วันอาทิตย์, พฤศจิกายน 24, 2024
spot_img
หน้าแรกHighlightเงินบาทกลับทิศอ่อน ! เกาะติดดัชนีภาคบริการสหรัฐคืนนี้
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

เงินบาทกลับทิศอ่อน ! เกาะติดดัชนีภาคบริการสหรัฐคืนนี้

เงินบาทเปิดตลาด 34.80 บาทต่อดอลลาร์อ่อนค่าเล็กน้อย หลังดอลลาร์กลับมาแข็งค่า เกาะติดดัชนี ISM PMI ภาคการบริการของสหรัฐฯคืนนี้ ระวังความผันผวนผู้ประกอบการควรป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงิน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 34.80 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 34.78 บาทต่อดอลลาร์ เป็นผลมาจากการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ โดยแนวโน้มเงินบาทในวันนี้ ยังขาดปัจจัยหนุนฝั่งแข็งค่าที่ชัดเจนในระยะสั้น ทำให้เงินบาทยังมีโอกาสผันผวนอ่อนค่าลง ตามการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ หรือ แรงขายหุ้นไทยและบอนด์ไทยจากนักลงทุนต่างชาติ

อย่างไรก็ดี การรีบาวด์ขึ้นของราคาทองคำในช่วงที่ผ่านมา อาจช่วยชะลอการอ่อนค่าลงของเงินบาทได้ โดยเฉพาะหากราคาทองคำสามารถปรับตัวขึ้นทะลุโซนแนวต้านสำคัญที่เรามองไว้ได้ เราคาดว่า เงินบาทอาจได้แรงหนุนฝั่งแข็งค่าบ้าง จากโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ

อนึ่ง ควรระวังความผันผวนในตลาดการเงิน โดยเฉพาะในช่วงที่ตลาดทยอยรับรู้รายงานดัชนี ISM PMI ภาคการบริการ (ให้นึกถึงความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้ดัชนี ISM PMI ภาคการผลิตก่อนหน้า) ซึ่งหากดัชนีดังกล่าวปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง สูงกว่าคาด และดัชนีด้านราคาในภาคการบริการก็เร่งตัวขึ้นอีก เราคาดว่าผู้เล่นในตลาดอาจยังคงกังวลแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ ชะลอตัวลงยาก และหนุนการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องของเฟด ซึ่งในกรณีดังกล่าวอาจเห็นเงินดอลลาร์ปรับตัวแข็งค่าขึ้นต่อได้บ้าง

ในช่วงนี้ จะเห็นได้ว่า ความผันผวนของตลาดการเงินยังอยู่ในระดับสูง สะท้อนผ่านกรอบค่าเงินบาทในช่วงที่ผ่านมาซึ่งกว้างไม่น้อยกว่า 50 สตางค์ภายในวัน ทำให้เรามองว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือทางการเงินที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.65-34.95 บาท/ดอลลาร์

บรรยากาศในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ พลิกกลับมาอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น โดยดัชนี S&P500 สามารถพลิกกลับมา รีบาวด์ขึ้น +0.76% หลังผู้เล่นในตลาดคลายกังวลแนวโน้มการ “เร่งขึ้น” ดอกเบี้ยนโยบายของเฟด หรือ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายมากกว่าครั้งละ +0.25% เนื่องจากบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดส่วนใหญ่ต่างสนับสนุนการทยอยขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ผู้เล่นในตลาดรับรู้มาพอสมควรแล้ว (สะท้อนผ่านมุมมองของผู้เล่นในตลาดจาก CME FedWatch Tool ที่คงคาดว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยจนแตะระดับ 5.50%)

ในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 พลิกกลับมาปรับตัวขึ้น +0.51% หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มพลังงานและหุ้นกลุ่มสินค้าแบรนด์เนม อาทิ TotalEnergies +2.0%, Kering +1.9%, Hermes +1.0% หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจจีนล่าสุดออกมาดีกว่าคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างคาดหวังว่าความต้องการใช้พลังงานจากจีนอาจเพิ่มสูงขึ้น เช่นเดียวกันกับยอดขายสินค้าแบรนด์เนม อย่างไรก็ดี การปรับตัวขึ้นของตลาดหุ้นยุโรปยังคงถูกจำกัดโดยความกังวลแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องของธนาคารกลางยุโรป (ECB) หลังอัตราเงินเฟ้อ CPI ของยูโรโซนยังสูงถึง 8.5%

ส่วนทางด้านตลาดบอนด์ แม้ว่าผู้เล่นในตลาดจะคลายกังวลการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟดไปบ้าง แต่มุมมองของผู้เล่นในตลาดยังคงเชื่อว่าเฟดจะเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง กอปรกับบรรยากาศในตลาดที่เปิดรับความเสี่ยง ทำให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องทะลุโซนแนวต้านสำคัญระดับ 4.00% ได้ในที่สุด และปรับตัวขึ้นต่อสู่ระดับ 4.06% ทำให้ในระยะสั้นมีโอกาสที่บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจปรับตัวขึ้นต่ออีกได้บ้าง แต่เรามองว่า การปรับตัวขึ้นอาจเริ่มจำกัดลง (อาจไม่ทะลุระดับ 4.25%) เนื่องจาก บรรดานักลงทุนส่วนใหญ่ต่างก็รอจังหวะกลับเข้ามาซื้อบอนด์อยู่

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ปรับตัวแข็งค่าขึ้น เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยเงินดอลลาร์ยังคงได้แรงหนุนจากมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่เชื่อว่าเฟดจะเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง ตามภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯที่ยังคงสดใสอยู่ ซึ่งล่าสุด ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ได้ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 105 จุด อีกครั้ง ส่วนในฝั่งราคาทองคำ แม้ว่าตลาดจะคลายกังวลการเร่งขึ้นดอกเบี้ยเฟดไปบ้าง แต่มุมมองของตลาดยังเชื่อในแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องของเฟด ทำให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน เม.ย.) ยังคงแกว่งตัว sideways ใกล้ระดับ 1,840 ดอลลาร์ต่อออนซ์ และอาจยังไม่สามารถปรับตัวขึ้นทะลุโซนแนวต้านสำคัญแถว 1,850 ดอลลาร์ต่อออนซ์ จนกว่าจะมีปัจจัยหนุนใหม่ๆ เข้ามา

สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ผ่านรายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการบริการ (ISM Non-Manufacturing PMI) เดือนกุมภาพันธ์ โดยนักวิเคราะห์ประเมินว่า ภาวะตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่ยังคงแข็งแกร่ง รวมถึงความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่เริ่มฟื้นตัวดีขึ้น จะช่วยหนุนให้ ดัชนี ISM PMI ภาคการบริการ อาจอยู่ที่ระดับ 54.5 จุด (ดัชนีเกิน 50 จุด หมายถึง ภาวะขยายตัว)

ทั้งนี้ ตลาดจะรอประเมินแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อ ผ่านรายงานดัชนีด้านราคาในรายละเอียดของรายงานดัชนี ISM PMI ภาคการบริการ ว่าจะยังคงส่งสัญญาณการเร่งขึ้นของราคาต่อเนื่องหรือไม่ หลังดัชนีด้านราคาของ ISM PMI ภาคการผลิตที่ประกาศออกมาก่อนหน้า ได้เร่งขึ้น จนทำให้ตลาดกลับมากังวลแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อในฝั่งสหรัฐฯ นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด เพื่อประเมินทิศทางนโยบายการเงินในระยะถัดไป

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img