โฆษกรัฐบาลเผย นายกฯพอใจสัญญาณเงินเฟ้อไทยคลี่คลาย อัตราต่ำที่สุดในอาเซียน โดยเงินเฟ้อ พ.ค. 66 เพิ่มเพียง 0.53% ต่ำสุดในรอบ 21 เดือน
นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจและเงินเฟ้อในประเทศไทย พอใจสัญญาณเงินเฟ้อไทยคลี่คลายและต่ำที่สุดในอาเซียน โดยล่าสุดข้อมูลกระทรวงพาณิชย์รายงานระบุดัชนีราคาผู้บริโภคของไทย (เงินเฟ้อ) เดือนพฤษภาคม 2566 เท่ากับ 107.19 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเท่ากับ 106.62 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปสูงขึ้นเพียงร้อยละ 0.53 ชะลอตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 และต่ำสุดในรอบ 21 เดือน ซึ่งสาเหตสำคัญมาจากการลดลงของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง และค่ากระแสไฟฟ้า รวมทั้ง ราคาสินค้าในหมวดอาหารชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับฐานราคาที่ใช้คำนวณเงินเฟ้อเดือนพฤษภาคม 2565 อยู่ระดับสูง ทำให้อัตราเงินเฟ้อ ในเดือนนี้ชะลอตัวค่อนข้างมาก ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อของไทยอยู่ในระดับที่ดีที่สุดเมื่อเทียบกับต่างประเทศ (ข้อมูล เม.ย. 2566) โดยไทยอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อระดับต่ำ และต่ำที่สุดในอาเซียน จาก 7 ประเทศที่ประกาศตัวเลข ทั้ง สปป.ลาว ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และเวียดนาม
สำหรับอัตราเงินเฟ้อเดือนพฤษภาคม 2566 ที่สูงขึ้นร้อยละ 0.53 มีการเคลื่อนไหวของราคาสินค้าและบริการ ดังนี้ หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์สูงขึ้นร้อยละ 3.99 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ตามการสูงขึ้นของราคาสินค้าสำคัญ อาทิ ผักและผลไม้ (มะนาว ต้นหอม มะเขือ แตงโม เงาะ) ไข่ไก่ เนื่องจากสภาพอากาศที่แปรปรวนทำให้ปริมาณผลผลิตเข้าสู่ตลาดไม่มากนัก ประกอบกับความต้องการเพิ่มขึ้นจากการเปิดภาคเรียน เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ (กาแฟ/ชา (ร้อน/เย็น) น้ำอัดลม กาแฟผงสำเร็จรูป) และอาหารบริโภคในบ้าน (กับข้าวสำเร็จรูป ข้าวแกง/ข้าวกล่อง ก๋วยเตี๋ยว) ราคาสูงขึ้นตามต้นทุนการผลิต อย่างไรก็ตาม ยังมีสินค้าสำคัญที่ราคาลดลง อาทิ เนื้อสุกร ปลาช่อน น้ำมันพืช มะขามเปียก มะพร้าว (ผลแห้ง/ขูด) กล้วยน้ำว้า ทุเรียน และชมพู่
หมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ลดลงร้อยละ 1.83 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ตามการลดลงของราคาสินค้าสำคัญ อาทิ น้ำมันเชื้อเพลิงในกลุ่มดีเซล แก๊สโซฮอล์ และเบนซิน ค่ากระแสไฟฟ้า เครื่องรับโทรศัพท์มือถือ เครื่องรับโทรทัศน์ เครื่องปรับอากาศ เครื่องซักผ้า แป้งผัดหน้า หน้ากากอนามัย และค่าสมาชิกเคเบิลทีวี ส่วนสินค้าที่ราคาสูงขึ้น เช่น ก๊าซหุงต้ม ค่าโดยสารสาธารณะ (เครื่องบิน แท็กซี่ จักรยานยนต์รับจ้าง รถเมล์เล็ก/สองแถว เรือ) ค่าการศึกษา สิ่งที่เกี่ยวกับทำความสะอาด (สารกำจัดแมลง น้ำยาล้างห้องน้ำ) และค่าบริการส่วนบุคคล (ค่าแต่งผมชาย/สตรี ค่าทำเล็บ) ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐาน เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออกสูงขึ้นร้อยละ 1.55 และชะลอตัวต่อเนื่องจากเดือนเมษายน 2566 ที่สูงขึ้นร้อยละ 1.66
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์รายงานดัชนีราคาผู้บริโภคในเดือนนี้ เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ลดลงร้อยละ 0.71 ตามราคาสินค้า ในหมวดอื่น ๆ ที่ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ที่ลดลงร้อยละ 1.59 โดยเฉพาะราคาพลังงาน ทั้งน้ำมันเชื้อเพลิง ในกลุ่มดีเซล แก๊สโซฮอล์ เบนซิน ค่ากระแสไฟฟ้า และสิ่งที่เกี่ยวกับทำความสะอาด (ผงซักฟอก น้ำยาปรับผ้านุ่ม น้ำยาล้างห้องน้ำ) สำหรับสินค้าที่ราคาสูงขึ้น อาทิ โฟมล้างหน้า แป้งทาผิวกาย และสบู่ถูตัว ขณะที่ ราคาสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นเล็กน้อยร้อยละ 0.51 อาทิ ผักและผลไม้ (ผักชี ต้นหอม ผักคะน้า ส้มเขียวหวาน ทุเรียน มังคุด) ไข่ไก่ อาหารโทรสั่ง และเครื่องปรุงรส ส่วนสินค้าที่ราคาลดลง อาทิ เนื้อสุกร กระเทียม มะม่วง น้ำมันพืช และบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป
สำหรับเงินเฟ้อเฉลี่ย 5 เดือนแรก (ม.ค.-พ.ค.) ปี 2566 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สูงขึ้นร้อยละ 2.96 ทั้งนี้ แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อเดือนมิถุนายน ปี 2566 คาดว่าจะชะลอตัวต่อเนื่อง หรือมีโอกาสหดตัวได้ ตามการลดลงของสินค้าในกลุ่มพลังงงาน โดยเฉพาะราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีแนวโน้มลดลงและอยู่ระดับต่ำกว่าเดือนเดียวกันของปีก่อนค่อนข้างมาก และค่ากระแสไฟฟ้าที่ปรับลดลงจากมาตรการช่วยเหลือของรัฐบาล ฐานราคาที่ใช้คำนวณเงินเฟ้อในเดือนมิถุนายน 2565 ค่อนข้างสูง ประกอบกับมาตรการลดค่าครองชีพ และการกำกับดูแลราคาสินค้าและบริการของหน่วยงานภาครัฐ ทั้งกระทรวงพาณิชย์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม ความแปรปรวนของสภาพอากาศ อุปสงค์ในประเทศที่ปรับตัวดีขึ้น และต้นทุนการผลิตสินค้าและบริการยังอยู่ระดับสูง ทั้งราคาก๊าซหุงต้ม ค่าแรง และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย อาจจะทำให้เงินเฟ้อมีโอกาสผันผวนได้บ้าง ซึ่งกระทรวงพาณิชย์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป
“รัฐบาลโดยกระทรวงพาณิชย์คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ปี 2566 อยู่ที่ระหว่างร้อยละ 1.7 – 2.7 (ค่ากลาง 2.2) และหากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญจะมีการทบทวนอีกครั้ง ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวม เดือนพฤษภาคม 2566 ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 56.6 จากระดับ 53.5 ในเดือนก่อนหน้า โดยอยู่ในช่วงเชื่อมั่นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 6 นับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2565 และสูงสุดในรอบ 53 เดือน นับตั้งแต่เดือนมกราคม 2562 เป็นการปรับเพิ่มขึ้นทั้งดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบันและในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า) โดยมีปัจจัยสำคัญจาก (1) การฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว (2) ผลการเลือกตั้งที่ผ่านมา (3) มาตรการจากภาครัฐที่ช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพประชาชนในหลาย ๆ ด้าน ซึ่งหากเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง และสถานการณ์การเมืองมีความชัดเจน คาดว่าจะช่วยให้ความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง” โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าว