วันเสาร์, มิถุนายน 22, 2024
หน้าแรกHighlightเงินบาทเดินหน้าแข็งค่า จับตาเงินเฟ้อสหรัฐฯคืนนี้
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

เงินบาทเดินหน้าแข็งค่า จับตาเงินเฟ้อสหรัฐฯคืนนี้

เงินบาทเปิดตลาด 34.57 บาทต่อดอลลาร์ หลังดอลลาร์อ่อนจากการปิดตัวลงของธนาคาร Silicon Valley Bank แม้ว่าทางการสหรัฐฯ และเฟดจะออกมาตรการช่วยเหลือด้านสภาพคล่องแล้วก็ตาม ระวังความผันผวนหนักช่วงตลาดทยอยรับรู้เงินเฟ้อสหรัฐฯคืนนี้

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงิน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ที่ระดับ 34.57 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 34.60 บาทต่อดอลลาร์ หลังเงินดอลลาร์โดยรวมอ่อนค่า เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก แม้ว่าตลาดจะอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง แต่ผู้เล่นในตลาดก็เลือกจะถือทองคำ หรือ เงินเยนญี่ปุ่น(JPY) เป็นสินทรัพย์ปลอดภัยมากกว่าจะถือเงินดอลลาร์ และโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ

อนึ่งเรามองว่า ในวันนี้ ค่าเงินบาท (รวมถึงเกือบทุกสินทรัพย์) มีความเสี่ยงที่จะผันผวนหนัก โดยเฉพาะในช่วงที่ ผู้เล่นในตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ในวันนี้ นอกจากนี้ ความกังวลต่อเสถียรภาพของระบบธนาคารสหรัฐฯ ซึ่งล่าสุดได้สร้างความกังวลต่อระบบธนาคารในหลายภูมิภาค ก็อาจทำให้ผู้เล่นในตลาด โดยเฉพาะนักลงทุนต่างชาติยังไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยง และมีโอกาสที่จะเห็นแรงขายหุ้นไทยเพิ่มเติมได้

นอกจากนี้ การปรับตัวลงของบอนด์ยีลด์ทั่วโลก ก็อาจทำให้นักลงทุนต่างชาติทยอยขายบอนด์ไทยได้เช่นกัน ซึ่งเราประเมินว่า ในช่วงระหว่างวัน ก่อนที่ตลาดจะรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ค่าเงินบาทอาจแกว่งตัว sideways ในกรอบ 34.45-34.75 บาทต่อดอลลาร์ โดยมีจังหวะอ่อนค่าลงได้บ้าง แต่เรามองว่า เงินบาทจะไม่ได้อ่อนค่าหนัก เพราะยังพอมีแรงหนุนจากโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำอยู่ หลังราคาทองคำปรับตัวขึ้นทะลุโซนแนวต้าน 1,900 ดอลลาร์ต่อออนซ์

ในช่วงนี้ เรามองว่า ความผันผวนของตลาดการเงินยังอยู่ในระดับสูง (ค่าเงินบาทผันผวนในระดับ 9%-10% ต่อปี ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยในรอบ 10 ปี ที่ผ่านมาที่ระดับ 5% เป็นอย่างมาก) ทำให้เรามองว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือทางการเงินที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนมองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.45-34.75 บาท/ดอลลาร์ (ก่อนรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ)

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ เคลื่อนไหวผันผวนหนัก โดยผู้เล่นในตลาดยังไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงและเดินหน้าเทขายหุ้นกลุ่มธนาคารสหรัฐฯ อาทิ Citi -7.5%, Well Fargo -7.1%, Bank of America -5.8% ท่ามกลางความกังวลต่อเสถียรภาพของระบบธนาคารสหรัฐฯ หลังการปิดตัวลงของธนาคาร Silicon Valley Bank แม้ว่าทางการสหรัฐฯ และเฟดจะออกมาตรการช่วยเหลือด้านสภาพคล่องแล้วก็ตาม

อย่างไรก็ดี ความกังวลต่อระบบธนาคารสหรัฐฯ ดังกล่าว ได้ทำให้ผู้เล่นในตลาดเริ่มประเมินว่า เฟดอาจไม่สามารถขึ้นดอกเบี้ยได้ในการประชุมเดือนมีนาคมนี้ (จาก CME FedWatch Tool ตลาดให้โอกาสถึง 35%) และการขึ้นดอกเบี้ยอาจแตะระดับสูงสุดไม่เกิน 5.00% ซึ่งภาพดังกล่าวได้หนุนให้บรรดาหุ้นกลุ่มเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth ต่างปรับตัวขึ้น (Microsoft +2.1%, Amazon +1.9%, Apple +1.3%) ทำให้ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq สามารถปรับตัวขึ้นราว +0.45% ในขณะที่ S&P500 ปิดตลาด -0.15%

ในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ดิ่งลงหนักกว่า -2.42% ท่ามกลางความกังวลว่าปัญหาสภาพคล่องของระบบธนาคารในสหรัฐฯ อาจเกิดขึ้นกับบรรดาธนาคารยุโรปได้เช่นกัน ส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดเลือกที่จะเทขายหุ้นกลุ่มธนาคาร (UBS -7.7%, Intesa Sanpaolo -6.1%, Santander -5.7%) เพื่อลดความเสี่ยงต่อพอร์ตการลงทุน นอกจากนี้ แนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดกอเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ในสัปดาห์นี้ ก็ทำให้ผู้เล่นในตลาดยังไม่กล้ากลับเข้ามาถือหุ้นเทคฯ หรือ หุ้นสไตล์ Growth (Kering -4.1%, ASML -2.2%, Adyen -1.7%)

ส่วนทางด้านตลาดบอนด์ ภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินสหรัฐฯ และการปรับมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ได้กดดันให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวลงต่อเนื่องจนเกือบแตะระดับ 3.40% ก่อนที่จะปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 3.56% ซึ่งการเคลื่อนไหวดังกล่าวของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้สะท้อนถึงความผันผวนในตลาดบอนด์ที่เพิ่มสูงขึ้นมาก

ทั้งนี้ เราคงคำแนะนำเดิมว่า ผู้เล่นในตลาดควรรอทยอยเข้าซื้อบอนด์ในช่วงบอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้น และอาจขายทำกำไรในจังหวะที่บอนด์ยีลด์ปรับตัวลดลง มากกว่าจะไล่ราคาซื้อ เนื่องจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดนั้นยังไม่จบหรือทิศทางดอกเบี้ยนโยบายก็ยังมีความไม่แน่นอนอยู่

ด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์โดยรวมอ่อนค่าลงต่อเนื่องเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก แม้ว่าตลาดจะอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง แต่ผู้เล่นในตลาดก็เลือกจะถือทองคำ หรือ เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) เป็นสินทรัพย์ปลอดภัยมากกว่าจะถือเงินดอลลาร์ โดยเฉพาะในจังหวะที่ผู้เล่นในตลาดเริ่มคาดการณ์ว่า เฟดอาจไม่ขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมที่จะถึงนี้ ทำให้ล่าสุด ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ย่อตัวลงใกล้ระดับ 103.7 จุด

อย่างไรก็ดี เราคาดว่า เงินดอลลาร์จะแกว่งตัว Sideways และมีโอกาสผันผวนสูงในช่วงตลาดทยอยรับรู้ข้อมูลอัตราเงินเฟ้อ CPI ของสหรัฐฯ ในวันนี้ ส่วนในฝั่งราคาทองคำ การย่อตัวลงของเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ท่ามกลาง ภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ได้หนุนให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน เม.ย.) พุ่งขึ้นทะลุโซนแนวต้านที่เราประเมินไว้ สู่ระดับ 1,917 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเรามองว่า อาจมีผู้เล่นบางส่วนทยอยขายทำกำไรการรีบาวด์ของราคาทองคำได้บ้าง และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็อาจช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาทได้

สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานข้อมูลอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งจะทยอยรับรู้ในช่วงเวลา 19.30 น. ตามเวลาประเทศไทย โดยบรรดานักวิเคราะห์ต่างคาดว่า โมเมนตัมของอัตราเงินเฟ้อทั่วไป CPI และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core CPI ยังคงอยู่ที่ระดับ +0.4%m/m หรือคิดเป็น +6.0%y/y และ +5.5%y/y ตามลำดับ

ซึ่งเราประเมินว่า หากรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI เป็นไปตามที่ตลาดคาดหรือน้อยกว่าคาด และเมื่อคำนึงถึงปัญหาในระบบธนาคารสหรัฐฯ ที่เกิดขึ้น จากการปิดตัวลงของธนาคาร SVB ก็ยิ่งทำให้เฟดไม่จำเป็นต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ย +0.50% แต่เราประเมินว่า ถ้าปัญหาในระบบธนาคารสหรัฐฯ ไม่ได้น่ากังวลมาก เฟดก็อาจเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องจนแตะระดับ 5.50% เพื่อคุมปัญหาเงินเฟ้อให้สำเร็จ และในกรณีที่ อัตราเงินเฟ้อ CPI เร่งขึ้นสูงกว่าคาด เช่น +0.5%m/m

เราก็ประเมินว่า เฟดอาจเลือกทยอยขึ้นดอกเบี้ยครั้งละ +0.25% ตามเดิม มากกว่าจะเร่งขึ้นดอกเบี้ย จนกว่าเฟดจะมั่นใจว่าปัญหาในระบบธนาคารสหรัฐฯ นั้นไม่ได้น่ากังวลมาก ซึ่งอาจต้องใช้เวลาในการประเมินและติดตามสถานการณ์ และหากอัตราเงินเฟ้อยังไม่ได้ชะลอลง เราคาดว่า เฟดก็สามารถที่จะปรับนโยบายการเงินให้เข้มงวดมากขึ้นได้ในการประชุมครั้งถัดๆ ไปได้ หลังประเมินความเสี่ยงในระบบธนาคารเป็นที่เรียบร้อย

นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาผลกระทบจากการปิดตัวลงของธนาคาร Silicon Valley Bank (SVB) ว่าจะส่งผลต่อระบบธนาคารสหรัฐฯ และระบบธนาคารในภูมิภาคอื่นๆ หรือไม่ หลังจากที่ล่าสุดทางการสหรัฐฯ และเฟดได้ออกมาตรการช่วยเหลือด้านสภาพคล่อง ซึ่งเราประเมินว่า อาจช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะ Bank Run และจะช่วยทำให้ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ได้ลุกลามจนทำให้ระบบธนาคารสหรัฐฯ มีปัญหารุนแรงได้

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img