ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจีดีพีปีนี้ที่ 3.7% หวังท่องเที่ยวหนุน แต่ก็ต้องเผชิญโจทย์ท้าท้ายในหลายประเด็น ทั้งภัยแล้ง-หนี้ครัวเรือนพุ่ง ชี้การจัดตั้งรัฐบาลลากยาวจีดีพีอาจโตเพียง 2-2.5%
น.ส.ณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยฯ คงประมาณการจีดีพีปี 2566 ที่ 3.7% และตัวเลขการส่งออกไว้ที่ -1.2% แต่ปรับลดการบริโภคภาครัฐบาลและการลงทุน เนื่องจากยังอยู่ในช่วงที่รอการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ และปัญหาหนี้ครัวเรือนที่มีความซับซ้อนซึ่งเป็นโจทย์ที่รอการแก้ไข
โดยเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลัง จะเห็นภาพการขยายตัวที่ดีกว่าครึ่งปีแรกได้รับแรงหนุนจากฤดูกาลท่องเที่ยวที่จะเห็นตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งปี 2566 ที่ประมาณ 28.5 ล้านคน และทำให้คาดว่าจีดีพีในช่วงครึ่งปีหลังจะขยายตัวประมาณ 4.3% จากช่วงครึ่งปีแรกที่ประมาณ 3%
สำหรับปัจจัยทางการเมือง หากการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ล่าช้าออกไป จะส่งผลกระทบในเรื่องความเชื่อมั่นของเศรษฐกิจไทย อาจเป็นไปได้ที่จะเห็นจีดีพีปีนี้โตได้แค่ 2-2.5% ซึ่งเป็นกรณีเลวร้ายที่สุด
อย่างไรก็ตาม ไทยจะเผชิญหลายโจทย์สำคัญที่ท้าทายการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลัง โดยโจทย์แรก คือ การจัดตั้งรัฐบาล และการรับมือกับทิศทางเศรษฐกิจจีนที่เริ่มเห็นสัญญาณอ่อนแรง ซึ่งย่อมเปิดประเด็นความเสี่ยงให้กับเศรษฐกิจอาเซียนและไทยที่พึ่งพาเศรษฐกิจจีนค่อนข้างสูง
โจทย์ถัดมา คือ เรื่องภัยแล้ง ที่นอกจากจะส่งผลกระทบต่อภาคเกษตรที่อาจคิดเป็นมูลค่าราว 4.8 หมื่นล้านบาทในปีนี้แล้ว ปรากฏการณ์เอลนีโญรอบนี้ อาจกดดันภาคการผลิตและบริการที่ใช้น้ำในสัดส่วนสูง นอกจากนี้ การขาดแคลนน้ำ อาจทำให้ธุรกิจต้องลดกำลังการผลิตหรือจำกัดการให้บริการ ส่งผลตามมาให้มีการสูญเสียรายได้ และสำหรับบางอุตสาหกรรมอย่างเช่นอาหาร ยังมีต้นทุนวัตถุดิบเกษตรที่จะสูงขึ้นด้วย ขณะที่ประเด็นข้อกังวลเพิ่มเติมคือภัยแล้งอาจลากยาวไปถึงปี 2567 และมีโอกาสรุนแรงมากกว่าปี 2566
โจทย์สุดท้าย คือ หนี้ครัวเรือนสูง สัดส่วนจะอยู่ในกรอบประมาณ 88.5-91% ในช่วงปลายปีนี้ จากระดับ 90.6% ณ สิ้นไตรมาส 1 ของปี 2566 ซึ่ง สัดส่วนหนี้ดังกล่าว จะยังไม่ลดลงแตะ 80% ที่เป็นระดับที่ธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (Bank of International Sattlements: BIS) มองว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวต่อได้โดยไม่สะดุดภายในอีก 5 ปีข้างหน้านี้ ขณะที่ มาตรการจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะทำให้หนี้ใหม่โตช้าลง และหนี้เก่าลดลงเร็วขึ้นกว่าเดิม