เงินบาทเปิดตลาดที่ระดับ 34.63 บาทต่อดอลลาร์แข็งค่าขึ้น หลังดอลลาร์อ่อน-นักลงทุนขายทองคำทำกำไรช่วงราคาดีดปรับตัวขึ้น ตลาดจับตาประชุมเฟดสัปดาห์หน้า
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงิน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 34.63 บาทต่อดอลลาร์“แข็งค่าขึ้น”จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 34.81 บาทต่อดอลลาร์ หลังดอลลาร์อ่อนค่าลงและโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำในจังหวะรีบาวด์ แต่เงินบาทอาจจะยังไม่สามารถพลิกกลับมาเป็นเทรนด์แข็งค่าขึ้นอย่างชัดเจน จนกว่าตลาดจะรับรู้ผลการประชุมเฟดและคาดการณ์ดอกเบี้ยเฟด หรือ Dot Plot ใหม่ ในสัปดาห์หน้า ทำให้โดยรวมเงินบาทมีแนวโน้มผันผวนในกรอบ sideway 34.40-34.95 บาทต่อดอลลาร์ไปก่อน
โดยมีโซนแนวรับสำคัญแถว 34.40-34.50 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งผู้นำเข้าบางส่วนอาจรอทยอยซื้อเงินดอลลาร์ในโซนดังกล่าว ทั้งนี้ เราเริ่มเห็นสัญญาณว่า เงินบาทมีโอกาสกลับมาแข็งค่าขึ้นได้ไม่ยาก หากประเด็นแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดจบลง เนื่องจากนักลงทุนต่างชาติเริ่มกลับเข้ามาซื้อสุทธิสินทรัพย์ไทยมากขึ้น โดยเฉพาะในส่วนของหุ้นไทย (ล่าสุด นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นไทย สองวันติดต่อกัน ราว 3.4 พันล้านบาท)
เราคงคำแนะนำว่า ในช่วงที่ตลาดการเงินยังเผชิญความไม่แน่นอนของการเมืองไทย รวมถึงทิศทางนโยบายการเงินของบรรดาธนาคารกลางหลัก ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.50-34.75 บาท/ดอลลาร์
สำหรับบรรยากาศในตลาดหุ้นสหรัฐฯ พลิกกลับมาอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง หลังจากที่ผู้เล่นในตลาดมองว่า เฟดมีโอกาสราว 73% (จาก CME FedWatch Tool) ที่จะคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมิถุนายนนี้ เนื่องจากตลาดแรงงานสหรัฐฯ ส่งสัญญาณชะลอลงมากขึ้น สะท้อนผ่านยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานล่าสุดที่ออกมาแย่กว่าคาดไปมาก นอกจากนี้ มุมมองดังกล่าวของผู้เล่นในตลาดได้หนุนให้ หุ้นกลุ่มเทคฯ และหุ้นธีม AI รีบาวด์ขึ้นแรง นำโดย Nvidia +2.8%, Amazon +2.5% ทำให้ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวขึ้น +1.02% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.62%
ทางด้านตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ยังคงย่อตัวลง -0.02% กดดันโดยความกังวลว่า ธนาคารกลางยุโรป (ECB) อาจเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง เพื่อคุมปัญหาเงินเฟ้อสูง อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นยุโรปยังพอได้แรงหนุนจากการรีบาวด์ขึ้นของหุ้นกลุ่ม Defensive อาทิ กลุ่ม Healthcare (Novartis +1.0%, Novo Nordisk +0.6%) อยู่บ้าง ตามความต้องการถือหุ้นที่อาจได้รับผลกระทบน้อยจากการขึ้นดอกเบี้ยหรือแนวโน้มเศรษฐกิจชะลอตัว
ทางด้านตลาดบอนด์ การปรับมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายเฟด หลังยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานออกมาแย่กว่าคาด ได้ส่งผลให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ พลิกกลับมาย่อตัวลงต่อเนื่องสู่ระดับ 3.72% สอดคล้องกับ มุมมองของเราที่ประเมินว่า การปรับตัวขึ้นต่อของบอนด์ยีลด์อาจเป็นไปอย่างจำกัด โดยยังคงมีโซนแนวต้านแถว 3.80%-3.90% และผู้เล่นในตลาดต่างก็รอจังหวะในการทยอยเข้าซื้อ (buy on dip)
ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงชัดเจน เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ได้ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 103.3 จุด หลังผู้เล่นในตลาดกลับมามองว่าเฟดอาจคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุม FOMC สัปดาห์หน้า จากภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ชะลอตัวลงชัดเจนมากขึ้น
ส่วนในฝั่งราคาทองคำ แม้ว่าบรรยากาศในตลาดการเงินจะเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น แต่การปรับตัวลงชัดเจนของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้หนุนให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ส.ค.) รีบาวด์ขึ้นจากโซน 1,960 ดอลลาร์ต่อออนซ์ สู่ระดับ 1,980-1,990 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ทำให้ผู้เล่นบางส่วนอาจทยอยขายทำกำไรการรีบาวด์ของราคาทองคำ ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนในช่วยหนุนให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น
สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนผ่านรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI และดัชนีราคาผู้ผลิต PPI โดยหากทั้งอัตราเงินเฟ้อ CPI และ PPI ยังคงอยู่ในระดับต่ำ หรือ ชะลอลงต่อเนื่อง ก็อาจเป็นสัญญาณสะท้อนว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนนั้นไม่ได้ดีอย่างที่ตลาดคาดหวัง ทำให้ธนาคารกลางจีน (PBOC) และรัฐบาลจีน อาจจำเป็นต้องออกมาตรการช่วยเหลือเศรษฐกิจเพิ่มเติม เช่น การลด RRR พร้อมกับกระตุ้นการบริโภคในประเทศ หรือ กระตุ้นภาคอสังหาฯ