่ยงของผู้เล่นในตลาด แต่จะเห็นได้ว่าเงินดอลลาร์ก็ไม่ได้อ่อนค่าลงแรง เนื่องจากผู้เล่นในตลาดยังคงรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด พร้อมทั้งรอจับตารายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน

ทั้งนี้ การอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ได้ช่วยหนุนให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน เม.ย.) สามารถรีบาวด์ขึ้นจากโซนแนวรับระยะสั้น สู่ระดับ 1,885 ดอลลาร์ต่อออนซ์ แต่โดยรวมราคาทองคำยังไม่สามารถรปรับตัวขึ้นต่อได้มากนัก ท่ามกลางภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดและการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ

สำหรับวันนี้ ในฝั่งเอเชีย ตลาดประเมินว่า แรงกดดันจากการอ่อนค่าลงล่าสุดของเงินรูปีอินเดีย (INR) ตามการไหลออกรุนแรงของฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ จากความกังวลปัญหาของบริษัทในเครือ Adani รวมถึงอัตราเงินเฟ้อของอินเดียที่ยังอยู่ในระดับสูงกว่าเป้าหมายของธนาคารกลางอินเดีย (RBI) ไปมาก จะทำให้ RBI มีโอกาสเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ย +0.25% สู่ระดับ 6.50% ได้ในการประชุมครั้งนี้

นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน รวมถึงถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด เพื่อประเมินมุมมองของเฟดต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ และทิศทางการปรับนโยบายการเงิน หลังข้อมูลตลาดแรงงานล่าสุดออกมาดีกว่าคาดไปมาก และล่าสุดประธานเฟดก็ได้เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อ

ซึ่งหากถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดและประธานเฟดสอดคล้องกัน ก็อาจทำให้ตลาดเริ่มมั่นใจในแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดมากขึ้น ทำให้ประเด็นนโยบายการเงินอาจมีผลกระทบเชิงลบต่อตลาดการเงินลดลง และผู้เล่นในตลาดจะกลับมาให้ความสนใจและให้น้ำหนักต่อรายงานผลกำไรของบริษัทจดทะเบียนมากขึ้น

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img