วันเสาร์, พฤศจิกายน 23, 2024
spot_img
หน้าแรกHighlightสศช.ติงนโยบายพักหนี้ทำคนไทย “ไร้วินัยการเงิน”
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

สศช.ติงนโยบายพักหนี้ทำคนไทย “ไร้วินัยการเงิน”

สศช.หวั่นพรรรคการเมืองชูนโยบายพักหนี้อาจส่งผลให้เกิดปัญหาวินัยการเงินก่อให้เกิดปัญหาหนี้ครัวเรือน และกระทบต่อคนที่ชำระหนี้ดี แนะการแก้ปัญหาควรเป็นรายบุคคลมากกว่า ชี้ภาระหนี้ส่วนใหญ่สัดส่วน 90% อยู่ที่แบงก์รัฐ


นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า มีความเป็นห่วงต่อนโยบายการหาเสียงของพรรคการเมือง โดยเฉพาะการชูนโยบายพักหนี้ ที่อาจทำให้เกิดปัญหาวินัยการเงินและกระทบต่อคนที่ชำระหนี้ดี  รวมถึงปัญหาหนี้ครัวเรือนตามมา วิธีการแก้ปัญหานี้ที่ดีที่สุดควรแก้หนี้เป็นรายบุคคล ซึ่งแม้เห็นผลช้า แต่ก็ถือว่ามีประสิทธิภาพ

ปัจจุบันปัญหาหนี้ครัวเรือนไทยตอนนี้ยังคงอยู่ในระดับสูงโดยหนี้ส่วนใหญ่กว่า 90% อยู่กับธนาคารรัฐและอีก 10% อยู่กับธนาคารพาณิชย์ ซึ่งแม้ภาพรวมหนี้อยู่ระบบสถาบันการเงินรัฐเยอะ แต่สถานะก็ยังแข็งแกร่ง ไม่มีปัญหา เนื่องจากธนาคารรัฐจะมีการแยกบัญชีที่เกี่ยวข้องกับโครงการรัฐไว้ต่างหากจึงไม่กระทบต่อภาพรวม แต่ข้อเสียก็คืออาจจะกระทบต่องบประมาณของรัฐบาล ที่จะต้องหาเงินไปสนับสนุนหรือจ่ายชดเชยให้ลูกค้า

“พรรคการเมืองไม่ควรนำนโยบายหาเสียงพักหนี้มาใช้อีก เพราะจะส่งผลเสียต่อหนี้ครัวเรือนในระยะยาวและทำให้คนไทยขาดวินัยในการใช้หนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในวันนี้สิ่งแวดล้อมของไทยก็ทำให้คนเป็นหนี้ได้ง่ายขึ้น เช่นการให้ซื้อก่อนผ่อนทีหลังหรือผ่อน 0% นาน 10 เดือน”นายดนุชา กล่าว

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ห่วงในปี 66 สัญญาณเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวค่อนข้างรวดเร็ว และเริ่มกระทบต่อการส่งออกอย่างเห็นได้ชัด ตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ปี 65 และปีนี้ก็มองว่าการส่งออกไทยมีโอกาสติดลบสูงหรืออย่างเก่งอาจทำได้ 0% นอกจากนี้ ในช่วงปลายปี จะเผชิญการเบิกจ่ายภาครัฐ เนื่องจากจะมีการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งทำให้การจัดทำงบประมาณปี 67 ล่าช้าออกไป ทำให้ต้องใช้งบประมาณปีเก่าหรือปี 66 ไปพลางก่อน และอาจไม่มีเงินลงทุนโครงการใหม่เกิดขึ้นมาได้ โดยประเมินว่างบประมาณรายจ่ายประจำปี 67 น่าจะล่าช้าประมาณเดือนครึ่งหรือหากมีช้ากว่านั้นก็อาจไปเริ่มใช้ได้ในช่วงเดือน ม.ค. 67 ในแง่เศรษฐกิจในประเทศในหลายด้านถือว่าดีขึ้น ทั้งเรื่องของการบริโภคในประเทศ เรื่องของการลงทุนในประเทศ

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวว่า แม้ไทยจะมีการกู้เงินช่วยเยียวยาโควิด 1.5 ล้านล้าน แต่ยืนยันว่าฐานะการคลังของไทยยังมีความมั่นคง มีทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศกว่า 200,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนฐานะการคลัง มีเงินคงคลังอยู่ในระดับที่มีความมั่นคง ขณะที่ สัดส่วนหนี้สาธารณะอยู่ที่ 61.26% เพิ่มขึ้นเพราะเศรษฐกิจขยายตัว และจากการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ ซึ่งปีงบประมาณ 2566 อยู่ที่ 6.59 แสนล้านบาท ลดลงจากปีก่อนหน้า ส่งสัญญาณว่าไทยกำลังจะเข้าสู่ความยั่งยืนฐานะการคลัง

ขณะที่ปีงบประมาณ 2567 รัฐบาลได้มีการเพิ่มงบประมาณรายจ่ายอีก 1.65 แสนล้านบาท มากกว่าในอดีต 2 เท่า ทำให้รัฐบาลมีงบในการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น โดยหลัก ๆ ราว 20% ของงบประมาณดังกล่าว เป็นเรื่องการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน

สำหรับเศรษฐกิจไทยปีนี้คาดว่าจะโตได้ 3.8% โดยหลังจากนี้จะต้องดูข้อมูลเศรษฐกิจในช่วงเดือนมี.ค. และ เม.ย. ก่อนจะมีการปรับประมาณการใหม่อีกครั้ง แต่ต้องดูเสถียรภาพเศรษฐกิจ อาทิ อัตราเงินเฟ้อ ซึ่งขณะนี้ชะลอเข้าสู่กรอบเป้าหมายที่ 1-3% จากมาตรการดูแลราคาพลังงาน การตรึงราคาน้ำมันดีเซลด้วยการลดอัตราภาษี ถือเป็นระดับที่เหมาะสม ทุนสำรองระหว่างประเทศ หนี้สาธารณะ และหนี้ครัวเรือน ส่วนเรื่องอัตราดอกเบี้ยเป็นเรื่องของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ต้องดูเพื่อให้เศรษฐกิจฟื้นยั่งยืน ไม่เหมือนสหรัฐที่ใช้นโยบายการเงินดูแลไม่ให้เงินเฟ้อจากการบริโภคสูง

ส่วนการจ้างงานแม้ว่าจะปรับตัวดีขึ้นจากปี 2563-2564 แต่ยอมรับว่า ยังมีปัญหาขาดแคลนแรงงานมีทักษะ ขณะเดียวกันรัฐบาลต้องเร่งหามาตรการดูแลสังคมผู้สูงวัย โดยเฉพาะผู้ที่เกษียณอายุ 60 ปี ให้มีรายได้อยู่ได้ โดยต้องทำ 2 ทาง คือ ทำให้เกิดการจ้างงานผู้สูงอายุ ซึ่งคลังกำลังพิจารณาว่าจะมีมาตรการด้านภาษีเพื่อสนับสนุนอย่างไร และการสร้างหลักประกันที่มั่นคงในชีวิตสำหรับผู้สูงวัย

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ต้องการให้การจัดตั้งรัฐบาลเกิดให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ ไม่เช่นนั้นจะทำให้เกิดสุญญากาศทางการเมือง และทำให้การเดินหน้าทางเศรษฐกิจสะดุดได้

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img