นายกรัฐมนตรีพอใจสถานการณ์ลงทุนอุตสาหกรรมตามยุทธ์ศาสตร์ส่งเสริมลงทุนใหม่ ยอดขอบีโอไอทั้งไทยต่างชาติโตสูง ตอกย้ำความเชื่อมั่นต่อนโยบายที่รัฐบาลได้วางฐานไว้
เมื่อวันที่ 24 พ.ค.66 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ได้ติดตามสถานการณ์ภาคอุตสาหกรรมโดยต่อเนื่อง เพื่อทราบถึงประสิทธิผลของนโยบายที่รัฐบาลได้ประกาศส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมายเพื่อการเติบโตที่รวดเร็ว เพิ่มศักยภาพการแข่งขันของประเทศ ประกอบด้วยอุตสาหกรรมใหม่เช่น หุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม, การบินโลจิสติกส์, ชีวภาพ, ดิจิทัล และต่อยอดอุตสาหกรรมเดิมที่ไทยมีศักยภาพ เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า, อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ, ท่องเที่ยวเชิงสุภาพ, เกษตรชีวภาพ แปรรูปอาหาร
ในระยะที่ผ่านมารัฐบาลโดยหน่วยงานและคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องได้วิเคราะห์สถานการณ์การแข่งขันระหว่างประเทศ แนวโน้มอุตสาหกรรมแห่งอนาคตที่มีการเปลี่ยนเชิงโครงสร้างทั่วโลกเพื่อกำหนดเป็นชุดนโยบายส่งเสริมทั้งที่เป็นมาตรการภาษีและไม่ใช่ภาษี ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ได้รายงานข้อมูลให้นายกรัฐมนตรีรับทราบผลของนโยบายเป็นระยะ
“นายกรัฐมนตรีพอใจต่อสถานการณ์ในภาพรวม ที่ตอนนี้ทั้งไทยและต่างชาติสนใจการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ๆ หรือ New S-Curve ทำให้อุตสาหกรรมไทยกำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง ขณะที่ตัวเลขขอรับส่งเสริมการลงทุนสูงขึ้นต่อเนื่อง เป็นการย้ำถึงความเชื่อมั่นต่อนโยบายด้านอุตสาหกรรมที่รัฐบาลวางพื้นฐานไว้” น.ส.ไตรศุลี กล่าว
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สำนักงานบีโอไอ ได้เปิดเผยถึงสถิติคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนไตรมาส1/66 (ม.ค.-มี.ค.) มีโครงการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนรวมทั้งสิ้น 397 โครงการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 9 มูลค่าเงินลงทุน 185,730 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 77
ในจำนวนข้างต้นเป็นคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย 205 โครงการ มูลค่ารวม 154,414 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 83 ของมูลค่าการขอรับส่งเสริมทั้งหมด ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อาหารแปรรูป เคมีภัณฑ์ ยานยนต์และชิ้นส่วน ตามลำดับ
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า หากแยกตามกลุ่มนักลงทุนแล้วพบว่าเป็นคำขอรับการส่งเสริมของต่างชาติ 211 โครงการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 เงินลงทุน 155,255 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 115 โดยชาติที่มีมูลค่าการลงทุนมากที่สุด ได้แก่ สาธารณรัฐเกาหลี 31,400 ล้านบาท สิงคโปร์ 29,742 ล้านบาท จีน 25,001 ล้านบาท และญี่ปุ่น 24,771 ล้านบาท
โดยจะเห็นว่ามูลค่าการลงทุนจากสาธารณรัฐเกาหลี และสิงคโปร์สูงมากเป็นพิเศษ เนื่องจากมีโครงการใหญ่ที่ยื่นขอรับสิทธิประโยชน์ตามมาตรการใหม่ในปีนี้ ขณะที่ตัวเลขการลงทุนจากจีนและญี่ปุ่น แม้จะอยู่ในอันดับ 3 และ 4 ตามลำดับ แต่ก็เพิ่มขึ้นเท่าตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน กล่าวคือเพิ่มขึ้นร้อยละ 87 สำหรับการลงทุนจากจีน และร้อยละ 147 สำหรับญี่ปุ่น สะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มการตัดสินใจของนักลงทุนต่างชาติที่ยังคงเลือกไทยเป็นฐานผลิตสำคัญ