“โฆษกรัฐบาล” เผยดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนมี.ค.2566 อยู่ที่ระดับ 97.8 เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 และสูงสุดในรอบ 10 ปี และคาดว่าในอีก 3 เดือนข้างหน้า ดัชนีฯจะสูงขึ้นอีกอยู่ที่ระดับ 106.3
เมื่อวันที่ 23 เม.ย.66 นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงกรณี สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยถึงดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนมีนาคม 2566 โดยผลปรับตัวสูงขึ้นอยู่ที่ระดับ 97.8 ซึ่งเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 และสูงสุดในรอบ 10 ปี นับตั้งแต่เดือนมกราคม 2556 โดยองค์ประกอบของค่าดัชนีฯ พบว่าปรับตัวเพิ่มขึ้นเกือบทุกองค์ประกอบ ทั้งดัชนีฯ คำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ ยกเว้นต้นทุนประกอบการ
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่าดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนมีนาคม 2566เป็นผลจากการสำรวจผู้ตอบแบบสอบถาม 1,322 ราย ครอบคลุม 45 กลุ่มอุตสาหกรรม สำหรับความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้นมาจากปัจจัยเชิงบวกจากการขยายของอุปสงค์ในประเทศ กำลังซื้อในส่วนภูมิภาคจากรายได้ภาคเกษตรที่ปรับตัวขึ้น ภาคการก่อสร้างขยายตัว และภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวต่อเนื่อง จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติและมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวจากภาครัฐ อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการยังมีความกังวลต่อปัญหาต้นทุนการผลิต โดยเฉพาะราคาวัตถุดิบ และค่าไฟฟ้า รวมไปถึงราคาพลังงานที่ยังคงผันผวน อัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในทิศทางขาขึ้น อุปสงค์จากต่างประเทศที่อ่อนแอลงตามภาวะเศรษฐกิจโลก ตลอดจนความผันผวนของค่าเงินบาท ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อภาคการส่งออกของไทย
ทั้งนี้ ส.อ.ท. คาดการณ์ว่า ใน 3 เดือนข้างหน้า ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมจะอยู่ที่ระดับ 106.3 เป็นผลมาจากเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยขับเคลื่อนจากภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคในประเทศ รวมไปถึงการเปิดประเทศของจีน ซึ่งเป็นแรงสนับสนุนภาคการท่องเที่ยวและการส่งออกของไทยในช่วงครึ่งปีหลัง อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงจากปัญหาเศรษฐกิจโลกและปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) จะมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น
“ระดับดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเป็นอีกหนึ่งตัวชี้วัดที่สำคัญ ในการดำเนินมาตรการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และกระตุ้นภาคการท่องเที่ยว และขอบคุณทุกฝ่ายที่ร่วมกันสนับสนุน ผลักดันภาคอุตสาหกรรมซึ่งเป็นภาคส่วนสำคัญในการพัฒนาประเทศ ทั้งนี้ รัฐบาลพร้อมประเมิน และพิจารณาข้อเสนอแนะจากผู้ประกอบการ เพื่อร่วมกันแก้ไขปัจจัยเชิงลบ เพิ่มปัจจัยเชิงบวก ทั้งเรื่องต้นทุนการผลิต ราคาพลังงาน และการส่งเสริมการเปิดตลาดส่งออกใหม่ๆ” นายอนุชากล่าว