“ธปท.” แจงคุมเช่าซื้อ-ลิสซิ่งรถยนต์-รถจักรยานยนต์ ร่างก.ม.อยู่ระหว่างการพิจารณาของกฤษฏีกา ระบุหากกฏหมายมีผลบังคับใช้ จะเข้ากำกับดูแลคุ้มคองผู้บริโภค-เสถียรภาพด้านการเงินได้อย่างเหมาะสม
น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายองค์กรสัมพันธ์ และ โฆษกธนาคารแห่งประเทศไทยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ร่างกฎหมายกำกับดูแลธุรกิจการให้เช่าซื้อและการให้เช่าแบบลีสซิ่งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฏีกา ซึ่ง ธปท. อยู่ระหว่างเตรียมการรองรับการดำเนินการตามกฎหมายดังกล่าว เช่น การทยอยหารือกับผู้ประกอบธุรกิจและผู้บริโภค เพื่อให้มั่นใจว่า เมื่อกฎหมายมีผลบังคับใช้ ธปท. จะสามารถเข้ากำกับดูแลฯ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคและดูแลเสถียรภาพด้านการเงินได้อย่างเหมาะสม ทั้งนี้ เมื่อมีความคืบหน้าในรายละเอียด ธปท. จะแจ้งให้ทราบต่อไป
รายงานข่าวแจ้งว่า ก่อนหน้าหนี้ธปท.ได้เรียกประชุมกับ สมาคมธุรกิจเช่าซื้อไทย เพื่อเตรียมความพร้อมกำกับดูแลธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ โดยแบ่งเป็นบริษัทลูกของธนาคารพาณิชย์ ที่ไม่รวมถึงสัญญาเช่าซื้อที่ทำกับธนาคาร และผู้ให้บริการทางการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร (นอนแบงก์) และกลุ่มที่สอง คือ แคปทีฟ ไฟแนนซ์(Captive Finance)หรือ ลีสซิ่งของค่ายรถยนต์ และนอนแบงก์อื่น ๆ ซึ่งคาดว่าพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) กำกับธุรกิจเช่าซื้อรถและลีสซิ่ง จะมีผลบังคับใช้ 1 พ.ย.นี้
โดยปัจจุบันยอดธุรกิจเช่าซื้อและลีสซิ่งสูงถึง 12.4% ของหนี้ครัวเรือนไทยที่ 15 ล้านล้านบาท และยังมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นการกำกับธุรกิจเช่าซื้อ ก็เพื่อส่งเสริมและดูแลประชาชน ให้ได้รับบริการทางการเงินที่เป็นธรรมและได้รับข้อมูลที่โปร่งใสเพียงพอต่อการตัดสินใจ
รวมทั้งเพื่อรักษาเสถียรภาพระบบเศรษฐกิจการเงิน และการบริหารจัดการหนี้ครัวเรือนให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมต่อไปโดยการยกระดับการบริหารจัดการธุรกิจเซ่าซื้อและลีสซิ่งนั้นจะทำตั้งแต่ปรับวัฒนธรรมองค์กรและบทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการและผู้บริหารระดับสูง รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์และการจัดกลุ่มลูกค้า การควบคุมการกำกับและตรวจสอบ และการแก้ไขปัญหา การจัดการเรื่องร้องเรียน การดูแลข้อมูลลูกค้า การปรับกระบวนการขายฯลฯ ซึ่งจะทำให้ลูกค้าได้รับความเป็นธรรมมากขึ้น ทั้งเชื่อมั่นในระบบ ผ่านคำแนะนำ การใช้ข้อมูลที่ชัดเจนมากขึ้น การมีผลิตภัณฑ์และบริการที่เป็นธรรม และการให้บริการหลังการขาย