เอกชนฝากรัฐใหม่ดูแล “ค่าเงินบาท” ไม่ให้แข็งค่าผันผวนมากเกินไป รวมถึงราคาพลังงานส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้าพุ่งเท่าตัวไทยเสียเปรียบคู่แข่ง ทั้งเวียดนาม-อินโดนีเซีย
ดร.พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า อยากฝากรัฐบาลใหม่ และธนาคารแห่งประเทศไทยดูแลค่าเงินบาท เพราะขณะนี้แข็งค่าและผันผวนมาก จากตัวเลขทางการที่ระบุว่า ขณะนี้เงินบาทเฉลี่ยสวิงไป 2% กว่า
ขณะที่ข้อมูลที่แท้จริง หลังหารือกับผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยพบว่า ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวจาก 38 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นมาอยู่ที่ 33.80 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จากม.ค.66 แข็งค่าไป 5 บาทกว่า หรือแข็งค่าไปกว่า 10% ส่วนประเทศอื่นค่าเงินอ่อนค่ากว่าไทยมากและไทยมีต้นทุนการผลิตที่สูงการแข่งขันลำบาก ดังนั้นถือว่าค่าเงินบาทเป็นตัวแปรส่งออกอาหารไทย
นอกจากนี้มีความเป็นห่วงเรื่องภัยแล้งภัยแล้ง ปรากฏการณ์เอลนีโญ ที่กำลังจะเข้ามา หากรัฐบาลจัดการไม่ดีจะกระทบสินค้าภาคเกษตร และปัญหาวัตถุดิบไม่เพียงพอ
นายเจริญ แก้วสุกใส ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม สภาอุตสาหกรรมแห่งประ เทศไทย กล่าวว่า ฝากฐบาลใหม่สนับสนุนเรื่องประสิทธิภาพวัตถุดิบ การหาตลาดใหม่ สนับสนุนภาคการเกษตรและอาหาร ลดภาษีนำเข้าส่งออก หรือประเด็นอื่น ๆ ที่ทำให้ผู้ประกอบการแข่งขันได้ในระดับโลก
ขณะเดียวกันขอให้รัฐบาลและสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) ดูแลเรื่องพลังงาน เพราะเป็นต้นทุนสำคัญของผู้ประกอบการ เพราะปัจจุบันต้นทุนการผลิตของไทยสูงกว่าประเทศคู่แข่ง เช่น เวียดนาม และอินโดนีเซีย เกือบเท่าตัว โดยต้องการให้กกพ.พิจารณาค่าเอฟทีใหม่ให้อยู่บนพื้นฐานที่แท้จริงไม่ต้องบวกเพิ่ม เพราะจะช่วยให้ราคาค่าไฟต่อหน่วยลดลงได้
นางอนงค์ ไพจิตรประภาภรณ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กล่าวว่า ภาพรวมการส่งออกสินค้าอาหารไทยในปี 66 คาดว่าจะมีมูลค่า 1,500,000 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 2.1% ซึ่งหากเป็นไปตามคาดจะเป็นสถิติส่งออกสูงสุดครั้งใหม่ ของการส่งออกอาหาร โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักมาจาก
1.ภาครัฐมีนโยบายฟื้นฟูและการเปิดประเทศหลังสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งภาคอุตสาหกรรมเกษตร อาหาร ท่องเที่ยว บริการ การค้าและการลงทุน
2.การขาดแคลนอาหารตลอด ทำให้มีความต้องการสินค้าอาหารเพิ่มสูงขึ้นในตลาดประเทศกำลังพัฒนาและตลาดในภูมิภาคตามการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจหลังโควิด-19
3.ความกังวลเรื่องความมั่นคงอาหาร ทำให้หลายประเทศและผู้บริโภคมีความต้องการสำรองอาหารเพิ่มมากขึ้น
4.ผลิตภัณฑ์อาหารของไทยมีคุณภาพ มาตรฐาน และความปลอดภัย ตลอดจนสามารถตรวจสอบย้อนกลับแหล่งที่มา ซึ่งเป็นที่ยอมรับของตลาดผู้นำเข้าทั่วโลก
5.จีนเปิดประเทศและยกเลิกมาตรการ Zero-COVID ทำให้ปริมาณการค้าเพิ่มสูงขึ้น ระยะเวลาในการขนส่งสั้นลง โดยเฉพาะสินค้าที่มีตลาดทางตอนใต้ของจีน เช่น ไก่แช่แข็ง เป็นไปด้วยความสะดวกมากขึ้น
ส่วนปัจจัยที่จะทำให้การส่งออกไม่เป็นไปตามคาดการณ์คือ
1.ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นจากราคาพลังงาน อาทิ ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำมัน ค่าแก๊ส เป็นต้น
2.ความกังวลของเศรษฐกิจไทยอันเนื่องมาจากความผันผวนของค่าเงิน
3.ความกังวลภาวะเศรษฐกิจและปัญหาภาคธนาคารของสหรัฐฯ กระทบกำลังซื้อและความเชื่อมั่นของผู้บริโภค
4.เงินเยนญี่ปุ่นอ่อนค่าต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของคนญี่ปุ่น และความสามารถในการนำเข้าสินค้าจากภายนอก
5.ภาวะเงินเฟ้อยังคงกดดันกำลังซื้อของกลุ่มผู้บริโภคทั่วโลก โดยเฉพาะกลุ่มประเทศพัฒนาที่เป็นตลาดหลักของไทย เช่น สหรัฐฯ ยุโรป ญี่ปุ่น
6.ผลผลิตสินค้าเกษตรที่เป็นวัตถุดิบสำคัญลดปริมาณลง และราคาปรับตัวสูง เช่น สับปะรดโรงงาน หัวมันสำปะหลัง กุ้ง ปลาทูน่า เป็นต้น