“พาณิชย์” เปิดตัวเลขการส่งออกเดือนก.พ.มีมูลค่า 730,123 ล้านบาท ลดลง 4.7% หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน รับแรงกดดันจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว-ออร์เดอร์สินค้าลด คาดทั้งปีโต 1-2%
นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกของไทยในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 มีมูลค่า 22,376.3 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 730,123 ล้านบาท หดตัว 4.7%หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 23,489.7 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 1.1% ดุลการค้า ขาดดุล 1,113.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งหากหักน้ำมัน สินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย หดตัวเพียง 0.05% เนื่องจากฐานที่สูงในปีก่อนหน้า และแรงกดดันจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว กระทบต่อความต้องการสินค้า โดยกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้ายังคงหดตัว รวมทั้งสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน (โดยเฉพาะเม็ดพลาสติก และเคมีภัณฑ์) และทองคำ มีการปรับลดลงจากปัจจัยราคาเป็นหลัก
อย่างไรก็ดีการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรกลับมาขยายตัวในรอบ 5 เดือน และสินค้าอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนต่อการส่งออกสูงยังคงขยายตัวได้ดี ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) และเครื่องปรับอากาศ แม้ว่าการส่งออกไปตลาดหลัก (ได้แก่ สหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น) ยังคงหดตัว แต่การส่งออกไปตลาดเป้าหมายที่กระทรวงพาณิชย์ให้ความสำคัญในปี 2566 เติบโตดี โดยเฉพาะตลาดตะวันออกกลาง และอินเดีย อีกทั้งการส่งออกไปฮ่องกงที่เป็นคู่ค้าอันดับ 4 ของไทย กลับมาขยายตัวในรอบ 10 เดือน
สำหรับการส่งออกไทย 2 เดือน (ม.ค.-ก.พ.) มีมูลค่า 42,625.8 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 4.6% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 48,388.8 ล้านเหรียญสหรัฐ 3.3 %ดุลการค้า 2 เดือนแรกของปี 2566 ขาดดุล 5,763.1 ล้านเหรียญสหรัฐและเมื่อหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย หดตัว 1.4%
การส่งออกไปยังตลาดสำคัญในภาพรวมส่วนใหญ่ยังคงหดตัวต่อเนื่อง สอดคล้องกับภาวะการชะลอตัวของอุปสงค์จากประเทศคู่ค้า อย่างไรก็ตาม การส่งออกไปหลายตลาด อาทิ จีน ญี่ปุ่น และ CLMV หดตัวน้อยลงจากเดือนก่อน ตลาดตะวันออกกลางขยายตัวดีต่อเนื่อง รวมถึงฮ่องกงที่กลับมาขยายตัว ทั้งนี้ ภาพรวมการส่งออกไปยังกลุ่มตลาดต่าง ๆ สรุปได้ดังนี้
(1) ตลาดหลัก หดตัว5.9 % หดตัวในสหรัฐฯ 9.5% จีน 7.9 %ญี่ปุ่น 2.5% CLMV 4.9% และอาเซียน (5)สัดส่วน 6.4% ขณะที่สหภาพยุโรป (27) ขยายตัวต่อเนื่อง 0.1%
(2) ตลาดรอง ขยายตัว 2.4% โดยขยายตัวในตลาดฮ่องกง 28.6% ตะวันออกกลาง 23.8% และทวีปแอฟริกา 11.2% แต่หดตัวในตลาดเอเชียใต้ 9.4% ทวีปออสเตรเลีย 9.2% ลาตินอเมริกา 4.7% รัสเซียและกลุ่ม CIS 26 % และสหราชอาณาจักร 3.5%
(3) ตลาดอื่น ๆ หดตัว 67.1% อาทิ สวิตเซอร์แลนด์ หดตัว 80.7%
สำหรับแนวโน้มการส่งออกในระยะถัดไป การส่งออกของไทยในไตรมาสแรกปีนี้คาดจะหดตัวราว 8% ซึ่งเป็นข้อมูลเบื้องต้นที่ได้หารือร่วมกับภาคเอกชนผู้ส่งออกสินค้า เนื่องจากประเทศผู้นำเข้ายังมีสต็อกสินค้าอยู่ในปริมาณสูง จึงทำให้ชะลอการนำเข้าสินค้าจากไทย ประกอบกับเมื่อเทียบกับฐานที่สูงในช่วงเดียวกันของปีก่อน (ไตรมาส 1 ปี 65) ที่มูลค่าการส่งออก เพิ่มขึ้นถึง 14.7%
“การส่งออกยังมีโอกาสจะติดลบต่อเนื่องในช่วงไตรมาส 2 ของปีนี้ และคาดว่าตั้งแต่ครึ่งหลังของปีนี้เป็นต้นไป ทิศทางการส่งออกจะเริ่มดีขึ้นได้อย่างไรก็ดี กระทรวงพาณิชย์ ยังคงเป้าหมายการส่งออกของไทยในปีนี้ไว้ตามเดิมที่ 1-2%”
นอกจากนี้กระทรวงพาณิชย์ ประเมินว่า ช่วงครึ่งปีแรกการส่งออกของไทยจะได้รับผลกระทบตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีความไม่แน่นอนสูง ประเทศคู่ค้าหลักยังคงเผชิญกับปัญหาเงินเฟ้อ และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่องจะชะลอการเติบโตของเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดีคาดว่าช่วงหลังของปีการส่งออกจะปรับตัวดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปจากแรงกดดันเงินเฟ้อที่ปรับตัวลดลงตามแนวโน้มราคาพลังงาน และปัญหาห่วงโซ่อุปทานโลกที่ทยอยคลี่คลาย นอกจากนี้ แรงหนุนจากการเปิดประเทศของจีน และการฟื้นตัวของภาคบริการและการท่องเที่ยวจะช่วยหนุนอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าในระยะต่อไป