“สภาพัฒน์” เผยภาพเศรษฐกิจไทยในปี 2565 ขยายตัว 2.6% เร่งตัวขึ้นจาก 1.5% ในปี 2564 จากฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว คาดปี66 ขยายตัวในช่วง 2.7 – 3.7%
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า แนวโน้มตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) ไทย ปี 2566 คาดว่าจะขยายตัวในช่วง 2.7-3.7% มีค่ากลางอยู่ที่ 3.2% ลดลงจากเดิมที่ระดับ 3.0-4.0 โดยมีปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญจาก 1.การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว 2.การขยายตัวของการลงทุนทั้งภาคเอกชนและภาครัฐ 3.การขยายตัวในเกณฑ์ดีต่อเนื่องของการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน และ 4.การขยายตัวในเกณฑ์ดีของภาคเกษตร โดยคาดว่าการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนจะขยายตัว 3.2% ส่วนการลงทุนภาคเอกชนจะบวก 2.1% การลงทุนภาครัฐ บวก 2.7% ส่วนมูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐปรับลดลง 1.6% อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ในช่วง 2.5-3.5% และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 1.5% ของจีดีพีรวม
นายดนุชา กล่าวว่า ไตรมาส 4/2565 เศรษฐกิจไทยขยายตัว 1.4% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า และถือเป็นการชะลอตัวลงจากการขยายตัว 4.6% ในไตรมาส 3/2565 สาเหตุหลักเพราะการส่งออกสินค้าที่หดตัวลงถึง 10.5% และภาคอุตสาหกรรมหดตัวลง 4.9% แม้ดัชนีเครื่องชี้วัดอื่นจะขยายตัวได้ดี อาทิ การบริโภคภาคเอกชน บวก 5.7% การลงทุนรวม บวก 3.9% และภาคบริการที่บวกกว่า 94.6% ซึ่งเมื่อปรับผลของฤดูกาลออกแล้ว เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4 จะลดลงจากไตรมาสที่ 3 ประมาณ 1.5% ส่งผลให้ภาพเศรษฐกิจไทยในปี 2565 ขยายตัว 2.6% เร่งตัวขึ้นจาก 1.5% ในปี 2564 ตามการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว และการปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องของอุปสงค์ภายในประเทศทั้งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน
“การส่งออกกินสัดส่วนประมาณ 50-60% ของจีดีพีรวม ทำให้เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4/2565 ชะลอตัวลง แต่ยังคงขยายตัวได้ แต่เป็นเพราะจากเดิมประเมินเศรษฐกิจโลกจะเริ่มชะลอตัวในปี 2566 แต่ปรากฎว่าข้อมูลในไตรมาส 4/2565 เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงเร็วกว่าที่คาดไว้ โดยเฉพาะประเทศหลักๆ และประเทศเกิดใหม่ในภูมิภาคนี้ ทำให้การส่งออกหดตัวแรงตาม อัตราการขยายตัวของการส่งออกจึงชะลอลง แต่เสถียรภาพทางเศรษฐกิจของไทยยังอยู่ในระดับที่ดีมาก โดยเฉพาะการว่างงานที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง เฉลี่ยที่ 1.15% จากไตรมาส 3/2565 อยู่ที่ 1.23%” นายดนุชา กล่าว